8 มี.ค. 2023 เวลา 12:00

ไม่ได้ขี้เกียจ แต่งานมันไม่น่าทำ! เข้าใจและรับมือกับอาการผัดวันประกันพรุ่ง

ติ๊ง! เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ดังขึ้น เมื่อปลดล็อกหน้าจอและเข้าไปดูก็พบว่า เรากำลังเห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็นที่สุด.. ซึ่งก็คือแจ้งเตือนที่บอกว่าเหลือเพียงอีก 3 วันก่อนจะถึงเดดไลน์ในการส่งงานที่ได้รับมอบหมาย
1
‘ตอนนี้ 16:40 อีก 20 นาทีค่อยเริ่มทำละกัน’ เราคิดในใจก่อนจะไถหน้าจอ เลื่อนดูโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถึงเวลา 17:00 ที่เราตั้งใจว่าจะเริ่มทำงาน แต่แล้วความหิวก็ทำให้เราไขว้เขว ‘บางทีกินข้าวก่อนอาจดีกว่า จะได้นั่งทำงานยาวๆ’ เราบอกตัวเองแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อทานมื้อเย็นเสร็จ เราก็พบว่ามีเรื่องจุกจิกให้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูซีรีส์ ล้างจาน และอาบน้ำ (ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างกิจกรรมเหล่านี้มีการพักเล่นโทรศัพท์ไปด้วย) รู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปจนเกือบจะเที่ยงคืน เราจบวันด้วยการทิ้งตัวลงนอนและบอกตัวเองด้วยคำพูดเดิมๆ ว่า
“พรุ่งนี้คอยทำ”
เชื่อว่าเราเกือบทุกคนเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้ และไม่ต้องเล่าต่อ เราก็รู้ดีว่าตอนจบของเรื่องมักจะลงเอยด้วยการทำงานจนดึกดื่นในคืนสุดท้ายก่อนเดดไลน์ แม้ว่าเราจะบอกตัวเองซ้ำๆ ว่าครั้งหน้าไม่เอาแบบนี้อีกแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จบด้วยการทำงานในวันท้ายๆ อยู่ดี
จริงๆ แล้วนิสัยการผัดวันประกันพรุ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์และเรียกได้ว่าอยู่กับเรามาช้านาน ในสมัยกรีกโบราณ โสเครตีสและอริสโตเติลได้นิยามพฤติกรรมของมนุษย์นี้ว่า อะเครเชีย (Akrasia) ซึ่งก็หมายถึงพฤติกรรมการเลือกทำสิ่งอื่นแทนที่จะทำสิ่งที่ต้องทำ หรือ การผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง  แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ก็เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อเราอยู่ดี
แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า แม้จะรู้ว่าไม่ดี แต่ทำไมเราถึงผัดวันไปเรื่อยๆ?
งานวิจัยด้านจิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์ได้ให้คำตอบด้วยปรากฏการณ์ “Time Inconsistency” ที่อธิบายไว้ว่า สมองมนุษย์ให้ค่ากับรางวัลที่ได้ในทันที มากกว่ารางวัลตอบแทนในอนาคตที่มีคุณค่ามากกว่า
เช่น การที่เราเลือกออกไปเที่ยวกับเพื่อนแทนการอ่านหนังสือสอบ แม้เราจะรู้ว่าหากเรามีเวลาอ่านหนังสือ เราจะได้คะแนนดี ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกดีและดีต่อนาคตของเรามากกว่า แต่การออกไปเที่ยวซึ่งจะมอบความสนุกให้ทันที มันน่าสนใจกว่าการอ่านหนังสือเป็นเท่าตัว
หลายคนจึงบอกว่าพรุ่งนี้ค่อยทำและเลือกผัดวันประกันพรุ่งอย่างช่วยไม่ได้

แต่พรุ่งนี้ค่อยทำนั้นจริงหรือเปล่า? และเลื่อนแค่ครั้งเดียวคงไม่เป็นไรจริงๆ หรือ?
จริงๆ แล้วความน่ากลัวของการผัดวันประกันพรุ่งที่หลายคนไม่รู้คือ “ยิ่งเลื่อน เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ทำ”
เดิมทีงานที่ต้องทำนั้นดูยาก ใช้เวลาเยอะ และดูไม่น่าสนุกเอาเสียเลย (และถ้าหากเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ เช่นการไปเที่ยวหรือเล่นโทรศัพท์ ยิ่งไม่น่าทำเข้าไปใหญ่) สมองเราจึงมองเดดไลน์ไม่ต่างจากภัยคุกคาม มีการเตือนให้สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ปล่อยฮอร์โมนออกมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมองส่วนกลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ
ท่ามกลางวินาทีที่เราต้องตัดสินใจว่าจะสู้หรือจะหนีในการตอบสนองแบบ Flight or Fight มนุษย์มักจะเลือกทางที่ง่ายกว่าอย่างการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง
จริงอยู่ที่พอเลื่อนก็รู้สึกดีขึ้นมาหน่อยเพราะจะได้ทำกิจกรรมอื่นแทน แต่ในระยะยาวนั้นยิ่งแย่ งานวิจัยพบว่ายิ่งเลื่อนไปเรื่อยๆ เรายิ่งมองว่างานนั้นยากกว่าเดิมและไม่เริ่มลงมาทำสักที
มองว่างานยากก็เลยเลื่อน แต่พอเลื่อนก็ดูยิ่งยาก ไม่น่าทำ แถมยังรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่เริ่มงานสักที อารมณ์ลบเหล่านี้เองคอยผลักดันให้เกิดการผัดวันประกันพรุ่ง สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่า กลุ่มคนที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และคนที่ไม่มีความมั่นใจมักจะเป็นคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง และกลุ่มคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งมักจะประสบกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า
ผลเสียมากมายขนาดนี้ พอจะมีหนทางไหมให้เราเลิกพฤติกรรมเช่นนี้?
คำแนะนำอย่าง “มีระเบียบวินัย” หรือ “บริหารเวลาให้เป็น” เป็นสิ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ ตั้งแต่เล็กจนโต
แต่หลายคนพบว่ามันไม่ได้ช่วยนัก (ถ้าช่วยก็คงทำงานเสร็จไปตั้งนานแล้วจริงไหม) ถ้าใครยังประสบปัญหาอยู่ ลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู
1) อย่าใจร้ายกับตัวเองนัก
อย่างที่บอกไปว่า “ความรู้สึกผิด” และ “ความกลัวความล้มเหลว” เป็นปัจจัยที่ทำให้เราผัดวันไปเรื่อยๆ การลดความรู้สึกเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกอยากเริ่มทำงานมากขึ้น เราอาจทำได้จากการเลิกตำหนิตัวเองที่ไม่เริ่มงานสักที และให้กำลังใจตัวเองว่าเราทำได้ ไม่มีงานใดที่ยากเกินความสามารถของเรา
2) เขียนระบายความกังวลและความกลัว
การไม่ตำหนิตัวเองเฉยๆ อาจไม่พอสำหรับบางคน เราอาจต้องเขียนระบายความรู้สึกลบเหล่านี้ออกมา เช่น เรากลัวอะไรอยู่? กลัวงานออกมาไม่ดีหรือเปล่า? กังวลว่าจะทำไม่ทันไหม? หรือรู้สึกแย่ที่ไม่เริ่มทำสักที? ปลดปล่อยความคิดและความรู้สึกเหล่านี้ลงบนหน้ากระดาษให้หมด แม้จะดูเป็นวิธีธรรมดาๆ แต่งานวิจัยพบว่าการเขียนระบายสามารถช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้จริง
3) แบ่งงานเป็นชิ้นเล็กๆ
แบ่งงานใหญ่ๆ ให้เป็นงานย่อยๆ ที่ทำได้ง่ายและเริ่มทำได้ทันที เมื่อทำงานแรกสำเร็จแล้ว “ความรู้สึกสำเร็จ” (Sense of Accomplisment) จะผลักดันให้เราทำต่อไปเอง
1
4) ให้รางวัล (เล็กๆ) แก่ตัวเองทันที
ส่วนใหญ่ที่คนเราไม่ลงมือทำสักที เป็นเพราะการทำงานนั้นใช้เวลา และรางวัล (ซึ่งก็คือความรู้สึกยินดีเมื่องานสำเร็จ) นั้นอยู่ห่างไกลจนกระตุ้นให้เราเริ่มงานไม่ได้

หากความรู้สึกดีเมื่อทำงานเล็กๆ เสร็จไม่เพียงพอในการจูงใจตัวเอง ลองแบ่งงานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วพ่วงด้วยการให้รางวัลตัวเองดู เช่น หากทำงานครบ 50 นาที เราจะได้พักเล่นเกม 10 นาที
5) ลดสิ่งรบกวนรอบตัว
หากเราทำงานไปด้วยและทำอย่างอื่นไปด้วย (เช่น ตอบอีเมลหรือเล่นโทรศัพท์) เราจะรู้สึกว่างานนี้ใช้เวลานานและสูบพลัง ดังนั้นควรจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบและปิดแจ้งเตือนก่อนเริ่มทำงาน เพื่อให้เรามีสมาธิ ทำงานได้อย่างเต็มที่และเสร็จเร็วขึ้นกว่าการทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน


หากทำตามวิธีเหล่านี้ได้ เราจะพบว่างานที่เรามองว่ายากและดูเหมือนจะใช้เวลานาน จริงๆ แล้วใช้เวลาไม่นานและไม่ได้ยากเกินความสามารถของเราเลย
1
อ้างอิง

Why you procrastinate even when it feels bad : http://bit.ly/3YoHJOQ
Procrastination: A Brief Guide on How to Stop Procrastinating : http://bit.ly/3xkq0Mw
#softskill
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา