13 มี.ค. 2023 เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ธนาคาร Signature ล้มตาม SVB ทางการเข้าดูแลเงินฝากเต็มจำนวนของทั้ง 2 แห่ง

  • รัฐนิวยอร์กสั่งปิดธนาคาร Signature
  • กระทรวงการคลังสหรัฐ และ FIDC แถลงร่วมคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝากในธนาคาร SVB และ Signature
  • Fed ออกมาตรการปล่อยกู้ธนาคาร โดยให้วางหลักประกันและคิดวงเงินกู้ตามราคาพาร์
Dow Jones Futures ฟื้นตัว +300 จุดเช้านี้ หลังรัฐบาลสหรัฐและ Fed เข้ามาดูแล/คุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวนของผู้ฝากในธนาคาร SVB และ Signature และนักลงทุนยังเก็งว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่มีต่อธนาคาร
แถลงการณ์ร่วมระหว่างกระทรวงการคลังสหรัฐและ Fed ประกาศมาตรการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบธนาคารและยังระบุว่าผู้ฝากเงินที่ SVB จะเข้าถึงบัญชีเงินฝากได้ในวันจันทร์นี้
Fed ยังกล่าวว่าจะจัดตั้งกองทุนเพิ่มเติมผ่านโปรแกรม "Bank Term Funding Program" ซึ่งจะให้กู้ยืมแก่สถาบันเงินฝาก (ธนาคาร) โดยใช้พันธบัตรและสินทรัพย์ที่สถาบันฯ ถืออยู่เป็นหลักประกัน
รัฐนิวยอร์กเข้าควบคุมธนาคาร Signature ถือเป็นการล้มของธนาคารแห่งที่ 2 ภายในไม่กี่วัน
นักวิเคราะห์ระบุว่า ที่สำคัญคือ Fed จะรับหลักประกันมาที่ราคาพาร์ (หรือราคาหน้าตั๋วของพันธบัตร) จากที่ปกติมักใช้ราคาตลาด (mark-to-market) ทำให้ธนาคารสามารถกู้ยืมเงินได้โดยไม่ต้องกังวลผลขาดทุนของพันธบัตร แทนที่จะต้องยอมขายทรัพย์สินในราคาขาดทุน
โดยเหตุผลแล้ว นี่น่าจะเพียงพอที่จะหยุดการแพร่กระจายและทำให้ธนาคารล้มเพิ่ม ซึ่งเกิดขึ้นได้เร็วเพียงชั่วพริบตาในยุคดิจิทัลนี้ แต่ความหวาดกลัวที่แพร่กระจายนี้มักไม่มีเหตุผล เราจึงยังไม่สามารถการันตีได้ว่าสิ่งนี้จะได้ผล
Paul Ashworth หัวหน้าแผนกเศรษฐศาสตร์อเมริกา, Capital Economics
ในขณะที่ John Briggs หัวหน้าแผนก Economics ที่ NatWest Markets ระบุว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่เผชิญการล้มของธนาคารไม่ใช้หนทางที่ฉลาดเท่าไรสำหรับ Fed
คำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องราคาตราสารหนี้ในตลาดรอง ทำไมถึงเกิดการขาดทุนแบบ Mark-to-market ขึ้นได้
สมมติว่า เราซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเมื่อปี 2019 ที่ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed กดลงต่ำมาก อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 10 ปีชุดนี้ อาจจะเป็น 1% ต่อปี ราคาพาร์ $100 เท่ากับว่าจะได้ดอกเบี้ยปีละ $1
จะเกิดอะไรขึ้นพันธบัตรชุดเก่า? ถ้าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรชุดใหม่ เสนอขายอยู่ที่ 2%
ผ่านไป 1 ปี หลังจากที่สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น และเกิดเงินเฟ้อ Fed ทำการขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง สมมติว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ออกใหม่ ดอกเบี้ย 2% ราคาพาร์ $100 เท่ากับได้รับดอกเบี้ยปีละ $2
พันธบัตรชุดเก่าที่ออกมาก่อนแล้ว หากถือครองไปจนครบกำหนด ก็จะได้เงินต้นคืนครบ พร้อมดอกเบี้ย 1% ต่อปี แต่หากต้องการขายในตลาดรอง จะมีตัวเปรียบเทียบคือพันธบัตร Lot ใหม่ ที่อายุ 10 ปี ให้ 2%
พันธบัตรชุดเก่าที่เราถืออยู่ อายุคงเหลือ 9 ปี ก็อาจจะขายในตลาดรองได้ในอัตราดอกเบี้ย 1.8-1.9% เพราะอายุคงเหลือน้อยกว่าเล็กน้อย แล้วราคาขายจะต้องเป็นเท่าไร จึงจะทำให้ผู้ที่จะมาซื้อพันธบัตรจากเราได้ดอกเบี้ยคิดเป็น Yield to Maturity 1.9%
คำนวณด้วย Time Value of Money จะได้ราคาพันธบัตร $92.6188 คนที่ซื้อไปราคานี้จะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ 1.90% ต่อปี แต่ขณะเดียวกันผู้ขายต้องขาดทุนถึง 7.38% ทั้งที่จริง ๆ แล้วพันธบัตรถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ (นั่นก็เป็นเพราะจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อถือ "จนครบอายุ") แต่เพราะความเสี่ยงมาจากภายนอก คืออัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ควบคุมไม่ได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา