1 เม.ย. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

"เสลา หรืออินทรชิต" ไม้มีค่าน่าปลูก ยิ่งอายุมาก ยิ่งแล้ว ดอกยิ่งมาก

เสลา (Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn.)
เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกแตกเป็นร่องตามยาว เปลือกในมีชั้นบางสีม่วง ใบรูปขอบขนาน ยาว 10–30 เซนติเมตรจุดเด่นที่แผ่นใบมีขนสั้นหนานุ่มทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 2–5 มิลลิเมตร ช่อดอกยาว 10–30 เซนติเมตร ตาดอกรูปไข่ ยาว 5–9 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงยาว 3–4 มิลลิเมตร มีสันประมาณ 12 สันตามยาวไม่ชัดเจน ปลายแยก 6–8 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 3–6 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม
ด้านในมีขนช่วงปลายกลีบ ปลายกลีบพับงอกลับในผล ดอกสีชมพูเข้มหรือม่วง เปลี่ยนเป็นสีอ่อนลงเมื่อใกล้โรย มี 6–8 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.5–2 เซนติเมตร ก้านกลีบยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ขอบกลีบเป็นคลื่น จักชายครุย แผ่นกลีบย่น เกสรเพศผู้วงนอก 6–7 อันยาวกว่าวงใน ผลรูปรี ยาว 1–2 เซนติเมตร แตกเป็น 5–6 ซีก เมล็ดมีปีกเดี่ยวเป็นแผ่นบาง
เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อเหนียวมาก ทนทานต่อการผุพัง แปรรูป ก่อสร้าง ต่อเรือ-รถ ทำสะพาน ดอกสวยสามารถปลูกประดับ ปลูกด้วยเมล็ด 3-4 ปีก็ออกดอกแล้ว ผลัดใบทั้งต้นในช่วงฤดูหนาว แล้วออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -มีนาคม พบได้ในป่าป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ปลูกได้แต่ดอกอาจจะไม่ดก ซึ่งอาจจะปลูกตามพื้นที่ดินปนทรายใกล้ชายทะเลน่าจะเหมาะสมกว่า
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก
ชั้นดินลึกมากกว่า 0.5 เมตร ที่ราบ-ที่ลาดชัน,ที่มีการระบายน้ำดี, ระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร
ต้นเสลาที่มีอายุมากและขึ้นในสภาพอากาศแห้งแล้งมากในช่วงฤดูแล้ง จะยิ่งมีดอกดกสวยงามยิ่งขึ้น
ที่มา : Forest Herbarium - BKF
#ไม้มีค่าน่าปลูก #DNP1362 #เสลา #อินทรชิต #กรมอุทยาน
โฆษณา