6 มี.ค. 2023 เวลา 13:04 • ดนตรี เพลง

City Pop สมบัติก่อนตะวันลับขอบฟ้าจากแดนอาทิตย์อุทัยและการถูกค้นพบอีกครั้ง

ย้อนกลับไปในยุคปี 1970 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเนื่องจากในยุคนั้นยังมีกำลังทหารอเมริกันประจำการอยู่ในญี่ปุ่น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมหลากหลายด้านจากประเทศอเมริกา และด้วยเหตุนี้เองทำให้กระแสเพลงจากอเมริกาเริ่มหลั่งใหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นจนเกิดเป็นวัฒนธรรมยอดฮิตในทุกแขนงรวมถึงการเกิดมาของ "City Pop"
เพื่อทำความรู้จักกับสารตั้งต้นและถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของเพลงแนว City Pop เลยก็ว่าได้ ต้องขอย้อนกลับไปในยุคโชวะ "昭和" ซึ่งประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นมีเพลงอยู่มากมาย แต่ทว่าเพลงส่วนใหญ่นั้นใช้เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้สอดคล้องกับการที่พวกเขากำลังรับวัฒนธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาเพลงในยุคนั้นของประเทศญี่ปุ่นก็จะเป็นแนวเพลงป้อปที่ฮิตมากๆในยุคนั้น เรียกว่า 歌謡曲 (คะโยเคียวคึ) และเพลงเด่นๆที่เรารู้จักกันคือเพลง 昴 (ซูบารึ) - ชินจิ ทานิมูุระ
และได้มีกลุ่มวัยรุ่นที่รู้สึกว่าเพลงในหน้าแรกกับหน้าที่สอง ของอัลบั้มในยุคนั้นมันช่างต่างกันเหลือเกิน เนื่องจากเพลงหน้า A จะเป็นเพลงแนว 歌謡曲 (คะโยเคียวคึ) แต่เพลงหน้า B จะเป็นเพลงแนว psychedelic มากกว่า ซึ่งช่องว่างนั้นทำให้เด็กหนุ่น ทากาชิ มัตซึโมโตะ และสมาชิกคนอื่นอย่าง เออิจิ โอทาคิ, ฮารุโอมิ โฮโซโนะ และ ชิเกรึ ซึสึคิ ตัดสินใจที่จะทำเพลงโดยไม่ต้องสนว่าจะขายได้มั้ย แค่ทำในตามความตั้งใจของตัวเองก็พอจนออกมาเป็นวง "Happy End"
ภาพวง Happy End และสมาชิก เออิจิ โอทาคิ, ฮารุโอมิ โฮโซโนะ, ชิเกรึ ซึสึคิ และ ทากาชิ มัตซึโมโตะ (จากซ้ายไปขวา) โดย https://sabukaru.online/articles/nostalgia-for-an-era-that-you-didnt-exist-in-a-deep-dive-into-city-pop
ในปี 1969 พวกเขาได้ปล่อยอัลบั้มเดบิวเป็น Self-titled Album ออกมา "はっぴいえんど" ซึ่งมันแหวกกระแสวงร็อคในรุ่นเดียวกันเนื่องจากเพลงร็อคส่วนใหญ่ในยุคนั้นได้ร้องเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้พวกเขามีความโดดเด่นอย่างมาก บวกกับการที่พวกเขาสามารถแต่งเพลงเป็นภาษาที่พูดถึงชีวิตในเมืองและความถวิลหาช่วงเวลาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นด้วยความผาสุขอย่างลงตัว และในอัลบั้มที่ 2 風街ろまん (คาเซะมาจิ โรมัน) เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่พูดถึงภาพจำของช่วงที่เวลาที่ประเทศญี่ปุ่นจัดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่จัดขึ้นในปี 1964
ถึงแม้ว่าเนื้อหาในอัลบั้มอาจจะดูธรรมดา แต่ที่เป็นที่กล่าวขานกันคือวิธีการแต่งเพลงและการเรียบเรียงคำที่ทำเกิดจากความอัจฉริยะและถูกบรรเลงออกมาได้อย่างแยบยล และถ้าหากจะแปลความหมายของคำว่า 風街ろまん (คาเซะมาจิ โรมัน) มันมีความหมายอย่างตรงตัวว่า "ลม เมือง ความรักใคร่" ทำให้ โทโนะ คิโยคาซึ นักวิจารเพลงจากแมกกาซีน "Young Guitar" ให้สมยานามตามชื่อของอัลบั้มว่า "シテ ィ・ミュージック" (ซิตี้ มิวสิค) นั่นเอง
ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 70 และช่วงต้นทศวรรษ 80 เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นก็โตขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หลากหลายมุมของประเทศญี่ปุ่นในวันนั้นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้าน เศรษฐกิจ, แฟชั่น, ชีวิต และ เทคโนโลยี ทำให้ประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นมีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่ประเทศอเมริกา พร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยีหลายอย่างที่อำนวยความสะดวกสบายต่อชีวิตมากขึ้นเช่น การมาถึงของ Sony Walkman เครื่องเล่นคลับเทปแบบพกพา โดยการมาถึงของเครื่องเล่นนี้ มันได้ปฏิวัติพฤติกรรมการฟังเพลงไปเลย
เนื่องจากในสมัยนั้น หากต้องการที่จะฟังเพลงระหว่างเดินทาง จำเป็นที่จะต้องเปิดเครื่องเล่นวิทยุ และทำให้ผู้ใช้น้้นไม่สามารถเลือกเพลงเองได้ แต่เครื่องนี้สามารถทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถเปิดฟังเพลงได้ทุกที่ โดยที่ผู้ใช้เองก็สามารถเลือกเพลงได้ มันจึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแฟชั่นที่มีความเป็นชาติตะวันตกมากขึ้นเช่นเรื่องของสีเสื้อผ้าที่สดใสขึ้น หรือทรงผมที่มีการใช้สเปรย์หรือการม้วนผมเป็นแฟชั่นที่เกิดขึ้นมาในยุคนั้น
ภาพเครื่องเล่น Walkman โดย https://rediscoverthe80s.tumblr.com/post/183704322733/sony-walkman-ad-from-smash-hits-magazine-1984
ต่อมาในด้านของดนตรีในยุคนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากเพลงหลากหลายแนวทั้ง R&B, jazz, fusion, AOR, disco และ soul โดยจะใส่ทำนอง และดนตรีที่ให้ความรู้สึกสว่าง สดใส เปรียบได้กับความรู้สึกตอนขับรถเรียบไปกับชายหาดกลางฤดูร้อน นอกจากส่วนของดนตรีแล้ว เราจะเห็นได้จากภาพปกของหลายๆอัลบั้มที่จะมีท้องฟ้าสีครามตัดสลับกับภาพวิวของชายหาดและตึกสูงริมทะเล
ภาพ Southern Freeway - Hiroshi Nagai จาก https://www.pinterest.com/pin/92746073565101399/
ในการมาถึงของเครื่องเล่น CD ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1982 หลังจากที่ Sony Walkman ถูกเผยแพร่ออกมาสู่ท้องตลาดได้สักพัก ทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อการเปิดเพลงบนรถขณะขับขี่และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอีกครั้ง ทำให้นักแต่งเพลงในสมัยนั้นสนใจที่จะทำตลาดใหม่ในการทำให้เพลงนั้นเหมาะกับการเปิดฟังขณะขับรถออกไปเที่ยวทะเลในวันหยุด ทั้งเนื้อร้องและบทเพลงที่เปิดนั้นถูกคิดมาอย่างดีว่าต้องไม่ขัดบทสนทนาของผู้คนบนรถ เปรียบบทเพลงเสมือนพื้นหลังของการขับขี่ที่ให้ความรู้สึกเพลิดเพลิน
นอกจากนี้ ศิลปินหลายท่านที่เคยเฉิดฉายจากยุคก่อนอย่าง "シテ ィ・ミュージック" (ซิตี้ มิวสิค) ก็ได้หันลงมาทำเพลงแนวนี้ต่อเช่นกัน ทั้ง โอทาคิ เออิจิ และ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ อดีตสมาชิกวง Happy End เองก็ได้มาทำเพลงแนวนี้เช่นกัน รวม ยามาชิตะ ทัสซึโระ เจ้าพ่อแห่งวงการเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยทำเพลงในยุคของ ซิตี้ มิวซิค ภายใต้ชื่อวง "Sugar Babe"
ซึ่งต่อมาเขาได้เป็นผู้ขับเคลื่อนวงการ City Pop และได้ทำเพลงที่เรารู้จักกันทุกวันนี้อย่างเช่น "Plastic Love" ที่ถูกขับร้องโดย มาริยะ ทาเคอุจิ หรือเพลง "Ride on Time" ที่เขาเป็นผู้รังสรรค์ด้วยตัวเอง
ภาพปกเพลง Plastic Love - มาริยะ ทาเคอุจิ | ภาพปกเพลง Ride on Time - ยามาชิตะ ทัสซึโระ โดย https://en.wikipedia.org/wiki/Plastic_Love และ https://en.wikipedia.org/wiki/Ride_on_Time_(Tatsuro_Yamashita_song)
ถึงแม้ว่าเพลง City Pop จะเป็นที่ดึงดูดของผู้คนทั้งในยุคนั้นหรือยุคนี้ แต่ก็มีอีกส่วนนึงที่นักวิจารณ์เพลงมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่แนวเพลงหรือ "Music genre" ใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากองค์ประกอบดนตรีนั้นมันเหมือนเพลง Funk ที่ผสมกับ Disco และ R&B มากเกินไป จึงไม่สามารถจำแนกว่าเป็นเพลงแนวใหม่ได้
แต่ถึงอย่างไร ในส่วนของภาพปกที่จะมีเอกลักษณ์อย่างการวาดภาพการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่นผสมผสานกับสีนีออนที่เด่นชัด และเนื้อเพลงภาษาญี่ปุ่นที่พูดถึงชีวิตดีๆในเมืองก็เพียงพอสำหรับการจำแนกแนวเพลงแบบที่เรียกว่า "Japanese City Pop" กับเพลง "American Funk" หรือ "Yacht Rock" แล้ว
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ประเทศญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกที่ถูกเรียกว่า "The lost decade" ทำให้เกิดภาวะเงินฝืดอย่างหนัก และยังมีการมาถึงของแนวเพลงแบบ "Pop Idol" และเพลง "Rock" ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนั้น จึงเกิดเป็นทิศทางใหม่ของแนวเพลงในขณะนั้น ทำให้เพลง City Pop จางหายไปในที่สุด
ไม่รู้ว่าด้วยโชคชะตาหรือใครลิขิตไว้ ในปี 2017 ที่จู่ๆเพลง "Plastic Love" ของ มาริยะ ทาเคอุจิ ได้ขึ้นไปอยู่ใน Youtube recommend และภายหลังได้มีการขุดค้นมากขึ้นเกี่ยวกับเพลงแนวนี้จากผู้คนยุคใหม่ อย่างไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากโค้ดบรรทัดไหนหรือโปรแกรมใดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ยังมีทั้งเพลง “Mayonaka no Door / Stay With Me” ของ มิคิ มัสซึบาระ ที่ขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ของ Spotify’s viral charts อีกด้วย
ทั้งนี้ก็ยังมีเพลงอีกหลายแนวที่มีรากฐานมาจาก City Pop ที่เกิดขึ้นระหว่างทางก่อนการกลับมาถูกค้นพบอีกครั้งในปี 2017 ยกตัวอย่างเช่น Shibuya-Kei หรือ Future Funk นอกจากนี้ในหลากหลายประเทศก็ยังมีศิลปินอีกหลากหลายท่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนว City Pop ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศไทยก็มีศิลปินหลากหลายท่านที่ทำเพลงแนวนี้ออกมา อย่างเพลงของคุณเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่เคยทำเพลงแบบ City Pop ออกมาในบทเพลง "สองเราเท่ากัน"
และนี่คือ City Pop บทเพลงนิยามชีวิตแบบผู้ดีตะวันออกและดนตรีที่เปรียบเสมือนสมบัติก่อนที่ตะวันลับขอบฟ้าเข้าสู่ช่วงวิกฤตการณ์ในแดนอาทิตย์อุทัยและการถูกค้นพบอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม 👉 https://thetransmitter.co/content/city-pop
#citypop #80s #เพลง #TheTransmitter
โฆษณา