10 มี.ค. 2023 เวลา 03:05 • ไลฟ์สไตล์

เข้าใจการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพด้วย MBTI หรือ 16 บุคลิกภาพ

  • ความแตกต่างของความถนัด 4 รูปแบบตามทฤษฏีบุคลิกภาพของ Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) หรือ 16 บุคลิกภาพ ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจในความแตกต่างของตัวบุคคลและการจะทำงานเป็นทีมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
  • มีการเข้าใจร่วมกันที่มาจากการรับรู้เรื่องความถนัดใน 4 รูปแบบ ที่แตกต่างกันออกไป (Extraversion/Introversion, Sensing/Intuition, Thinking/Feeling และ Judging/Perceiving)
เท่าที่พวกเราทราบกันดีว่า เราต่างคนก็ต่างความคิดและการตัดสินใจ และโดยเฉพาะการทำงานกับคนหมู่มากหรือการทำงานเป็นทีมที่สร้างความท้าทายให้หัวหน้าในการดูแลทีม เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรารู้ว่าการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญ แต่การที่จะทำให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้ยาก เพราะในบางทีเราอาจจะไม่เข้าใจคนในทีม ทำให้สื่อสารกันไม่ตรงจุด
Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) หรือ 16 บุคลิกภาพ เป็นเครื่องมือในระดับสากลที่มีการใช้งานไปมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อปี และแปลไปมากกว่า 20 ภาษาทั่วโลก มันสามารถทำให้พนักงานสำรวจบุคลิกภาพที่อิงตามทฤษฎีการจำแนกประเภทของ Carl Jung
ที่ได้รับการพัฒนาโดย Katherine Briggs และเสนอว่ามี MBTI เป็นจิตวิทยาที่สำคัญ 4 ประการที่เรามองเห็นโลกใบนี้ และเข้าใจวิธีการมองโลก จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง จนนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมสร้างความมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรกับ MBTI
เครื่องมือทางจิตวิทยานี้ที่จะช่วยทำให้สมาชิกในทีมสามารถเข้าใจมุมมองความถนัดของคนในทีมและความแตกต่างได้ สร้างการพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปพร้อมกันกับความเข้าใจในความแตกต่างของตัวบุคคล ซึ่งคนในทีมแต่ละคนก็จะมีการแสดงออก ความเชื่อ หรือวิธีการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกันจนบางครั้งสร้างความไม่ไว้วางใจกับคนในทีม ความขัดแย้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดการลดทอนประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่ง MBTI ช่วยทำให้
  • กระบวนการในการเรียนรู้ของสมาชิกในทีมมีความปลอดภัยในที่ทำงานกับคนในทีม
  • รับรู้และเห็นถึงความต่างระหว่างคนในทีม
  • สไตล์การทำงานที่ต่างกันตามบุคลิกภาพรับรู้และเห็นถึงความต่างระหว่างคนในทีม
  • มีการพัฒนาทักษะระหว่างบุคคลกับสมาชิกในทีม (Interpersonal skills)
4 รูปแบบ ความถนัดที่ตัวบุคคลมีใน MBTI
ความถนัดของแต่ละบุคคลมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเรื่องมุมมองในการมองโลก แรงจูงใจ การแสดงออก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนในทีมในระดับของความเข้าใจที่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เรามาดูกันว่ามันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
  • 1.
    Extraversion (E) – Introversion (I)
  • 2.
    Sensing (S) – Intuition (N)
  • 3.
    Thinking (T) – Feeling (F)
  • 4.
    Judging (J) – Perceiving (P)
เรามาดูความแตกต่างระหว่าง 4 รูปแบบนี้กัน
Extraversion และ Introversion
เราคงน่าจะเคยสังเกตอยู่ในระหว่างประชุมว่าจะมีคนอยู่ 2 กลุ่ม บุคคลที่เสนอความคิดเห็นอยู่ตลอด สื่อสารแบบตรงไปตรงมา กล้าถามตอบ (Extraversion) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะมีบุคลิกที่ค่อนข้างเงียบๆ ไม่เสนอความคิดเห็นในที่ประชุมมากเท่าไหร่ หัวหน้าบางท่านอาจจะมองว่าบุคคลกลุ่มนี้ไม่ค่อยจะใส่ใจในงาน ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป (Introversion) ด้วยเพราะความแตกต่างและความถนัดที่ไม่เหมือนกัน
การทำงานร่วมกับ Extroversion อย่างไร?
Extraversion จะเป็นบุคลิกที่จะรู้สึกดีและมีพลังที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อได้ทำกิจกรรมกับผู้อื่นแล้วจะรู้สึกดีและสนุกสนาน พอเวลาจะประชุมอะไรก็จะเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นออกมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนที่เป็น Extraversion ชอบงานสังสรรค์ กิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับคนอื่น งานอะไรก็ตามที่สามารถทำให้ได้พบเจอผู้คน
  • วิธีการทำงานร่วมกับ Extroversion ;
1. สื่อสารความคิดของตัวเองออกไปให้คนในที่ประชุมรู้มากกว่าเดิม
2. ท้าทาย สร้างความตื่นเต้นและเติมเต็มไปด้วยผู้คน
3. ทำกิจกรรมที่สร้างสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน
4. กระตุ้นและตอบสนองความคิดและการตัดสินใจให้รวดเร็วมากกว่าเดิม
5. ให้โอกาส E บุคลิก ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
การทำงานร่วมกับ Introversion อย่างไร?
Introversion มักจะชอบช่วงเวลาที่ได้มีการครุ่นคิดและไตร่ตรองเรื่องต่างๆ จนมั่นใจได้ว่าสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้เพียงพอ แล้วถึงจะบอกเล่าให้คนอื่นฟัง สามารถมีพลังได้เมื่ออยู่กับความคิดและไอเดียของตนเอง จึงทำให้ดูเหมือนเป็นคนที่เงียบในที่ประชุม
Introversion ไม่ชอบการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเท่าไหร่เมื่อมีเวลาว่าง เพราะรู้สึกว่าพลังจะหมดเอาง่ายๆ การพักผ่อนก็คือการที่เขาอาจได้ใช้เวลาอยู่คนเดียว ได้ใช้เวลาตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งองค์กรมักจะมองเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับผู้อื่น แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เขาแค่ไม่ต้องการใช้พลังงานกับการพบปะสังคมมากขึ้นเท่านั้นเอง
  • วิธีการทำงานร่วมกับ Introversion ;
1.ระวังคำพูดหรือความเห็นที่มากเกินไปในที่ประชุมแล้วไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความเห็นเลย
2. เปิดโอกาสให้มีช่วงเงียบ เพื่อให้เกิดช่วงเวลาของความคิดที่จะตกผลึกตอนประชุม
3. เคารพเวลาส่วนตัวของเขา ให้เขาได้สามารถพักผ่อนในรูปแบบของตัวเอง
4. ใช้การเขียนในการสื่อสารเพื่อแจ้งให้คนอื่นล้วงหน้า
5. ให้พวกเขาได้จดจ่อและมีสมาธิกับงาน
ความแตกต่างในการทำงานของความถนัดแบบ Sensing และ Intuition
มนุษย์มีวิธีการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความถนัดในส่วนนี้ บางคนให้ความสำคัญกับรายละเอียด สิ่งที่เป็นไปได้ และปัจจุบัน ในขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับภาพรวม ความเป็นไปได้ ทฤษฎี ความแตกต่างของความถนัดแบบ Sensing และ Intuition จะทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับข้อมูลที่แตกต่างกันและเชื่อสิ่งที่แตกต่างกันออกไปด้วย
การทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Sensing
คนที่มีความถนัดแบบ Sensing ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง ข้อมูล สิ่งที่เป็นจริงมากกว่าทฤษฎี ทำให้ในการทำงานร่วมกันพวกเขาต้องการหลักฐานสนับสนุน ข้อมูลในการตัดสินใจ ประสบการณ์มากกว่าคนที่มีความถนัดแบบ Intuition
สิ่งที่คนที่มีความถนัดแบบ Sensing มีบทบาทสำคัญในทีมคือการอยู่กับความเป็นจริง และเป็นคนที่ลงมือปฏิบัติงานได้เก่ง พวกเขามีความสามารถในการจดจ่อกับรายละเอียด มีการจัดการงานที่ดี
  • วิธีการทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Sensing ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. ให้แนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
2. ให้รายละเอียด ข้อเท็จจริง ในการตัดสินใจและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
3. ให้เวลาเขาได้เรียนรู้งานจากการลงมือปฏิบัติจริง
4. อธิบายด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์จริง
5. ใช้รูปภาพที่สมจริงประกอบการบรรยาย
การทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Intuition
คนที่มีความถนัดแบบ Intuition จะมองสิ่งต่างๆ ในภาพรวม ในระยะยาว มองหาความเป็นไปได้ และโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งทำให้คนที่มีความถนัดแบบ Intuition เป็นคนที่มักจะมองไปยังอนาคต วางแผนระยาว และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวมได้ดี
ในการระดมความคิด คนที่มีความถนัดแบบ Intuition จะเป็นคนที่สามารถคิดไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำกัด พวกเขาไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ และนำวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ เข้ามาสู่องค์กรหรือทีมของคุณได้อยู่เสมอ
วิธีการทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Intuition ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน
2. ให้พื้นที่ในการมีความสร้างสรรค์
3. อธิบายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะให้เขาลงมือปฏิบัติงานจริง
4. ไม่อธิบายด้วยรายละเอียดที่มากเกินไป
5. อธิบายสิ่งต่างๆ ในเชิงของภาพรวม ความเป็นไปได้ และผลลัพธ์ที่ต้องการในอนาคต
ความแตกต่างในการทำงานของความถนัดแบบ Thinking และ Feeling
ในที่ทำงานร่วมกัน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการตัดสินใจ ซึ่งจะพบว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่ีงที่มักจะตัดสินใจไปตามตรรกะ มุมมองที่เป็นกลาง วิเคราะห์สาเหตุและผลลัพลธ์ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจให้ตัดสินใจจากการผลกระทบและผู้คนเป็นศูนย์กลาง คุณค่าที่มีร่วมกัน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เกิดจากความแตกต่างของวิธีการตัดสินใจ วิธีการนำไปสู่ข้อสรุป
การทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Thinking
คนที่มีความถนัดแบบ Thinking จะตัดสินใจด้วยตรรกะ โดยการมองไปที่สาเหตุและผลลัพธ์จากการตัดสินใจและความมีประสิทธิภาพเป็นหลัก คนที่มีความถนัดแบบ Thinking ให้ความสำคัญกับงานมากกว่าผลกระทบที่มีต่อผู้คน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาดูเย็นชาในสายตาของคนอื่นบ้าง ในการทำงานร่วมกันเขาอาจดูเป็นคนที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แสดงความรู้สึกไม่เก่ง
คนที่มีความถนัดแบบ Thinking มักจะมีความสงสัยในระบบตรรกะ เหตุผลของการทำงานว่าสิ่งเหล่านั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ พวกเขามักจะเห็นได้ทันทีว่าระบบการทำงานหรือกฏกติกาขององค์กรมีข้อผิดพลาดอย่างไร และสามารถหาทางปรับปรุงระบบเหล่านั้นให้ดีขึ้นได้
  • วิธีการทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Thinking ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแสดงความคิดเห็น
2. มีความชัดเจนเกี่ยวกับการประเมินผล การวิธีการ และผลลัพธ์
3. วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมา
4. ใช้เกณฑ์ที่เป็นกลางเมื่อต้องตัดสินใจ
5. รักษาประสิทธิภาพในการทำงานให้มีมาตรฐานสูงอยู่เสมอ
การทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Feeling
คนที่มีความถนัดแบบ Feeling มักจะให้ความสำคัญกับผู้คน คุณค่าส่วนตัว หรือคุณค่าที่มีร่วมกันในสังคม เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเขามักจะใช้วิธีการเจรจาและประณีประนอมกัน มากกว่าหาสิ่งที่ถูกหรือผิด โดยมาก คนที่มีความถนัดแบบ มักจะมีทักษะระหว่างบุคคลที่ดี
ในที่ทำงานคนที่มีความถนัดแบบ Feeling มักจะชอบอาสาช่วยงานเพื่อนร่วมงาน เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับผู้คนค่อนข้างมาก เมื่อต้องทำงานที่ได้รับมอบหมาย นอกเหนือจากการทำงานให้เสร็จอย่างมีคุณภาพแล้ว เขาก็มักจะใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานด้วย
  • วิธีการทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Feeling ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. รับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของเขา ขณะที่พูดคุยหรือทำงานร่วมกัน
2. ใช้กระบวนการโค้ช แทนการวิจารณ์ถึงข้อผิดพลาดตรงๆ
3. ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในการทำงานกับพวกเขา
4. ให้เวลาพวกเขาได้ทำความเข้าใจความรู้สึกและคุณค่าที่พวกเขาให้ความสำคัญ
5. รักษาบรรยากาศการทำงานให้เป็นมิตร คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ความแตกต่างในการทำงานของความถนัดแบบ Judging และ Perceiving
ในการทำงานร่วมกันจะมีเพื่อนร่วมงานบางคนที่ชอบวางแผน ต้องการทำให้ทุกสิ่งเป็นระบบ และทำงานตามตารางเวลา ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งชอบทำงานอย่างยืดหยุ่น รู้สึกมีพลังเมื่อใกล้ถึงเวลาส่งงาน คนสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกิดความขัดแย้งกันในที่ทำงานเป็นประจำ เพราะมีวิธีการรับมือกับโลกภายนอกที่แตกต่างกัน
การทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Judging
คนที่มีความถนัดแบบ Judging ตอบสนองต่อโลกภายนอกด้วยการจัดการ วางแผน และมีข้อสรุป ซึ่งทำให้พวกเขาต้องการทำงานตามแผนการที่วางไว้ เขาจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการ
พวกเขารู้สึกเครียดมากหากต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงแผนการในวินาทีสุดท้าย โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้เขาเปลี่ยนแผนการอย่างต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าแผนไหนเป็นแผนสุดท้ายที่สามารถเชื่อถือได้
  • วิธีการทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Judging ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. กำหนดระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน และส่งงานตามกำหนด
2. ตัดสินใจเมื่อถึงกำหนดเวลา ไม่ปล่อยให้เรื่องที่ต้องตัดสินใจค้างคา
3. สร้างระบบหรือแบบแผนในการทำงานร่วมกัน
4. ไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจโดยไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอ
5. ส่งงานก่อนกำหนดเวลาสุดท้ายเพื่อให้พวกเขาได้ตรวจเช็คอีกครั้ง
การทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Perceiving
คนที่มีความถนัดแบบ Perceiving ตอบสนองต่อโลกภายนอกด้วยการเปิดความเป็นไปได้ ซึ่งทำให้พวกต้องการเปิดรับข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงที่มีโอกาสตัดสินใจได้ พวกเขามักจะชอบตอบสนองสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์มากกว่าการทำงานตามแบบแผน ซึ่งพวกเขามักจะตารางเวลาที่ตายตัวว่าเป็นตสิ่งที่ขาดความยืดหยุ่น
บางครั้งคนที่มีความถนัดแบบ Perceiving ชอบทำงานและเล่นไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการทำงานและเล่นไปด้วยอาจทำให้คนอื่นดูเหมือนว่าเขาเป็นคนที่ไม่จริงจังกับงานมากนัก แต่จริงๆ แล้วพวกเขามองว่าการทำงานและการพักผ่อนเป็นสิ่งเดียวกัน
  • วิธีการทำงานร่วมกับคนที่มีความถนัดแบบ Perceiving ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. กำหนดระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน
2. ไม่ให้ตารางเวลาเป็นกำหนดการที่ตายตัวมากเกินไป
3. กำหนดระยะเวลาให้พวกเขาสามารถสังเกตการณ์ก่อนที่จะตัดสินใจ
4. อธิบายว่าแผนการที่มีจะสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไร มีส่วนไหนที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
5. ค้นหาทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้ก่อนที่จะตัดสินใจไปอย่างรวดเร็ว
ทำความเข้าใจถึงความต่างของตัวุบุคคลได้ถึง 4 รูปแบบ และ บุคลิกภาพ 16 แบบ สามารถทำให้คนตระหนักได้ถึงการทำงานของตนเองที่นำไปสู่การปฏิบัติงานในรูปแบบนั้น มันสามารถสร้างได้ทั้งความเข้าใจและสงสัย แต่เมื่อเราต้องการทำงานกันในองค์กร หรือเป็นทีม แบบทดสอบนี้สามารถช่วยทำให้เรารู้จักความถนัด และค้นพบบุคลิกภาพของตนเอง มองโลกในมุมมองที่ต่าง แต่ยังสามารถปรับตัวเข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
B Work Story ก็ขอฝากเพื่อนๆ กดไลค์ แชร์ และติดตามเพจเราด้วย ถ้าชอบบทความที่เราโพสต์ในวันนี้ ถ้ามีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือแตกต่างออกไป ก็สามารถแชร์กันเข้ามาได้ใต้บทความนี้
แบบทดสอบ
โฆษณา