6 มี.ค. 2023 เวลา 06:34 • การศึกษา

วันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
- บทโอวาทปาติโมกข์ -
1. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
(การไม่ทำบาปทั้งปวง)
2. กุสะลัสสูปะสัมปะทา
(การทำกุศลให้ถึงพร้อม)
3. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
(การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ)
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
(นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)
1. ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
(ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง)
2. นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
(ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง)
3. นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
(ผู้กำจัดสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต)
4. สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
(ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ)
1-2. อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
(การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย)
3. ปาติโมกเข จะ สังวะโร
(การสำรวมในปาติโมกข์)
4. มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง
(ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค)
5. ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
(การนอน-การนั่ง ในที่อันสงัด)
6. อะธิจิตเต จะ อาโยโค
(หมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง)
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
(นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)
- พระพุทธพจน์ -
[ขยายความ..]
เมื่อว่าด้วยคำสอนในโอวาทปาติโมกข์ มักถูกกล่าวถึงหลักธรรม 3 อย่าง เพียงเรื่องเดียวว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง อาจสรุปใจความได้เป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้
[คาถาแรก]
กล่าวถึง "หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญ” เพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ หรือ หลักการ 3 เป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง (ศีลคือการรักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อย, หิริ-โอตัปปะ คือ การละบาปละอายต่อบาปทั้งปวงด้วยการเอาสติกำกับทุกอิริยาบถคิด พูด ทำ อย่าให้ผิดต่อศีลและธรรม) ธรรมบทนี้จะทำให้ใจสบายไม่เศร้าหมอง ใจเป็นปกติ
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม (การทำความฉลาดให้ถึงพร้อม) ธรรมบทนี้จะทำให้จิตสงบสบายผ่องใส
3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (เจริญสติด้วยการภาวนา, พอจิตเป็นสมาธิแล้วก็ถอยออกมาเดินมรรคด้วยปัญญา) ธรรมบทนี้จะทำให้จิตรู้จิต จิตฉลาดในการแก้ปัญหา และจิตจะผ่องใสจากการเห็นทุกข์และปล่อยวางจากสิ่งที่พิจารณาในธรรมต่างๆ เห็นตามความเป็นจริงและไม่ยึดมั่นถือมั่น
ทั้งหมดต้องปฏิบัติไปพร้อมกัน(รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน)
- ศีลที่แท้จริง จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีอภัยทาน
- อภัยทานที่แท้จริง จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีปัญญาที่แท้จริง
- ปัญญาที่แท้จริง จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีศีลที่แท้จริง
ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เกี่ยวข้องก็เกิดขึ้นไม่ได้ การที่บุคคลจะพ้นทุกข์ไปได้ ต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องกั้นความเศร้าหมองอย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องสกัดกั้นกิเลสอย่างกลาง ปัญญาคือเครื่องประหารกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นอยู่กับสติเป็นสำคัญถ้าขาดสติกำกับแล้วทุกอย่างก็ล้มเหลว
ดังนั้น บุคคลควรมีสติทุกเมื่อ พึงละเว้นจากความเศร้าหมองที่เกิดจากกิเลสที่จะเข้ามาแทรกใจ และพึงฝึกเจริญสมาธิให้ตั้งมั่นแล้วค่อยพิจารณาธรรมในแต่ละขั้นของภูมิจิตตัวเองแล้ว จะรู้เองเห็นเองโดยไม่ต้องสงสัยตาม ‘สวากขาตะธรรม’ คือ ตรัสไว้ชอบแล้ว
[คาถาที่สอง]
กล่าวถึง อุดมการณ์อันสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้ มีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น อันอาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่
1. ความอดทน-อดกลั้น เป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้ พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่าง ที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
2. มุ่งให้ถึงพระนิพพาน เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
3. พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ (ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา) ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการเบียดเบียนทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
4. พึงเป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหลาย(ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น)
[คาถาที่สาม]
กล่าวถึง วิธีการที่(พระธรรมทูต)ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากให้ใช้ วิธีการ 6 ข้อเหมือนกัน เพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถูกต้องและเป็นธรรม ได้แก่
1. การไม่กล่าวร้าย (ด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตี ดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
2. การไม่ทำร้าย (ด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับ ข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
3. ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
4. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค (เสพปัจจัย สี่อย่างรู้ประมาณ พอเพียง)
5. นั่ง-นอนในที่อันสงัด (สันโดษ-ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
6. ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจให้ยิ่งๆ ขึ้นด้วยสมถะและวิปัสสนา มิใช่ว่าเอาแต่สอนผู้อื่น แต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)
~~~~~~~~~~~~~~~
โฆษณา