31 มี.ค. 2023 เวลา 12:33 • หนังสือ

การให้หลายแบบ

ถ้าให้เลือกระหว่างทำงานกับ Taker (ผู้รับ) หรือ Giver (ผู้ให้) จะเลือกทำงานกับคนแบบไหนกันคะ?
จากหนังสือ Give and take (Adam Grant) ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจของการเป็นผู้ให้เอาไว้ เรามักจะถูกสอนว่า “จงให้แล้วจึงได้รับ” ผู้เขียน Adam Grant เองก็สงสัยในประโยคนี้เหมือนกัน เลยได้ทำการวิจัยว่าในบริบทของการทำงาน “ถ้าให้แล้ว จะได้รับจริงหรือเปล่า”
Giver (ผู้ให้) ในการทำงานคือคนที่เสียสละตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น ใจดี และ เป็นมิตร ซึ่งถ้าลองคิดดูดีๆแล้วคนเหล่านี้ควรจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพราะมีแต่คนรัก มีแต่คนอยากช่วยเหลือผลักดันจริงไหมคะ?
แต่มันทั้งใช่ และ ไม่ใช่ค่ะ 🙂
งานวิจัยจากหนังสือได้บอกว่ากลุ่มคนที่เป็นผู้ให้นั้นจะอยู่ใน 2 กลุ่มคือ “ประสบความสำเร็จมากๆ” กับ “ไม่ประสบความสำเร็จเลย” หรือก็คือในผู้ให้นั้นก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มนั่นเองค่ะ!
ผู้ให้กลุ่มแรกคือ Passive Giver คือ ให้กับทุกคำขอ ทุกอย่าง ทุกคน ให้โดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยเหตุผลที่ว่า “อยากเป็นที่รัก” หรือ “กลัวคนอื่นมองว่าเราไม่ดี” เจตนาของการให้แบบนี้คือต้องการความรักและการยอมรับและด้วยเหตุนี้คนประเภทนี้จะต้องให้อยู่ร่ำไป ไม่ว่าคำขอเล็กหรือใหญ่ เพราะว่าทุกคำขอจะเพิ่มโอกาสให้เป็นที่รักมากขึ้นอีกนิด ลดโอกาสถูกเกลียดลงอีกหน่อย ทำให้ไม่อยากปฏิเสธใครเลย
ถ้าคนเหล่านี้เป็นหัวหน้า จะเป็นอันตรายต่อระบบองค์กรมาก เพราะจะอ้างว่าใจดี อยากช่วยเหลือคนอื่น และมีสิทธิที่จะเป็น “ยักษ์จีนี่” ดลบันดาลสิ่งที่ลูกน้องต้องการตลอดเวลาจนสูญเสียระบบการทำงานไป ตัวเขาเองก็จะรู้สึกเหนื่อยเหมือนงานไม่มีที่สิ้นสุด และที่สำคัญคือลูกน้องจะไม่เก่ง เรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ซักที เพราะรู้ว่ายังไงๆก็ไปขอ “บอสจีนี่” ผู้ดลบันดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว
ผู้ให้กลุ่มที่ 2 คือ Negotiated Giver หรือผู้ให้ที่ต้องเจรจากันก่อนนะ ผู้ให้กลุ่มนี้จะไม่ได้ให้โดยทันที แต่จะพิจารณาปัจจัยแวดล้อม เป้าหมาย ความยั่งยืน และที่สำคัญคือคิดเผื่อไปด้วยว่า “ถ้าช่วยรอบนี้แล้ว จะต้องช่วยไปอีกนานแค่ไหน” ในระยะยาวแล้วมันยั่งยืนไหม บางครั้งคนกลุ่มนี้จะถูกมองว่าใจร้าย เรื่องเล็กๆน้อยๆเองช่วยๆไปเถอะ
แต่ในระยะยาวนั้น ผู้ให้แบบนี้จะประสบความสำเร็จกว่าแบบแรกมาก และที่สำคัญคือได้ “ให้มากกว่า” คนกลุ่มแรกเช่นกัน เพราะการให้ที่ง่ายที่สุดคือการช่วยเหลือและทำงานให้เป็นงานๆแล้วจบๆไป แต่การให้ที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการสอนให้คนที่มาขอความช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ รับผิดชอบงานได้ด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้ส่งต่อการให้นี้ต่อไปให้คนอื่นได้
—-------
เราจำตอนที่เราทำงานแรกหลังเรียนจบได้ค่ะ หัวหน้าโดยตรงของเราเป็น Negotiated Giver คือเขาสอนงานเต็มที่ แต่เรารู้เลยว่าถ้าเขาสอนแล้วเราต้องจำและทำให้ได้นะ เพราะเขาจะไม่เอางานเราไปทำให้แน่นอน มีครั้งนึงเราถามคำถามง่ายๆที่หา Google เองก็เจอ เขาก็บอกให้เราลองพยายามด้วยตัวเองก่อน อย่าเพิ่งขอความช่วยเหลือถ้าไม่สุดมือแล้วจริงๆ ตอนนั้นถามว่ามีน้อยใจไหมก็น้อยใจอยู่นะคะ
ยิ่งเปรียบเทียบกับพี่ที่นั่งโต๊ะข้างๆ พี่เขาอยู่อีกทีมเป็นพี่ที่ใจดีมากช่วยเหลือทุกคน เราไม่เคยเห็นเขาปฏิเสธใครเลย เวลาเราน้อยใจพี่หัวหน้าก็จะไปนั่งเศร้ากับพี่คนนี้ตลอด
จนมาถึงตอนนี้ที่เราเติบโตขึ้น เรายังรู้สึกรักและขอบคุณพี่ทั้งสองคน แต่ถ้าถามว่าใครที่มีผลกับหน้าที่การงานและความสำเร็จของเรามากกว่ากัน เราก็ต้องบอกว่า “พี่หัวหน้าที่ไม่ได้ช่วยเราตลอดเวลา” มีผลมากกว่ามาก จนถึงตอนนี้เราก็ยังรู้สึกขอบคุณพี่คนนี้อยู่เสมอเลยค่ะ 🙂 เพราะเขาเป็นคนแรกๆที่สอนให้เราช่วยเหลือและดูแลตัวเองในการทำงานได้ เป็นการ “ให้” ที่ระยะยาวและยิ่งใหญ่กว่าการทำงานให้มากนัก
สุดท้ายนี้ เราคิดว่าคนทุกคนเป็นส่วนผสมของการให้ทั้ง 2 ประเภท จุดสำคัญไม่ใช่ว่าห้ามเป็น Passive Giver เลย หรือต้องเป็น Negotiated Giver ตลอดเวลา แต่เป็นเรื่องของการหา “สมดุลของตัวเอง” การให้แบบไหนที่เราทำแล้วรู้สึกสบายและเป็นตัวเองโดยที่ไม่ทำร้ายคนที่เรากำลังช่วยเหลืออยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว
การเป็นที่รักระยะสั้นนั้นจำเป็น…
… ผลลัพธ์ของการให้ในระยะยาวก็จำเป็นเช่นกันค่ะ 🙂
ซื้อหนังสือ Give and take (ภาษาไทย) ได้ที่ https://shope.ee/9KBXgR6iYK
Buy Give and take (English Version) - https://shope.ee/AxIlfmBhy
โฆษณา