22 มี.ค. 2023 เวลา 06:39 • การเมือง
ทำเนียบรัฐบาล

ยุบสภาที่เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง…..แต่การเลือกตั้งใหม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน

ภายหลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นไปตามคาด จากที่มีกระแสข่าวจะมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นนั้น ต่อมาก็ได้มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ให้ไว้ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่ 4 เป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ภายหลังจากประกาศฉบับนี้ออกมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และคณะรัฐบาลทั้งหมดต้องยุติบทบาทลง ซึ่งคงไว้แค่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการแทนจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง จากเสียงของประชาชนชาวไทยที่เฝ้ารอคอยกันมานาน ซึ่งประเด็นในเรื่องนี้ ภายหลังจากที่มีการประกาศยุบสภาออกมา กระแสในเรื่องนี้ก็ยังไม่ค่อยสร้างความตื่นเต้นให้พี่น้องประชาชนชาวไทยเท่าไหร่นัก
เนื่องจากประชาชนส่วนมากที่ติดตามข่าวสารก็พอจะมองทิศทางการเมืองไทยออกมาสักพักแล้ว และด้วยกระแสของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีนักการเมืองและสส. ของพรรคออกมาโยกย้ายกันเป็นว่าเล่น รวมถึงมีการเปิดตัวผู้สมัคร สส. ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า เป็นทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก่อน และบุคคลธรรมดาทั่วไป รวมถึงหลายๆพรรค ก็ได้ออกมาแถลงนโยบายต่างๆ และมีการลงพื้นที่หาเสียงกันไปบ้างนั้น
เช่น
พรรคร่วมไทยสร้างชาติ ชูนโยบายเพิ่มบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1 พันบาท
พรรคพลังประชารัฐเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปี รับ 3,000 บาทต่อเดือน
พรรคเพื่อไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี เริ่มต้น 25,000 บาท/ เดือน
พรรคก้าวไกล หวยใบเสร็จ ซื้อของรายย่อยลุ้นเงินราย ที่ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่แปลกแหวกแนว และยังไม่เข้าถึงประชาชนดีพอ
พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกร รากหญ้าเป็นหลัก โดยชูนโยบาย เกษตรกรรุ่นใหม่ขายคาร์บอนเครดิตได้ ก็เป็นอีกนโยบาย ที่น่าสนใจเช่นกัน
ซึ่งก็บ่งชี้ได้ชัดว่า ใกล้เข้าสู่ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ของประเทศไทย โดยแค่รอเวลาที่ชัดเจน ในการประกาศยุบสภาของคณะรัฐบาลชุดเดิมเท่านั้นเอง ในส่วนของรัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐสภาชุดที่ 25 ถือเป็นรัฐบาลผสมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 19 พรรค โดย 4 ปีของรัฐสภาชุดนี้ มีการประชุมครบทั้ง 8 สมัย วันสุดท้ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ครบวาระ 4 ปีในวันที่ 23 มีนาคม 2566 นับจากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยนั้นเอง
ถึงแม้จะมีการประกาศยุบสภาแต่ด้วยหน้าที่และอำนาจพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงยังต้องรักษาการณ์จนกว่าจะจัดการเลือกตั้งเสร็จและประกาศผลรัฐบาลชุดใหม่ พร้อมทั้งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาให้เรียบร้อยสมบูรณ์แบบก่อนนั้นเอง สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ที่คาดการณ์ไว้น่าจะเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คงเป็นเรื่องที่น่าจะตื่นเต้นมากกว่าของคนไทย ที่เราจะได้ออกไปใช้สิทธิ ใช้เสียงของตัวเราเอง
ในการเลือกคนที่ชอบพรรคที่ใช่ และเลือกนโยบายที่ชัดเจนและคนไทยทุกคนได้รับประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรอคอยมานานกว่า 8 ปี ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทยในครั้งนี้แน่นอน
โฆษณา