11 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

เป็นเวลา 12 ปีแล้วนับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 ราย ในขณะที่ประชาชนหลายแสนครัวเรือนถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่พักอาศัย ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยถึงแผนการที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลในช่วงฤดูร้อนนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชาวประมงท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากความกังวลว่าน้ำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรและความเป็นอยู่ของประชาชน
ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลและ TEPCO บริษัทผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ได้สูบน้ำเข้าไปในโรงไฟฟ้าดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เศษเชื้อเพลิงมีความร้อนสูงเกินไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดการผลิตน้ำเสียมากถึง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ปัจจุบัน น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วจะถูกจัดเก็บไว้ในถังกักเก็บรอบ ๆ โรงไฟฟ้าและบนชายหาดใกล้เคียงมากถึง 1,060 ถัง โดยแต่ละถังนั้นกว้าง 37 เมตร และสูงถึง 7 เมตร ซึ่งพื้นที่ในการวางถังกักเก็บนั้นกำลังน้อยลงเรื่อย ๆ และคาดว่าจะเต็มความจุของพื้นที่ในปี 2023 นี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2021 นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ระบุว่า “เราไม่สามารถเลื่อนเวลานี้ตลอดไปได้”
รายงานข่าวจากนิกเกอิเอเชียระบุว่า แม้ว่าน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะผ่านการบำบัดแล้ว แต่สารกัมมันตภาพรังสีบางชนิด เช่น ทริเทียม (Tritium) ยังคงมีอยู่ ดังนั้น การปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเลจำเป็นต้องเจือจางความเข้มข้นของสารกัมมันตภาพรังสีให้ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ซึ่งแม้ว่าจะผ่านข้อกำหนดที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ความกังวลใจของประชาชนนั้นยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามที่จะโน้วน้ามชาวประมงท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ด้วยเงินงบประมาณ 50,000 ล้านเยน (ราว 12,900 ล้านบาท) เพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนชาวประมง และอีก 30,000 ล้านเยน (7,700 ล้านบาท) เพื่อเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลของผู้บริโภคจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล
การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ถือเป็นขั้นตอนแรกในการปลดประจำการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 40 ปี
โฆษณา