10 เม.ย. 2023 เวลา 03:45 • ปรัชญา

"เปลี่ยนจากจิตที่คิดจะเอา เป็นจิตที่คิดจะให้"

" ... วิถีของพระพุทธศาสนา
เป็นวิถีของการปล่อยวาง
ก็คือการสละออก การคลายออกจากสิ่งต่าง ๆ
เปลี่ยนจากจิตที่คิดจะเอา เป็นจิตที่คิดจะให้
จิตที่คิดจะให้ มันเบาสบาย
จิตที่คิดจะเอา มันหนัก เพราะว่ามันสั่งสมสิ่งต่าง ๆ เข้าตัว ความหนัก ความร้อน แล้วมันก็หลงทำกรรมต่อเนื่องนั่นเอง
ถ้าเราเห็นโทษอย่างนี้ เราก็พลิกเป็นจิตที่คิดจะให้ จิตที่คิดจะให้มันให้คุณค่าขนาดไหน
ทำไมการปฏิบัติธรรมถึงเริ่มที่ให้ทานก่อน ?
ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า "จิตที่คิดจะให้"
แต่ถ้าเราไม่เข้าใจนะ เราให้ทานก็กลายเป็นจิตที่คิดจะเอาได้
อย่างบางทีเราให้ทานแล้วเป็นไง ... หวังร่ำ หวังรวย ใส่บาตร บางคนขอเต็มไปหมดเลย ขอให้รวย ขอให้มั่งให้มี ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ขอให้ไปเกิดในสวรรค์ จิตที่คิดจะเอาทั้งหมดเลย มันเอาเข้าตัวหมดเลย
ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้นะ เราจะไปผิดทางตลอดเลย
นั่นคือวิถีของชาวโลก การสะสม
แต่วิถีของการปฏิบัติธรรม คือการสละออก จิตที่คิดจะให้
ให้ทานเพื่อละความตระหนี่ ละความหวงแหน
ละมลทินในจิตใจ
ละความหนักความร้อนในจิตใจ
ให้ทานเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น
ให้ผู้อื่นเขาได้รับความสุขความสบาย
ให้ผู้อื่นเขาได้คลายออกจากทุกข์
จิตที่คิดจะให้ เป็นจิตที่มอง คิดถึงผู้อื่น จิตที่เผื่อแผ่ออก จิตที่เปิดกว้างออก
แทนที่จะหุบเข้าสู่ตัวเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว กลับเปิดกว้างออก
ถ้าเราเข้าใจตั้งแต่แรก เริ่มต้นตั้งแต่แรก การปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลาย จะไม่หลงทางเลย
ทำอะไร ก็เป็นไปเพื่อการลดละสละวาง เพื่อการขัดเกลา
เนื้อแท้ของทุกคนที่เรียกว่า จิตประภัสสร มีความบริสุทธิ์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
จิตนี้ประภัสสรมาแต่เดิม
แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสจรมา
อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองมันจรมาทีหลัง จากการที่เราคิดจะเอาเข้าตัวนั่นเอง มันจึงซึมซับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มลทินเข้าสู่จิตสู่ใจ จนพอกหนา เป็นกิเลสที่พอกหนา ห่อหุ้มเป็นเปลือกหนาขึ้นมา
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การเติมอะไรเข้าตัว
มันคือการเพิกออก สละออก ลด ละ สละ วาง
ฝึกฝนในการขัดเกลาตนเอง
เหมือนเพชร จะเป็นเพชรที่เลอค่าได้ มันต้องเจียระไนออก เจียระไนสิ่งที่เป็นมลทินออก เจียระไนสิ่งที่ไม่ใช่ออก มันจึงกลายเป็นเพชรที่เลอค่าได้
เหมือนทองคำบริสุทธิ์ กว่าจะเป็นทองคำบริสุทธิ์ เนื้อทองคำบริสุทธิ์ 100 % เขาก็จะไปสำรวจแร่ทองคำ พอพบจุดแล้วเป็นไง ... เขาก็ต้องล่อนเอาทองคำออกมา เพราะว่าพื้นดินก็มีสิ่งต่าง ๆ แร่ธาตุต่าง ๆ ล่อนแยกเอาเนื้อทองคำออกมา
จากนั้นเขาจะเอามาหลอม เผาสิ่งที่มันเป็นมลทินออกไป สิ่งที่เป็นมลทินออกไป ๆ จนเหลือแต่เนื้อทองคำบริสุทธิ์ 100 %
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน คือการเจียระไนตัวเอง คือการเพิกออกสิ่งที่เป็นมลทิน สิ่งที่รกรุงรัง สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เราพยายามจะเอาเข้าตัวนี้ออกไป
จนเข้าถึงจุดบริสุทธิ์ที่เรียกว่า เหลือแต่เนื้อแท้แห่งตน นั่นคือความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
เริ่มต้นให้ถูกตั้งแต่ก้าวแรก
จิตที่คิดจะให้ สละออก
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ การฝึกฝนทั้งหมด มันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลา เป็นไปเพื่อการสละออกทั้งหมดเลย เหมือนงานแกะสลัก เขาก็แกะสิ่งที่ไม่ใช้ออกไป
อะไรที่มันไม่จำเป็น ลดการสัมผัสลง สิ่งที่รกรุงรังในชีวิตลดลง ฝึกฝนที่จะชำระซักฟอกขัดเกลาจิตใจ
กลายเป็นผู้ที่เสียสละ ละความเห็นแก่ตัว ฝึกที่จะมองเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม มีการเอาใจใส่ มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
ฝึกที่จะเป็นผู้ที่เสียสละ อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของมหาชน
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ การใช้ชีวิตของเรา การปฏิบัติธรรมมันจะเป็นไปเพื่อการลด ละ สละ วาง … "
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา