23 มี.ค. 2023 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

EP.7สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุน โดย บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) - มีนาคม 2566

ภาพรวมตลาดในเดือนที่ผ่านมา – ตลาดทุนไทยร่วง ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ขณะเงินเฟ้อไทยส่อแววชะลอตัว
- ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ จากการไหลออกของเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก หลังจากเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 7.10% (จาก 33 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35.35 บาท) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยปัจจัยที่ทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาจากความกังวลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของตลาดแรงงาน) ยังแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ
ประกอบกับเงินเฟ้อที่กลับมาขยายตัวในเดือนมกราคม แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะพยายามปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมากว่า 4.75% ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อแล้วก็ตาม ทำให้นักลงทุนคาดว่า Fed อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการประชุมครั้งก่อนหน้า และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงไว้ยาวนานขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
- ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อในไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ปรับลดลงมาเหลือเพียง 3.79% (เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) จากที่เคยสูงถึงเกือบ 6% ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากพิจารณารวมกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในช่วงกลางปีนี้
  • ตลาดตราสารหนี้ :
- ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยที่ทยอยปรับตัวลดลงและเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปสูงกว่าระดับ 2% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยนั้นปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ฝั่งสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.06% ปิดที่ระดับ 2.59% ด้านส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (credit spread) อายุ 5 ปี อันดับความน่าเชื่อถือ A ปรับลดลงเล็กน้อย 0.03% ปิดที่ 1.24%
- สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กลับมาปรับเพิ่มขึ้น 0.41% ปิดที่ระดับ 3.92% จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่กลับมาเร่งตัวขึ้น ทำให้ Fed อาจต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นและคงไว้ที่ระดับสูงนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
  • ตลาดตราสารทุน :
- SET Index ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปิดที่ระดับ 1,622 จุด ปรับตัวลดลง 2.9% (เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยดัชนีฯ เคลื่อนไหวในทิศทางปรับลดลงตลอดทั้งเดือน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิมากถึง 4 หมื่นล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกันมาหลายเดือน
ปัจจัยกดดันหลักมาจากทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/2565 ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาด นำไปสู่การปรับลดประมาณการผลกำไรบริษัทจดทะเบียนของปี 2565-2566
  • มุมมองการลงทุนตราสารหนี้ :
AIA Investments ยังคงให้น้ำหนักในการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าปกติ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในระยะต่อไป ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางส่วนใหญ่นั้นอยู่ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้จึงเหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกเพื่อล็อกอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต และช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน จึงแนะนำให้ทยอยสะสมในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นไป
  • มุมมองการลงทุนตราสารทุน :
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศ : อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นยาวนานกว่าที่ตลาดคาดไว้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเดือนมกราคม (อาทิ การจ้างงานนอกภาคเกษตร, ยอดค้าปลีก, ดัชนีราคาผู้บริโภค) ออกมาสูงกว่าคาด ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยถ่วงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ เห็นได้จาก ดัชนี Dow Jones ที่ปรับลดลงมากถึง -4.2% (หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ตามด้วย ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง -2.6% และ Nasdaq ปรับตัวลดลง
-1.1% โดยแนวโน้มดอกเบี้ยที่ยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้เติบโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดไทย: เชื่อว่าการปรับลดลงของ SET Index ได้สะท้อนปัจจัยลบจากผลการดำเนินงานของปี 2565 ที่ย่ำแย่ไปมากแล้ว ขณะที่แนวโน้มปี 2566 เริ่มเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังจากจีนเปิดประเทศ โดยดัชนีฯ ณ ปัจจุบันแถว 1,600 ถือเป็นระดับกรอบล่างที่ AIA ประเมินไว้ (1,550-1,750 จุด)
จึงแนะนำเริ่มทยอยสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2566 รวมถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง
  • คำแนะนำการลงทุน
ตราสารทุน : รักษาวินัยการลงทุน สะสมการลงทุนในตราสารทุนเพื่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว โดยทยอยปรับสัดส่วนการลงทุนเข้าสู่เป้าหมายระยะยาว
ตราสารหนี้ : ตลาดยังมีความผันผวนสูง ควรรักษาสภาพคล่องเพื่อหาจังหวะทยอยลงทุนในตราสารทุน ในขณะเดียวกัน ยังควรถือตราสารหนี้เพื่อจำกัดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
แหล่งข้อมูล: “สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุนประจำเดือนมีนาคม 2566” โดย AIA Group Investment และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป ผู้ใช้ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณและรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ด้วยตนเอง
เริ่มวางแผนการเงินระยะยาว กับบริการผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลการลงทุน AIA InvestPro และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย)
ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน เอไอเอ ยูนิต ลิงค์ ที่เหมาะกับคุณได้แล้ววันนี้
ติดต่อตัวแทน เอไอเอ หรือดูรายละเอียดได้ที่ : https://www.aia.co.th/th/our-products/save-invest/unit-linked
คำเตือน:
● ผู้ขอเอาประกันภัยควรทำความเข้าใจรายละเอียด เงื่อนไข ความคุ้มครองและข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
● ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
● การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
● ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/topics/6322a4b8ae66c7433c8d5007

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา