15 เม.ย. 2023 เวลา 08:10 • หนังสือ

หนังสือน่าอ่าน!!! นักเขียน นักอ่าน หรือใครที่รู้สึกนอยๆ กับชีวิตไปหาอ่านโลด

5 ข้อคิด ที่ซ่อนอยู่ในหนังสือฮารูกิ มูราคามิ ไปพบ ฮายาโอะ คาวาอิ Haruki Murakami Goes To Meet Hayao Kawai - Book Review
หนังสือน่าอ่านเล่มนี้ว่าด้วยการสนทนาระหว่างบุคคลคุณภาพ 2 คน คนแรกชื่อ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดัง เดิมทีเล่าเรียนด้านศิลปะการละคร ต่อมาเปิดบาร์แจ๊ซ ก่อนจะเริ่มเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี และอื่นๆ ต่อเนื่องจนมาถึงทุกวันนี้
คนที่สองชื่อ ฮายาโอะ คาวาอิ อาจารย์ด้านการบำบัดทางจิตวิทยาด้วยแนวทางคาร์ จุงในประเทศสวิตเซอร์แลน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ว่างรากฐานการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาในญี่ปุ่น
[ เนื้อหาในเล่มพอสังเขป ]
1. คืนที่ 1 คนเราเยียวยาอะไรด้วย 'เรื่องเล่า'
2. คอมมิตเมนต์
3. โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชินกับบาดแผลในจิตใจ
4. ตอบด้วย 'เหตุผล' หรือตอบด้วย 'ความเห็นใจ'
5. สิ่งที่ตกใจเมื่อเป็นนักเขียนนวนิยาย
6. 'ปัจเจก' แบบญี่ปุ่นกับเส้นด้ายแนวดิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์
7. ระดับความลึกของ 'ความแตกต่างของภาษา'
5 ข้อคิด ที่ซ่อนอยู่ในหนังสือ ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบ ฮายาโอะ คาวาอิ
1.Detachment การแยกตัวออกจากกลุ่ม แตกต่างจากพ่อแม่ และสังคมส่วนใหญ่
มูราคามิมักจะเล่าประเด็นของการแยกตัวออกจากครอบครัวในงานเขียนของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิยาย เช่น Kafka on the Shore และ Norwegian Wood ตัวละครของเขามักจะมีปัญหาในการเชื่อมต่อกับครอบครัวหรือรู้สึกเหินห่าง ทำให้ต้องแยกตัวออกมาเพื่อค้นหาความหมายและหาส่วนเติมเต็มจากที่อื่นแทน
อาจารย์คาวาอิให้ข้อคิดว่า นักอ่านของมูราคามิหลายคนได้แนวคิดการแยกตัวมาจากนิยายของเขา ก็เลยอยากลองดีแทชจากครอบครัวตัวเองดูบ้าง
อ่านถึงตรงนี้พอได้ยินคำว่าให้แยกออกจากครอบครัวอาจฟังดูสุดโต่ง แต่จริงๆ ใจความสำคัญคือการออกไปใช้ชีวิตของเราให้เต็มที่นั่นเอง อยากทำอะไรก็ให้รีบลองทำ เพราะชีวิตเราเกิดมาได้ครั้งเดียว และเวลาไม่เคยรอใคร (อยากทำอะไรก็รีบทำซะ โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องแยกจากครอบครัว)
2.Empathy ความเห็นอกเห็นใจ และความรู้สึกร่วม
มูราคามิมักสร้างตัวละครที่เลือกใช้คำพูดที่แสดงความรู้สึกร่วมและมีการกระทำเพื่อแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อเพื่อนมนุษย์
อาจารย์คาวาอิก็ใช้หลัก เห็นอกเห็นใจ และการหาความรู้สึกร่วมในการบำบัดผู้ป่วยของเขาเช่นกัน
ทั้งสองคนให้ความสำคัญต่อความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์และเน้นการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อาจารย์จะนั่งฟังคนไข้พูดโดยไม่ตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อทำความเข้าใจและเข้าร่วมในประสบการณ์ของคนไข้ เพื่อหาจุดที่จะรู้สึกแบบเดียวกับพวกเขา
ตรงนี้ถ้านำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาที่ต้องรับฟังคนใกล้ตัวระบายปัญหา หรือรับฟังคนที่มีภาวะซึมเศร้า หากใช้วิธี การรับฟังโดยไม่ตัดสิน จะสามารถหาจุดที่จูนเข้ากับความรู้สึกของพวกเขาได้
3.Burnout มูราคามิ หมดไฟ เบื่องานแปล เก็บกระเป๋ากลับญี่ปุ่น
มูราคามิเล่าถึงประสบการณ์หมดไฟของตัวเอง โดยบรรยายถึงความอ่อนล้าและการขาดแรงบันดาลใจที่เขาเคยประสบ
ในฐานะนักเขียนและที่รักงานแปล จู่ๆ เขาก็เบื่องานแปลขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะว่างานแปลเป็นงานที่เขารักพอๆ กับงานเขียน
เขาเล่าว่าตอนนั้นการทำงานแปลที่เคยให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา กลับไม่ตื่นเต้น ความสนุกค่อยๆ หมดไป ในที่สุดก็ตัดสินใจบินกลับไปพักสมองที่ญี่ปุ่น
อาจารย์คาวาอิ ก็ประสบปัญหาการ ชหมดไฟ ความเหนื่อยหน่ายจากการทำงานในฐานะนักจิตบำบัดที่ต้องรับฟังคนไข้ตลอดเวลา ทำให้บางครั้งรับเรื่องพวกนั้นเข้ามาด้วย จนอาจารย์รับไม่ไหวต้องขอลาไปพักและต้องใช้เวลาพักฟื้นช่วงนึงเลยทีเดียว
หากเรานำความเข้าใจตรงนี้มาปรับใช้ในการทำงานของเราเอง เราจะสามารถบาลานซ์ชีวิตของตนเองได้ง่ายขึ้น เช่น จัดตารางพักผ่อนให้เพียงพอกับร่างกายและจิตใจ
4.Transformation งานศิลปะต้องก้าวข้ามไปเรื่อยๆ
มูราคามิพูดถึงงานเขียนและงานศิลปะเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยการมุ่งเน้นไปที่แนวคิดของการก้าวข้ามไปข้างหน้า ทั้งในแง่ของการเติบโตของ ผลงาน และ ตัวผู้สร้าง
การเติบโตไปข้างหน้าหมายถึง การพัฒนาผลงานให้ออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ในลักษณะการสั่งสมพลังทีละนิดๆ แล้วฝึกให้ชินก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ทยอยเพิ่มปริมาณขึ้นไปช้าๆ
อาจารย์คาวาอิเล่าประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยของเขาเอาไว้ว่า มีคนไข้บางส่วนที่ตกเป็นทาสผลงานตัวเอง เช่น ศิลปินที่ต้องหาพึ่งพาพลังการสร้างผลงานจากภายนอก ในที่สุดก็ตกเป็นทาสของมัน
ถ้าไปเลือกพึ่งพาพลังงานที่เป็นพิษก็จะสร้างปัญหาให้กับตัวศิลปินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และพลังที่ยืมมาจะไม่ยั่งยืนเหมือนกับพลังที่เกิดจากการสั่งสมด้วยตนเอง
หากนำเรื่องการก้าวข้ามไปข้างหน้ามาเปรียบเทียบกับการทำงานในชีวิตจริง เราจะเข้าใจทันทีว่า ถ้าเมื่อไหร่เราหยุดพัฒนาความรู้ให้ทันโลก เราก็จะถูกโลกทิ้งไว้ด้านหลังทันที ตัวอย่างเช่น ai ที่เข้ามามีส่วนร่วมพลิกโลกเทคโนโลยีในวงกว้าง ถ้าเราปรับตัวได้ไว เราจะสามารถใช้ ai มาต่อยอดผลงานของเราได้
5.Superstition เปิดใจให้กับเรื่องเหนือธรรมชาติ
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีความหลากหลายของความเชื่ออยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณเป็นตำนานเล่าขานที่มีมานานมากแล้ว
มูราคามิกล่าวถึงเรื่องของความเชื่อ เช่นเรื่องโชคลาง เรื่องผี และจิตวิญญาณ เขามักจะหยิบจับสิ่งลึกลับพวกนี้มาใส่ไว้ในงานเขียนของเขาทุกเล่ม
อาจารย์คาวาอิในฐานะนักจิตบำบัด ในขั้นตอนรับฟังคนไข้อาจารย์จะเปิดกว้างกับเรื่องความเชื่อพวกนี้มาก เพราะการที่คนไข้เล่าเรื่องความเชื่อ สิ่งเหล่านี้มักจะสะท้อนถึงความคิดและประสบการณ์ของพวกเขาออกมา ทำให้อาจารย์เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนไข้ได้ง่ายขึ้น
การนำข้อคิดมาปรับใช้กับชีวิตจริงได้ดีที่สุด คือประเด็นของการ ฝึกให้เราเปิดใจ และเปิดกว้างทางความคิด ไม่เป็นคนที่ยึดเอาไอเดียของตนเองเป็นศูนย์กลาง อย่างเช่น คำพูดที่ว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ความหมายจริงๆ คือให้วางตัวเป็นกลาง เปิดกว้าง ไม่ใช่ว่าพอไม่เชื่อแล้วไปก็ต่อต้าน ข้อนี้สอนให้รู้จักเคารพความเชื่อของผู้อื่น
ทำไมต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ คือ อาหารสมองชั้นเลิศ ประเด็นต่างๆ ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อในการสนทนาล้วนแล้วแต่ลึกล้ำ ทันสมัย และน่าสนใจ ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความฉลาดลึกล้ำในการตั้งคำถามและการตอบคำถามผ่านทางบทสนทนาระหว่าง นักเขียน กับ นักจิตบำบัด ระดับโลก
[จุดแข็ง]
หนังสือเล่มนี้แปลโดย มุทิตา พานิช ซึ่งใช้ภาษาแปลได้สละสลวย ชวนติดตามตลอดทั้งเล่ม ผมยืนยันว่าเก่งและรู้จริงในเรื่องที่แปล (เธอมีผลงานแปลหลายเล่มแล้วครับ)
นักเขียนส่วนใหญ่แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ กลุ่มแฟนคลับของมูราคามิก็พูดถึงหนังสือเล่มนี้อยู่ตลอดครับ สิ่งสำคัญและความรู้จากการอ่านสามารถนำมาเป็นแง่คิดกับการใช้ชีวิตได้จริง
[ คะแนน 5/5 ]
ไม่ว่าผู้อ่านว่าจะชอบงานเขียนของ มูราคามิ กึ่งๆ ครึ่งๆ หรือคลั่งไคล้ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรต่อ ฮารูกิ มูราคามิ ความหมั่นไส้และอคติของคุณจะลดลงเมื่อได้รับทราบความมานะพยายามของมูราคามิที่ทุ่มเทเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยความละเมียดละไม
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านหลายคนตัดสินใจออกไปใช้ชีวิต ลองอ่านเถอะครับแล้วคุณจะชอบ
[  ราคา ]
220 บาท
หาซื้อได้ที่ se-ed
ชื่อหนังสือ : ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบ ฮายาโอะ คาวาอิ : Haruki Murakami Goes To Meet Hayao Kawai
ผู้เขียน : Haruki Murakami (ฮารุกิ มูราคามิ) Hayao Kawai (ฮายาโอะ คาวาอิ)
ผู้แปล : มุทิตา พานิช
ISBN : 9786167591766
จำนวนหน้า : 154 หน้า
ภาษา : ภาษาไทย
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ คราวหน้าผมจะมารีวิวหนังสือน่าอ่านเล่มอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกแน่นอน รอติดตามกันด้วยนะครับ
Writer : Charcoal
ติดตามผลงานรีวิวหนังสือของชาร์โคลได้ที่
หาซื้อหนังสือราคาถูกได้ที่
Kun All Books
:+:+:+:+:+:
กด like
กดแชร์ 🙏
กดติดตาม💓
คือกำลังใจที่ดี
:+:+:+:+:+:
#เมนี่เพนเนม #kunallbooks #หนังสือนิยาย #หนังสือมือสองราคาถูก #หนังสือมือ2 #หนังสือน่าอ่าน #บทความ #หนังสือ #นิยาย #จิตวิทยา #ความรัก #แรงบัลดาลใจ #คิดบวก #Love #Motivation #Hope #Psychology
โฆษณา