10 มี.ค. 2023 เวลา 11:00 • สุขภาพ

Misinformation Overload การระบาดของข่าวสารจอมปลอม

ท่ามกลางการถาโถมของข้อมูลข่าวสารมากมาย บทบาทของสื่อและสังคมออนไลน์จะยิ่งส่งผลกระทบเด่นชัดต่อสุขภาพจิตของผู้คน
การส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทำได้อย่างรวดเร็วในปัจจุบันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมขาดการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ประกอบกับสื่อบางแห่งที่จงใจนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความจริง ทำให้ผู้รับข้อมูลเกิดความสับสน นำไปสู่ความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างจากการกระทำหรือการตัดสินใจอันมีผลมาจากการได้รับข้อมูลที่ผิดหรือไม่ครบถ้วน
โดยในปี ค.ศ. 2021 - 2022 พบว่า มีรายงานว่าพบผู้แชร์ข่าวปลอม (fake news) ในประเทศไทยไปแล้วมากกว่า 20.3 ล้านครั้ง ผลสำรวจในปี ค.ศ. 2021 ชี้ให้เห็นว่าการแชร์ข่าวปลอมในประเทศไทยมี 60% เป็นการแชร์ข้อมูลเท็จ (false content) ในขณะที่มี 38.6% เป็นการแชร์ข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด (misleading content) และอีก 1.6% เป็นการผสมผสานหลายวิธี อย่างไรก็ตาม พบว่าคนไทย 62.3% มีความระมัดระวังในการรับข่าวสารและตระหนักถึงภัยคุกคามเรื่องข่าวลวง แต่ก็ส่งผลให้ผู้คนเชื่อข่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ลดลงด้วยเช่นกัน
ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการแชร์ข่าวลวงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของประชาชนในวงกว้าง ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก งานวิจัยหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าการต้องเผชิญกับข่าวลวงและทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับความร้ายแรงของโรคระบาด และการลดลงของความเชื่อมั่นที่มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับการที่บุคคลและสาธารณะจะเกิดอารมณ์ด้านลบ (negative emotions)
เช่น ความวิตกกังวล (anxiety) ภาวะซึมเศร้า (depression) ความรู้สึกผิด (guilty) ความเครียด (stress) เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และสถานการณ์รอบตัวได้แย่ลง (lack of control) จนมีการกล่าวกันว่าประเด็นเรื่องสุขภาพจิตอาจกลายเป็นโรคระบาดที่สอง (second pandemic) ในอนาคต
ทั้งนี้ มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ต้องการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยข่าวลวง เช่น การแต่งตั้งบุคคลและหน่วยงานที่เชื่อถือได้และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นคณะทำงานในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องในสภาวะวิกฤติ หรือ การแต่งตั้งหน่วยงานเฉพาะในการจัดการกับผู้ปล่อยข่าวลวง หรือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับและสั่งลบข่าวลวง เป็นต้น
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การใส่ใจสุขภาพจิตของประชาชนจะกลายเป็นการขับเคลื่อนจากหลายทิศทาง ทั้งจากภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาสังคม
- เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับวิจารณญาณของผู้รับผิดชอบการแบนข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการแยกข่าวจริง ข่าวลวง คำวิจารณ์ และการเสนอความคิดเห็นบนพื้นฐานของสิทธิขั้นพื้นฐาน
- เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการตรวจจับและสั่งแบนข่าวลวงในระดับเมืองและระดับประเทศ
อ้างอิงจาก
- Fake news นิยามแบบไหนถึงเหมาะสม https://www.thaimediafund.or.th/fake-news-20220207/
- Number of fake news contributors in Thailand between 2020 and 2021, by type of contribution https://www.statista.com/statistics/1290891/thailand-number-of-fake-news-contributors-by-type-of-contribution/
- Distribution of shared fake news in Thailand in 2021, by level of fake news https://www.statista.com/statistics/1292641/thailand-distribution-of-fake-news-by-level-of-fake-news/
- Examining the impact of sharing COVID-19 misinformation online on mental health https://www.nature.com/articles/s41598-022-11488-y
- COVID-19 conspiracy theories https://doi.org/10.1177/1368430220982068
- When we are worried, what are we thinking? Anxiety, lack of control, and conspiracy beliefs amidst the COVID-19 pandemic https://doi.org/10.1002/acp.3798
- The second pandemic: Mental health /https://doi.org/10.1016%2Fj.explore.2022.03.007
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #MentalHealth #MQDC #กรมสุขภาพจิต #ETDA #NIA #TheFuturesOfMentalHealth #อนาคตสุขภาพจิตไทย
โฆษณา