15 เม.ย. 2023 เวลา 05:38 • ความคิดเห็น

"ภาวะลื่นไหล" หรือ "Flow State"

คุณเคยรู้สึกบ้างไหมว่า เมื่อเราได้ทำสิ่งที่ชอบเวลามักจะผ่านไปเร็วเสมอ บางครั้งเมื่อได้ทำไปแล้วก็ทำจนลืมเวลา เพลินเพลินจนลืมว่ามีอาการหิว หรือแม้กระทั่งมีความสุขจนลืมสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปเลย ถ้าคุณมีประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ นั่นหมายถึงคุณกำลังเข้าสู่สภาวะลื่นไหล หรือ Flow State
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีความรู้สึกแบบนี้บ่อยมากในทุกครั้งที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ นั่นก็คือการอ่านหนังสือ ผมอ่านได้ทีละหลาย ๆ ชั่วโมง โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อเลย ถ้ายิ่งเป็นหนังสือนิยายแล้วด้วยคงไม่ต้องพูดถึง เมื่อได้หยิบมาอ่านแล้วผมก็แทบจะวางไม่ลงเลยล่ะ ซึ่งต่างจากการออกกำลังกาย ผมแทบจะนับวินาทีเลยด้วยซ้ำ
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยมีความรู้สึกแบบเดียวกับผม แต่ละคนคงเคยเข้าไปอยู่ในสภาวะลื่นไหล หรือ Flow State ในรูปแบบของกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น วาดรูป ดูหนังหรือซีรีส์ เล่นกีฬา เขียนหนังสือ ดูศิลปินที่ตนเองชอบ หรือการค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองสงสัยอยู่อย่างจริงจัง
ศาสตราจารย์ มิฮาย ชิกเซนต์มิฮายยี (Mihaly Csikszentmihalyi) ได้อธิบายไว้ว่า สภาวะลื่นไหลนี้ยังช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าสู่สภาวะนี้ มันจะทำให้ทั้งความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาวะลื่นไหล หรือ Flow State ประกอบด้วย
1. กิจกรรมนั้นต้องมีความท้าทายความสามารถในระดับหนึ่ง ถ้าความท้าทายมันมีมากกว่าความสามารถที่เรามีอยู่จนเกินไปมันก็จะทำให้เราเกิดความกังวลขึ้นมาได้ แต่ถ้าความท้าทายมันน้อยเกินไปมันก็จะทำให้เราเบื่อหน่าย เราต้องเลือกระดับความท้าทายที่มันเหมาะสมกับความสามารถของเราจึงจะทำให้เข้าสู่สภาวะ Flow ได้ ตัวอย่างเช่น หากเรารู้ตัวเองว่าเราวิ่งได้ระยะทาง 5 กิโลเมตรโดยที่ไม่เหนื่อยมาก แทนที่เราจะวิ่งแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็อาจจะลองขยับเป้าหมายขึ้นเป็น 10 กิโลเมตร เพื่อลองท้าทายความสามารถตัวเองดู
2. จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถเห็นผลการกระทำของเราได้อย่างง่ายดาย
หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนและกำหนดรายละเอียดของสิ่งที่ทำ เราก็จะสามารถประเมินผลของสิ่งที่เราทำได้ ตัวอย่างเช่น การที่เรากำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่าใน 1 กิโลเมตรเราต้องวิ่งไม่เกิน 6 นาที ฉะนั้นทุก ๆ 1 กิโลเมตรเราก็จะสามารถประเมินผลของสิ่งที่เราทำได้ หากเรายังรักษาเวลาไม่เกิน 6 นาทีแสดงว่าเป้าหมายของเรามีทางเป็นไปได้
3. เราจะต้องมีสมาธิในการทำสิ่งนั้น หากเรามีสมาธิทำมันอย่างเต็มที่ เราจะไม่มีเวลาไปคิดถึงเรื่องอื่น และจะสนใจแค่กิจกรรมที่อยู่ตรงหน้าเราเท่านั้น ตัวอย่างเช่น นักดนตรีมืออาชีพจะไม่ใช้เวลาซ้อมทั้งวัน แต่พวกเขาจะกำหนดเวลาซ้อมที่ชัดเจนและในขณะนั้นก็จะจดจ่อกับการซ้อมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้อะไรมารบกวน ขณะที่นักดนตรีมือสมัครเล่นจะใช้เวลาซ้อมเกือบทั้งวันแต่ไม่มีสมาธิกับมันเท่าที่ควร ประสิทธิภาพจึงด้อยกว่า
4. การกระทำและสติรวมเป็นหนึ่งเดียว เวลาที่เราใช้ความสามารถทุกอย่างที่เรามีอยู่ในการทำสิ่งหนึ่งเราจะให้ความใส่ใจมันอย่างเต็มที่จนไม่มีเวลาให้รับรู้สิ่งรอบข้าง ตัวอย่างต่อเนื่องจากข้อ 3 สิ่งที่ทำให้นักดนตรีมืออาชีพซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเพราะพวกเขาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และทุ่มเทกำลังในการซ้อมอย่างเต็มที่ จนพวกเขารวมเป็นหนึ่งเดียวกับการซ้อม ขณะนั้นสติสัมปชัญญะจะถูกรีดเร้นออกมา ทำให้จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี การซ้อมจึงได้ประสิทธิภาพสูงกว่า
5. ความรู้สึกในการควบคุม ในสภาวะนี้เราจะรู้สึกควบคุมสถานการณ์ที่มันยาก ๆ ได้ แล้วมันจะสร้างความพึงพอใจให้กับเราอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ไทเกอร์ วูดส์ ที่เคยบอกไว้ว่าขณะที่เขากำลังเหวี่ยงวงสวิง หากมีแมลงวันบินผ่านลูกกอล์ฟเขาจะสามารถหยุดไม้ได้ทัน นั่นแสดงให้เห็นว่าเขามีสติที่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา
6. เวลาหายสาบสูญ เวลาที่เราทำสิ่งต่าง ๆ จนรู้สึกเพลิดเพลิน เราจะลืมเรื่องเวลาไปเลย ตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณดูหนังที่คุณชอบแล้วมันกำลังจะจบ แต่คุณยังรู้สึกเพลิดเพลินอยู่ คุณจะรู้สึกว่าทำไม 2 ชั่วโมงมันผ่านไปไวเหลือเกิน
7. กิจกรรมนั้นเป็นรางวัลของตัวมันเอง เมื่อเราได้ทำสิ่งต่าง ๆ ที่เรามีความสุขจนหลุดเข้าไปอยู่ในสภาวะ Flow รางวัลที่ได้รับก็คือการที่เราได้ทำสิ่งนั้นโดยไม่คาดหวังรางวัลอื่นเลย ตัวอย่างเช่น การที่คุณได้ทำงานอดิเรกที่คุณรัก แม้ว่างานนั้นไม่สามารถสร้างรายได้ให้คุณก็ตาม แต่คุณก็ยังทำมันเพราะคุณมีความสุขกับมัน
ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเข้าสู่ภาวะ Flow จากประสบการณ์บอกเล่าของหลาย ๆ คน โดย มิฮาลี และทีมงาน ได้สัมภาษณ์คนกว่า 8,000 คน จากหลากหลายอาชีพ หลายสถานะ ที่เข้าสู่ภาวะลื่นไหล (Flow State) ได้สรุปถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. มีสมาธิจดจ่ออย่างแรงกล้า
2. นำไปสู่ความรู้สึกปิติ อิ่มเอิบ
3. ความรู้สึกกระจ่างแจ้ง คือ คุณรู้ชัดเจนว่าคุณต้องทำอะไรจากชั่วขณะหนึ่งไปยังอีกชั่วขณะหนึ่ง
4. คุณได้รับผลสะท้อนกลับ (feedback) ทันที คุณรู้ว่าคุณต้องทำอะไร
5. คุณสามารถทำอะไรได้ แม้ว่ามันจะยาก
6. ความรู้สึกว่าเวลาหายวับไป คุณลืมตัวตนของตัวเอง
7. รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่า และเมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้น สิ่งที่คุณทำอยู่ก็กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในการกระทำเอง
*แล้วคุณล่ะ อะไรที่ทำให้คุณเข้าไปอยู่ในสภาวะไหลลื่น หรือ Flow State ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้นะครับ
โฆษณา