5 เม.ย. 2023 เวลา 01:37 • ข่าวรอบโลก

“ฟินแลนด์” สมาชิกนาโตประเทศที่ 31 มีความหมายอย่างไรกับฟินแลนด์

4 เมษายน 2023 กลายเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่ง เมื่อ “ฟินแลนด์” ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตประเทศที่ 31 อย่างเป็นทางการ
อินโฟกราฟฟิกแสดงไทมไลน์การขยายตัวของสมาชิกนาโต อัพเดทถึง 4 เมษายน 2023 เครดิตภาพ: AA
  • ณ สำนักงานใหญ่นาโต กรุงบรัสเซลส์ วันที่ 4 เมษายน 2023
“เพ็คก้า ฮาวิสโต” รัฐมนตรีการต่างประเทศฟินแลนด์ เสร็จสิ้นกระบวนการภาคยานุวัติ (accession) ด้วยการยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการให้กับ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่สำนักงานใหญ่ของนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ โดยมี “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” เลขาธิการนาโตให้การให้ต้อนรับอย่างชื่นมื่น
“ด้วยการได้รับภาคยานุวัตินี้ เราสามารถประกาศได้แล้วว่าฟินแลนด์เป็นสมาชิกลำดับที่ 31 ของนาโต” บลิงเคนกล่าวในพิธีอย่างเป็นทางการที่กรุงบรัสเซลส์ และเขายังได้ยืนยันอีกว่า ได้รับการอนุมัติภาคยานุวัติของฟินแลนด์จาก “เออร์โดกัน” ประธานาธิบดีของตุรกี ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการรับ “ฟินแลนด์” เป็นสมาชิกนาโตไปก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน
ในวันพิธีรับฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกอย่างทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” เลขาธิการนาโต ได้ประกาศการเชิญธงชาติฟินแลนด์ขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรกที่สำนักงานใหญ่ของนาโตในเบลเยียม
พิธีเชิญธงชาติฟินแลนด์ขึ้นสู่ยอดเสา หน้าสำนักงานใหญ่นาโต กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เครดิตภาพ: John Thys/AFP/Getty Images
ประธานาธิบดีฟินแลนด์ “Sauli Niinisto” ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเชิญธงชาติหน้าสำนักงานนาโต ใจความสำคัญดังนี้
  • ตอนนี้ฟินแลนด์เป็นสมาชิกลำดับที่ 31 ของนาโต ยุคของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในประวัติศาสตร์ของเราได้สิ้นสุดลงแล้ว ยุคใหม่เริ่มต้นขึ้น
  • แต่ละประเทศเพิ่มความสามารถด้านกลาโหมสูงสุดของตนเอง ฟินแลนด์ก็เช่นกัน การเป็นสมาชิกของนาโต ทำให้สถานะระหว่างประเทศของเราแข็งแกร่งขึ้นและมีพื้นที่มากขึ้นสำหรับการซ้อมรบ ในฐานะพันธมิตรเราได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจกรรมของนาโตมาเป็นเวลานานแล้ว ในฐานะพันธมิตรฟินแลนด์จะมีส่วนร่วมในการยับยั้งและป้องกันร่วมกันกับนาโต
  • การเป็นสมาชิกของกลุ่มเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับฟินแลนด์ ในทางกลับกันฟินแลนด์สร้างความมั่นคงให้แก่พันธมิตร เราจะเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ซึ่งเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
  • การเป็นสมาชิกนาโตของฟินแลนด์ไม่ได้มุ่งเป้าไปเพื่อต่อต้านใครเป็นการเฉพาะ และไม่เปลี่ยนแปลงรากฐานหรือวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของฟินแลนด์ เราเป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิกที่มีเสถียรภาพและฝากฝังได้ ซึ่งพยายามแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ หลักการและค่านิยมที่สำคัญต่อฟินแลนด์จะยังคงเป็นแนวทางนโยบายต่างประเทศของเราต่อไปในอนาคต
1
สามารถอ่านข้อความสุนทรพจน์ฉบับเต็มของประธานาธิบดีฟินแลนด์ “Sauli Niinisto” ในพิธีเชิญธงชาติฟินแลนด์หน้าสำนักงานนาโต วันที่ 4 เมษายน 2023 ได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
  • การได้เป็นสมาชิกนาโต มีความหมายอย่างไรต่อ “ฟินแลนด์”
  • ด้วยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับนาโต “ฟินแลนด์” ให้คำมั่นว่าจะปกป้องประเทศนาโตอื่นๆ หากถูกโจมตี ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 5 (Article 5) ของสนธิสัญญา - โดย Article 5 ของสนธิสัญญานาโตนั้นบัญญัติไว้ว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของชาติสมาชิกนาโต “จะเท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศในกลุ่ม”
  • ตามทฤษฎีแล้วประเทศสมาชิกควรให้การสนับสนุนเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติขอบเขตที่จะให้ความช่วยเหลือนั้นขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกแต่ละประเทศที่จะตัดสินใจ – มาตรา 5 ระบุเพิ่มเติมว่าควรให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นและอาจรวมถึง “การใช้แสนยานุภาพ”
ในทางกลับกัน “ฟินแลนด์” จะได้รับการคุ้มครองโดยการรับประกันด้านมั่นคงแบบเดียวกันกับประเทศในกลุ่มสมาชิก นโยบายด้านกลาโหมโดยรวมจะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศที่เป็น “แนวหน้า” [แนวชายแดนติดกับรัสเซีย] อย่างเช่น ฟินแลนด์
เครดิตภาพ: Forces News
  • เมื่อเข้าเป็นสมาชิกนาโต “ฟินแลนด์” ยังให้คำมั่นว่าจะตั้งงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมอย่างน้อย 2% ของ GDP ในการป้องกันประเทศ นี่หมายถึงการรักษางบประมาณด้านกลาโหมของฟินแลนด์ให้อยู่ในระดับปัจจุบันเป็นอย่างน้อย
  • ในช่วงเวลาสงบสุขประเทศสมาชิกสามารถตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเข้าร่วมการฝึกทางทหารหรือปฏิบัติการอื่นๆร่วมกันกับกลุ่มนาโต ในเวลาเดียวกันสมาชิกถูกคาดหวังให้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันร่วมกันของพันธมิตรในช่วงเวลาสงบด้วย
  • ขีดความสามารถในการป้องกันร่วมกันของพันธมิตรในช่วงเวลาสงบ หมายรวมถึงทีมตรวจสอบน่านฟ้า กองกำลังทางเรือที่สแตนด์บายถาวร 4 กอง กองกำลังทหารที่สแตนด์บายประมาณ 1,000 นาย ในภูมิภาคบอลติกและโปแลนด์ส่วน “แนวหน้า” รวมถึงกองกำลังตอบโต้อย่างรวดเร็วจำนวน 40,000 นาย ที่สามารถประจำการได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น
ทหารของกองกำลังจากฟินแลนด์ เครดิตภาพ: Takimoto Marina/SOPA Images/Sipa/AP
  • การตั้งฐานทัพถาวรและฐานอาวุธนิวเคลียร์ใน “ฟินแลนด์”?
  • สมาชิกของนาโตสามารถตัดสินใจได้เองว่าจะจัดกิจกรรมทางทหาร การให้ตั้งฐานทัพหรือยุทโธปกรณ์ประเภทใดในดินแดนของตน
ประเทศสมาชิกบางประเทศ เช่น นอร์เวย์และเดนมาร์ก ได้ออกมาตรการบังคับตนเองที่ไม่อนุญาตให้มีกองกำลังพันธมิตรถาวร ฐานทัพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของตนในช่วงเวลาสงบ
แต่สำหรับบางประเทศอื่นๆ เช่น โปแลนด์และรัฐแถบทะเลบอลติก ได้ร้องขอให้นาโตเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในดินแดนของตนอย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม “ฟินแลนด์” ยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้จัดตั้งฐานทัพถาวรในระหว่างการเจรจาภาคยานุวัติเมื่อปลายปีก่อน 2022
1
Ulf Kristersson นายกรัฐมนตรีสวีเดน (ซ้าย) กับ Sanna Marin นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ในตอนนั้น (ขวา) กับการแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขการเจรจาภาคยานุวัติกับนาโต ในเฮลซิงกิ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2022 เครดิตภาพ: Reuters
Pekka Toveri อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองกองบัญชาการกลาโหมของฟินแลนด์ บอกกับ Yle ว่าการตั้งฐานทัพถาวรของนาโตในฟินแลนด์ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากการจัดตั้งดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง เขาเสริมว่าความสามารถในด้านกลาโหมของฟินแลนด์ได้รับการชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สูงที่สุดในยุโรปอยู่แล้ว
  • การวิเคราะห์จากฝั่งรัสเซีย
Nikita Lipunov นักวิเคราะห์จาก Strategic Development ฝ่ายสถาบันการศึกษานานาชาติของ MGIMO กล่าวกับ RIA Novosti ว่า
  • “ฟินแลนด์” ได้รวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของนาโตมานานแล้ว แต่ด้วยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ฟินแลนด์จะได้รับการรับรองทางกฎหมายภายใต้มาตรา 5 ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
  • นอกจากนี้พรมแดนระหว่าง “รัสเซีย” กับ “นาโต” กลายเป็นเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ในอนาคตอันใกล้กองทหารเฉพาะกิจอาจปรากฏขึ้นที่นั่น เพราะอเมริกาสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางทหารทั้งหมดของประเทศ [ฟินแลนด์] ได้
  • การที่ฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นพันธมิตร “อเมริกา” จะสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของประเทศได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น คล้ายกับสนามบินทหารในนอร์เวย์ และเป็นไปได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารของฟินแลนด์จะถูกใช้โดยตรงโดยอเมริกา
  • สังเกตว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา “สวีเดน” และ “ฟินแลนด์” ค่อยๆ มีส่วนร่วมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทุกรูปแบบของการเป็นพันธมิตรและการทำงาน ทั้งสองประเทศยังคงเข้าร่วมการซ้อมรบร่วมกันในฐานะประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มนาโต และยังมีสถานะของพันธมิตรที่ได้รับสิทธิพิเศษนอกองค์การนาโตอีกด้วย
  • ทะเลบอลติกกำลังกลายเป็นน่านน้ำยุทธศาสตร์ภายในสำหรับนาโต: ขั้นตอนการรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโตกำลังหาทางออกกันอยู่ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของเวลา และสำหรับรัสเซียแล้วการเข้าสู่นาโตของฟินแลนด์มีความละเอียดอ่อนมากกว่าสวีเดน เนื่องจากเราเป็นเพื่อนบ้านโดยตรง
  • ฟินแลนด์เข้าร่วมกับนาโตโดยไม่มีข้อจำกัด ข้อสงวน หรือข้อยกเว้น กล่าวคือ ฟินแลนด์รับภาระผูกพันทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแม้ว่าจะไม่น่าเป็นไปได้ แต่ความเป็นไปได้ในการส่งอาวุธนิวเคลียร์ประจำการในฟินแลนด์ก็ไม่ควรที่จะตัดความเป็นไปได้ออก
เครดิตภาพ: Insider
เรียบเรียงโดย Right SaRa
5th Apr 2023
  • แหล่งข่าวอ้างอิง:
<ภาพปก: Pekka Haavisto รัฐมนตรีการต่างประเทศฟินแลนด์ (ซ้าย) จับมือกับ Antony Blinken รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ (ขวา) โดยมี Jens Stoltenberg เลขาธิการนาโต (กลาง) เป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2023 เครดิตภาพ: Johanna Geron/AFP/Getty Images>
โฆษณา