6 มี.ค. 2023 เวลา 05:46 • ศิลปะ & ออกแบบ

เดินไป วาดไป: ก่อนวันนี้ มาฆปุณณมี

วันมาฆบูชา หรือที่คนโบราณเรียกว่า มาฆปุณณมี เป็นวันที่ต้องเรียนและรู้กันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆว่า
๑.เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงสวยงาม ที่เรียกว่า เสวยมาฆฤกษ์
๒.พระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน ๑,๒๕๐ รูป แบบมิได้นัดหมายโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน
๓.พระสงฆ์เหล่านี้ได้รับการบวชโดยพระพุทธเจ้า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
๔. พระสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็นพระอรหันต์แล้วทุกพระองค์
พูดง่ายๆคือ เกิดองค์ประกอบสำคัญขึ้น ๔ อย่าง (ตามที่เล่ามา) เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” อย่างไรก็ดี วันนี้ในอดีตสมัยพุทธกาลมีเพียงบันทึกระบุว่า พื้นที่ (space) บริวณที่มีการประชุมของพระสงฆ์ ทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนี้ เคยเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นสวนป่า (ป่าไผ่)
ภายหลังที่พระเจ้าพิมพิสารถวายสวนป่าแห่งนี้ให้เป็นอารามของพระพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่า “เวฬุวันมหาวิหาร” ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต ริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี ซึ่งยังปรากฏบ่อน้ำร้อนโบราณ (ตโปทาราม) นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์
เวลาผ่านไป เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาสู่ภาพจำที่เกี่ยวกับการมาประชุมร่วมกันของสงฆ์ ซึ่งรวมถึงญาติโยมผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาร่วมกันด้วย วันมาฆบูชา จึงเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่มีความสำคัญคือ พระสงฆ์ได้มาประชุมกันถึง ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่เกิดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มีต่อกลุ่มพระสาวกรุ่นแรก คือปัญจวัคคีย์ มาก่อนหน้านี้แล้วราวแปดเดือน (คือวันอาสาฬหบูชา)
และเมื่อเวลาผ่านไป อีกนานๆ “สวนป่า” ที่เป็น "เวฬุวัน" จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “อาราม” ที่มีลักษณะเดียวกับ "วัดป่า" ที่เรารู้จักกัน
วัดพระปฐมเจดีย์ ตัวอย่างของวัดวาอารามในปัจจุบันที่คงบรรยากาศของความสงบ หากแต่มีการเพิ่มองค์ประกอบต่างๆมากมาย โดยเฉพาะพระสถูปขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของประเภท "เจดีย์" ที่ให้สาธุชนรำลึกถึง "พระรัตนตรัย" ในปัจจุบัน
คติ แนวคิดของ "อาราม" ได้เคลื่อนผ่านกาลเวลาไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อพื้นที่การใช้งานและรูปแบบทางศิลปกรรมมากมาย ทำให้เราได้เห็นองค์ประกอบต่างๆ (เช่น สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ) ภายในวัดวาอารามมีความหลากหลายและอลังฯมากๆในปัจจุบัน
#มาฆบูชา #จาตุรงคสันนิบาต #เวฬุวัน #พระปฐมเจดีย์
โฆษณา