7 มี.ค. 2023 เวลา 11:00

EP.1 10 Futures from Now to 2030

เวชศาสตร์ป้องกันเพื่อสุขภาวะที่ดีในระยะยาว
ภายในปี ค.ศ. 2030 เวชศาสตร์ป้องกันจะกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสำคัญอย่างมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ตลาดการบริการตรวจติดตามและการดูแลสุขภาพทางไกล (telemedicine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จะเติบโตจาก 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2023 เป็น 4.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตแบบทบต้นปีละ 10.6% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2023 - 2030
ในขณะที่ตลาดเทคโนโลยีอุปกรณ์แบบพกพา (wearable technology) จะเติบโตจาก 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2022 เป็น 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตแบบทบต้นปีละ 14.6% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2023 - 2030 นอกจากนี้ ตลาดเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI, Machine Learning, Nanotechnology จะเข้ามายกระดับองค์ความรู้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและในระดับสังคม
การตัดต่อพันธุกรรมระดับจีโนม (Genome gene editing) และการรักษารดับยีน (Gene therapy) จะเข้ามามีบทบทมากขึ้นในการรักษาโรคร้ายแรงและช่วยคัดเลือกยีนของพ่อแม่ก่อนมีบุตร
มีการคาดการณ์ว่าตลาดการรักษาโรคทางพันธุกรรมหรือโรคที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมด้วยระบบภูมิคุ้มกันของแบคทีเรียหรือคริสเปอร์ (Clustered Regulary Interspaced Short Palindromic Repeat: CRISPR/Cas System) จะเติบโตจาก 1.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021 เป็น 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2028 ที่อัตราการเติบโตแบบทบต้นปีละ 29.5% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2022 - 2028
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การเก็บข้อมูลสุขภาพเฉพาะบุคคลด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ประมวลผลด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทในการ​ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากยิ่งขึ้น
- อาจเกิดความไม่เท่าเทียมในการรับบริการสุขภาพมากขึ้นเมื่อผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำเข้าถึงระดับการรักษาได้ต่างกัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การออกแบบเมืองเพื่อวิถีชีวิตและสุขภาพที่ดี
การออกแบบเมืองเพื่อวิถีชีวิตและสุขภาพที่ดีจะได้รับการให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต จากการสำรวจผู้บริโภค 15,000 คน พบว่าประเด็นเรื่องสุขภาวะทางจิตและสุขภาวะทางกายคือความกังวลอันดับ 1 ที่ถูกเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญ การออกแบบเมืองในอนาคตจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เมืองเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายของโรคและภัยคุกคาม เช่น อุบัติเหตุ มลพิษ เป็นต้น
นอกจากนี้การออกแบบตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคารยังควรต้องพิจารณาจากผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้งานพื้นที่เป็นสำคัญ มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกิจกรรมทางกาย (physical activity) ซึ่งมีมูลค่าในปี ค.ศ. 2019 อยู่ที่ 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเติบโตขึ้นจนถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2025 ที่อัตราการเติบโตแบบทบต้นปีละ 10% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2019 - 2025
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ผู้คนในสังคมมีความจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยก่อนความเป็นส่วนตัว ทำให้เกิดความจำเป็นในการยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ประวัติการเดินทาง ข้อมูลสุขภาพ ที่อยู่ปัจจุบัน เป็นต้น เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลชีวิต
- การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลชีวมิติ (biometric data) มาใช้คัดกรองสุขภาพในระดับเมืองจะมีบทบาทสำคัญในการแบ่งกั้นโซนเพื่ออพยพหรือการกักตัวกรณีเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ขึ้น
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สุขภาวะสำหรับผู้คนในสังคมที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขทั่วโลก การตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ความไม่เท่าเทียมที่รุนแรง การแข่งขันทางสังคม การคุกคามของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและภาวะหมดไฟ (burnout) มีรายงานว่า 77% ของพนักงานทั่วโลกเคยประสบกับความเหนื่อยหน่ายในงานที่ทำอยู่ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของงานและความสัมพันธ์ส่วนตัว
มีการรายงานว่าการเสียชีวิตทั่วโลกในแต่ละปีมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 14.3% หรือประมาณ 8 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้ตลาดสุขภาพจิตทั่วโลกสร้างรายได้ 3.8 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2020 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 5.4 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตแบบทบต้นปีละ 3.5% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2021 - 2030
นอกจากนี้ยังพบเหตุการณ์ความรุนแรงและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ชนชั้นทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และความหลากหลายของประชากร โดยเฉพาะในด้านศาสนา การเมือง วัฒนธรรม เป็นต้น
ในแต่ละปีมีนักเรียนอย่างน้อย 20% รายงานว่าตนเองประสบปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง (บูลลี่) ในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในทุก 40 วินาทีจะมีอย่างน้อย 1 คนฆ่าตัวตายสำเร็จ ทำให้ในแต่ละปีมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงถึง 800,000 คน การดูแลสุขภาวะของคนในสังคมที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจะได้รับการให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของหน่วยงานตนเองในการเข้ามามีบทบาทเพื่อเน้นย้ำและผลักดันชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นเรื่องสุขภาพจิตและการมีสุขภาวะที่ดีเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
- หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้รับการสนับสนุนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและร่วมหาแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมมากขึ้น
- จริยธรรมสื่อและการใช้สื่อเพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตจะเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการผลักดันจากทั้งฝั่งนโยบายและภาคประชาสังคม
- การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาวะที่ดีของพนักงานในองค์กรในรูปแบบเฉพาะบุคคล เช่น รูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น สวัสดิการวันลาพักผ่อน สวัสดิการดูแลสุขภาพจิต เช่น ห้องสันทนาการ บริการปรึกษากับนักจิตวิทยา เป็นต้น จะถูกผลักดันมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก : www.futuretaleslab.com หรือ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #WhatMatterIn2030 #FuturesFromHere #MQDC
โฆษณา