17 เม.ย. 2023 เวลา 09:38 • อาหาร

"Hunger คนหิว เกมกระหาย รสชาติแห่งความจริง"

คำเตือนจากเชฟพอล!
บทความนี้เหมาะสำหรับ
ลูกค้าที่ได้ลิ้มรสเรื่องราวของ
“HUNGER คนหิว เกมกระหาย”
มาแล้วเท่านั้น
ซึ่งเพจนี้จะแล่ประเด็นต่างๆ
ออกมาให้ลึกถึงเนื้อในที่สุด
เสมือนได้ดื่มด่ำกับทุกรสสัมผัส
เอาล่ะ Enjoy ครับ!👨‍🍳🔥🔥
.
.
.
1. ต้นทุนคนเราไม่เท่ากัน
ไม่มีใครหรอกที่อยากมีชีวิตแบบแค่หายใจก็จน แต่เพราะจังหวะและโอกาสแต่ละคนนั้นต่างกัน ดังนั้นไม้บรรทัดอันเดียวจึงไม่สามารถประเมินค่าทุกคนได้เหมือนกันหมด บางคนมีของ มีความสามารถมากมายกลับไม่ได้รับโอกาส ไม่มีพื้นที่ให้เฉิดฉายก็ยากจะแจ้งเกิดได้ในวงการ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะหยุดพยายาม งอมือเท้า ไม่พัฒนาตัวเองขึ้นมา เพราะถึงไม่มีใครเห็นค่า อย่างน้อยตัวเรานี่แหละที่รู้ว่ากำลังทำอะไร ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง “บัตรทอง” อาจเป็นของเรา!
2. รู้จัก “กลุ่มเป้าหมาย” ของเราให้ดี
นับเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญ “ที่สุด” ของการทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม เพราะการรู้ให้ลึก เข้าใจให้ซึ้งว่ากลุ่มเป้าหมายเราเป็นใคร ต้องการเสพอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน และกำลังมี Pain Points หรือปัญหาที่รอการแก้ไขอยู่ เพื่อมาวิเคราะห์ดูว่าสินค้าและบริการเราจะให้ “Solution(S)” อะไรเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้นได้บ้าง เช่นกันกับ Content Creators และเชฟที่ต้องรู้ให้ชัดว่าลูกค้าเขาอยากกินอะไร เพื่อจะเสิร์ฟเนื้อหาจานเด็ดให้ตรงกับอินไซต์ความต้องการ
ในจุดนี้ “เชฟพอล” คือตัวอย่างที่ดีของการวาง Brand Positioning ให้ตัวเองได้ชัดเลยครับ เพราะเขาใช้แรงขับจากปมในอดีตจากการเป็นลูกแม่บ้านที่ได้แต่เฝ้ามองคุณหนูกินไข่ปลาคาเวียร์ ซึ่งใครต่อใครต่างพากันถวิลหาว่าเป็นเมนูเลอค่า บงความสูงส่งของฐานะทางบ้าน เพียงเพื่อให้เกิดการยอมรับทางสังคมว่าข้านี่แหละคือกลุ่มคนพิเศษผู้ได้ลิ้มลองมัน พอเห็นแบบนั้นเขาถึงเข้าใจในกิเลสของมนุษย์ แล้วมาคิดต่อยอดว่าจะเล่นยังไงกับมัน เพื่อให้เกมพลิกกลับมาเป็นของตัวเอง
“อาหารมันไว้ใช้แสดงฐานะทางสังคม ไม่ได้ใช้แสดงความรัก คนจนเวลาหิวก็แค่ต้องการอาหารให้อิ่ม แต่คนที่ไม่มีปัญหาปากท้อง ความหิวมันก็เปลี่ยนไป เริ่มหิวการยอมรับ หิวความพิเศษ หิวประสบการณ์ที่เหนือกว่าคนอื่น คาเวียร์นั่นทำให้กูอยากเป็นเชฟให้คนรวยคลานเข้ามาหา ขอให้กูทำให้กิน กูจะทำให้ทุกคนหิวกู!!” –
เชฟพอล
เชฟทำให้เราเห็นอะไร?
Who? = คนรวย << แค้นจัดเลยกำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าจะเอาคืนคนกลุ่มนี้
What? = เชฟผู้ทำอาหารระดับ High-End
Where? = Community ที่คนรวยเขาพบปะกัน
Why? = เพื่อสนอง Needs คนที่อยากซื้อ “ความพิเศษ”
How? = ใช้เซ็ตเมนูที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ของการทำอาหาร ผ่านท่วงท่า ลีลา และการนำเสนอที่แปลกตา ตรึงลิ้น ฟินในอารมณ์ จนต้องพากันบอกต่อ คลานเข่ามาจ้างให้ทำ
เพราะงั้นความแค้นฝังใจของเขาจึงไม่ใช่เปลวไฟที่จุดแล้วดับเลย แต่รู้ดีว่าทำยังไงถึงจะกำหนดทิศทาง วางแผน ดำเนินการตามเป้าหมายให้ไฟมันย้อนกลับมาสร้างจุดขายให้สำเร็จมาเนิ่นนาน
2
3. มนุษย์อาจโตไปเป็นคนที่ตัวเองเกลียดได้
1
คนเราจะเติบโตมาเป็นแบบไหน ให้ดูไว้ว่าสภาพแวดล้อมระหว่างทางสร้างเขามายังไง แบบออยที่ตกกระไดพลอยโจนได้มาเจอแมวมองชั้นสูงอย่าง “พี่โตน” เห็นแววการทำผัดซีอิ๊ว เลยเชิญมาทดสอบสกิลเพื่อวัดความเป็น “มือผัด” คนใหม่ของทีม “Hunger” ผู้นำในวงการอาหารภายใต้การนำของเชฟพอลผู้เคร่งขรึม
1
ในวันแรกๆ ที่เข้ามา ออยเองคงไม่คิดอะไรมากไปกว่าการพยายามพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเธอเองก็ “พิเศษ” ทั้งที่จริงยังขาดอะไรอีกมากมายในรายละเอียดต่างๆ แต่อย่างที่สุภาษิตข้อคิดโบราณเคยว่าไว้แหละครับ ว่าการที่ได้อยู่ในสังคมแบบไหน อยู่กับใคร เราก็มักจะได้รับการหล่อหลอมให้โตมาแบบนั้น
ตัวตนความหิวกระหายของเชฟพอลได้ลุกโชนขึ้นในตัวเธออย่างช้าๆ รอวันระเบิดออกมา จากเชฟบ้านๆ ผู้น่ารักติดดิน ค่อยๆ กลายมาเป็นเชฟบ้าอำนาจ ฉายแววเผด็จการในครัว ถูกกลืนกินแม้กระทั่งเทคนิคการทำอาหารยังออกมาเหมือนกัน จนกลายเป็น “เชฟผู้หลงทาง” หาตัวเองไม่เจอ แม้จะมีร้านเป็นของตัวเองแล้วก็ตาม แถมเต็มไปด้วยเปลวไฟแห่งความเจ้าอารมณ์ ทีมงานทำไม่ได้สมใจก็เหวี่ยงวีน บางทีชื่อร้าน Flame และฉายาเชฟสาวผู้เล่นกับไฟก็อาจจะจริงอย่างว่ามา เมื่อไฟแห่งเจ้านายเก่ากำลังแผดเผาเธอจนเกือบมอดไหม้ลงซะเอง
1
4. “Signature” คือจุดเปลี่ยนวัดความสำเร็จ
ถ้าการวางจุดยืนของแบรนด์คือก้าวแรกของความสำเร็จในเชิงธุรกิจ การคิดค้นและสร้าง “Signature” หรืออะไรบางอย่างที่ทำให้เราพิเศษแตกต่างจากเจ้าอื่น ชนิดที่เห็นแล้วก็รู้ได้ทันทีว่านี่แหละแบรนด์อะไร ซึ่งวงการอาหารก็ไม่ต่างกันเลย เมื่อเชฟที่ไหนก็สามารถทำอาหารอร่อยได้ แค่มีสูตรสำเร็จในมือหรืออ้างอิงตาม Ref. ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดี
2
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำเมนูอาหารที่พิเศษถึงขั้นบ่งบอกความเป็นตัวเองได้ แบบอาหารของเชฟพอลที่ผ่านการรังสรรค์ออกมาอย่างประณีตตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่สดใหม่จากท้องถิ่น โดดเด่นด้วยการออกแบบจานให้น่ากิน ใช้ Packaging สร้างความน่าดึงดูดแก่ผู้บริโภค แล้วปิดท้ายด้วยรสชาติพิฆาตปากอยู่ข้างใน เคลือบแฝงไว้ทั้งคุณภาพและความสวยงาม
ซึ่งนี่แหละคือ “Brand Identity” ที่แม้จะมีใครแกะกระบวนท่าเลียนแบบได้ ก็ทำได้แค่ภายนอก อย่างที่ “เชฟออย” พยายามเจริญรอยตามเมื่อได้รับโอกาสให้เปิดร้านของตัวเอง ออกมาเป็นอาหารจานเด็ดที่สะดุดตา น่าลิ้มลอง อร่อยเมื่อปลายลิ้นได้แตะต้อง ทว่ากลับขาดเสน่ห์ข้างใน
ทุกอย่างก็อร่อยกำลังพอดี แต่คุณเล่นง่ายเกินไป ตอนนี้คุณกำลังอยู่ใน Comfort Zone ของตัวเอง แต่ละจานมันไม่มีอะไรที่เป็น Identity ของคุณเลย ผมไม่ได้ลงทุนให้คุณมาทำอาหารแบบเชฟพอลนะออย
ทศ
สื่อให้เห็นว่า “ความชำนาญ” จะทำให้เราอยู่ได้ แต่ “ความเป็นตัวเอง” จะทำให้เราต่างจากคนหมู่มาก อยากใช้บริการเราอยู่เรื่อยๆ
5. เกมการแข่งขัน สำคัญที่ใครจะ “หิวกว่า”
จากชื่อเรื่องที่บอกไว้ชัดมากๆ ว่านี่คือ “เกมกระหาย” ซึ่งจริงอยู่ที่ยุคปัจจุบันนี้ถูกเคลือบไปด้วยกระแสแห่งทุนนิยม ใครมีตุ้นทุนมากกว่า คอนเนคชั่นดีกว่าย่อมได้เปรียบ แต่สิ่งที่เป็นแรงขับว่าใครจะสำเร็จกว่า นั่นคือนิยามว่าคนนั้นมีความมุ่งมั่น ทะยานอยากมากกว่าแค่ไหนต่างหาก
เหมือนเกมฟุตบอลที่สองทีมยักษ์ใหญ่กำลังขับเคี่ยวกันโกยแต้มเพื่อคั่วแชมป์ลีก ฝีมือใกล้กัน ขุมกำลังและประสบการณ์ใกล้เคียงจนยากจะแยกว่าใครจะได้ชัย แต่สุดท้าย “ความกระหาย” นี่แหละจะเป็นผู้ตัดสินในปลายทาง ว่าเมื่อถึงเวลาที่ทีมของคุณเจออุปสรรคความท้าทาย คุณจะกระหายมากพอให้ข้ามมันได้หรือจะใจฝ่อล้มเลิกถอดใจ เส้นแบ่งระหว่างแพ้ชนะอยู่แค่นี้เลย
ถ้าเปรียบเชฟพอลเป็นทีมๆ หนึ่งที่คว้าแชมป์สำเร็จมามากมาย แต่ก็ไม่เคยหยุดกระหายที่จะล่ามันต่อไป
อะไรที่ดีอยู่แล้ว ไม่ได้แปลว่ามันจะดีขึ้นไม่ได้ ไม่งั้นเราก็จะถูกคลื่นลูกใหม่กลืนหายเข้าสักวันอย่างตอนที่เข้าป่าแล้วบอกพวกออยว่า “ถ้าเราใช้แค่หมู ไก่ มันก็ไม่เกิดสิ่งใหม่” อันนี้ถ้าตัดเรื่องฆ่าสัตว์ป่า ผิดกฎหมายออก นี่คือแนวคิดที่ดีในการต่อยอดความสำเร็จเลย ถ้าในเชิงธุรกิจ สิ่งที่เชฟพอลกำลังทำคือการขยาย “Product Line” เพื่อเพิ่มโอกาสรับงานที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อหิวแล้วยังคงหิวกระหายอย่างต่อเนื่องอยู่ โดยไม่ยึดติด ไม่ปล่อยให้ภาพความสำเร็จในอดีตมาทำตัวเองเหลิงจนอิ่มตัวหมด
สิ่งที่เชฟพอลหล่อหลอมออยขึ้นมาจึงไม่ใช่แค่อีโก้ ความเป็นผู้นำสายเผด็จการอย่างเดียว แต่ยังส่งต่อแพสชั่นความหิวไม่สิ้นสุดนี้มาถึงเธอด้วย จนอยากจะทำทุกวิถีทางเพื่อถีบตัวเองออกจากร่มเงาเขาให้ได้ โดยไม่ทันรู้ว่าต้องแลกกับเวลาที่เคยได้ใกล้กับครอบครัว เพื่อน และพี่โตน รสชาติแห่งรักที่เคยขย้ำเข้ากลางใจ วันนี้ก็เหินห่างไปเหมือนไม่เคยรู้จักกัน
“พี่รู้มั้ยว่าที่พี่ทำตามความฝันตัวเองไม่สำเร็จ? เพราะพี่หิวมันไม่มากพอต่างหากล่ะ”
ออย
“เจ็บว่ะ! นี่มันเชฟพอลชัดๆ เลย แต่มันอาจจะจริงอย่างที่ออยพูด เราอาจจะหิวไม่มากพอเอง “
โตน
แล้วอัตราส่วนความหิวแบบไหนกันที่จะช่วยสานฝันให้อิ่มเอม? บางทีอาจจะตอกความฝันลงไป 3 ฟอง หยอดความเชื่อมั่นไปอีก 3 ช้อนโต๊ะ โปะด้วยความรักความใส่ใจที่มี คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างลงตัว ถ้าหวานไป เผ็ด เปรี้ยวไป ก็แค่ปรับส่วนผสมให้พอดี หรืออ่อนไปก็เคี่ยวรสชาติให้มันเข้มข้นถึงใจ ปรุงใหม่ให้ดีกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อยู่ที่ใครจะเรียนรู้เอง การเป็นเชฟก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีพื้นที่ให้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
6. “เผด็จการสุดโต่ง” จะพังทุกอย่าง
เมื่อมีขาวย่อมมีดำ ในเมื่อเล่าถึงข้อดีของเชฟพอลไปแล้ว ก็มาที่ข้อเสียเน้นๆ กันอย่างที่เห็นชัดเจนจากสีหน้า แววตา การกระทำต่างๆ นานาว่าเขาเป็นเชฟและผู้นำแบบไหน ถ้าได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่แล้วก็ต้องยอมรับเลยว่าแขนข้างหนึ่งถูกวางอยู่บนเขียง พลาดมาอาจชะตาขาดเปรี้ยงได้แบบง่ายๆ
เพราะ Hunger = เชฟพอล ที่ภายนอกคือเชฟมาดนิ่ง สุขุม ผู้ใช้อาหารสื่อแทนคำพูด แต่กับลูกน้องเขาคือพญามัจจุราชที่กุมอำนาจห้องครัวอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นชายผู้ละเอียดยิบ เคร่งในทุกจุด จริงอยู่ที่ความเข้มงวดจะช่วยคุมวินัยพนักงานไม่ให้หย่อนยาน หลงระเริงจนลืมตัวและลืมใส่ใจผู้บริโภค แต่อีกมุมมันก็เป็นการสร้างบรรยากาศชวนอึดอัดให้การทำงานที่เครียดหรือเหนื่อยอยู่แล้วทวีคูณขึ้นไปอีก ชนิดที่ได้ยินเสียงฝีเท้าเขาเข้ามาเมื่อไหร่เป็นต้องขนลุกซู่ชูชันไปด้วยความหวาดเกรง
1
ทำดีเสมอตัว ทำพลาดมาหัวจะขาดเอาแบบไม่ไว้หน้ากัน ได้เครดิตเป็นที่ยอมรับในกลุ่มไฮโซ ก็เป็นเชฟพอลที่ได้มันไปอยู่คนเดียวโดยไม่คิดจะให้เครดิตกับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง อย่างที่เชฟแดงพูดประมาณว่าอยู่นี่อย่าหวังจะได้เกิดเลย ถ้ายังไม่มีเมนูเป็นของตัวเอง
ยิ่งอยู่กันนานวัน ยิ่งกดขี่ ด่าทอ ข่มเหง มีแต่พระเดชไม่เคยมีพระคุณ ไม่มีการเลี้ยง ตบรางวัลด้วยอาหารดีๆ หรืออะไรที่คู่ควรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ จนกลายเป็นมะเร็งร้ายสะสมในความรู้สึกของทีม พอถึงเวลาก็ระเบิดออกมา ทั้งเชฟที่ขโมยวัตถุดิบไปกิน และเชฟแดงผู้อาวุโสที่พลาดทำกุ้งหล่นในหม้อซุป (ลูกค้าแพ้กุ้ง) พอโดนด่าหนักก็ถึงกับหยิบมีดแทง แน่ล่ะว่าพวกเขาทำผิดทั้งสองกระทง แต่ใครเล่าที่เป็นเหตุให้ทุกคนเกิดแรงขับแบบนี้ออกมา
แบบนี้ทีมก็เป็นได้แค่ทีมในชื่อ เป็นประชาธิปไตยในฉากหน้า เพราะเราต่างรู้ว่ามีใครคอยชักใย แสดงสิทธิ ออกเสียงแค่ไหน ก็โดนอำนาจมืดตีกลับเบ็ดเสร็จอยู่ดี เหมือนประเทศแถวนี้จริงๆ เวรกรรมอันใดแต่ชาติปางไหนหนอพวกกู,,,
7. ไม่มีใครเก่งสมบูรณ์แบบ
เป็นอีกหนึ่งความจริงที่ไม่มีวันตาย เพราะไม่มีใครเก่งพอจะทำทุกอย่างได้เองไปซะหมด หรือหากทำได้ก็ย่อมจะออกมาไม่ได้ดีทุกอย่าง แม้แต่เทพเจ้าอาหารแบบเชฟพอลก็ต้องพึ่งทีมงานผู้มีความถนัดในการทำอาหารด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมเสิร์ฟทุกความต้องการลูกค้าได้หมด
และเมื่ออาหารก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีเพียงทีมเชฟในการขับเคลื่อน แต่ยังต้องมีทีมงานส่วนอื่นๆ มาช่วยจุดเชื้อไฟให้ลุกโชนโด่งดังทำกำไรขึ้นไปอีก อย่างออยที่ต้องมีสปอนเซอร์แบบคุณทศที่ให้ทั้งทุนสนับสนุนและวิธีคิดแบบนักธุรกิจ ร้าน Flame ดังกระหึ่มโซเชียลมาพักใหญ่ ก็ต้องหาอะไรมาทำให้มันปังขึ้นอีก อยากได้อะไรที่ฮือฮากว่านี้ เตรียมเปิดตัวกับกลุ่มคนระดับเซเลปเอาให้สุด
เพราะไม่ใช่เชฟทุกคน หรือแบรนด์อาหารทุกแบรนด์ที่จะพรีเซ้นท์ตัวเองเก่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาซัพพอร์ตการโปรโมต ตัวอย่างชัดสุดคือพี่โตนคนดีคนเดิมที่ลาออกมากลายเป็นเชฟตกอับ เปิดร้านเองได้ไม่นานก็เตรียมเจ๊ง ด้วยเหตุผลด้านทำเลที่ไม่เอื้อและไม่มีองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจที่มากพอจะไปต่อ
หรืออย่างตอนท้ายที่ออยกลับบ้าน เตรียมรีแบรนด์ร้านครอบครัวใหม่ เธอก็รู้เต็มหัวใจว่างานนี้ต้องมีผู้ช่วยในการโปรโมต นั่นคือ “อู๋” Content Creator เพื่อนซี้ที่คิดถึงเธอคนเดิมที่สุด แค่เริ่มต้นดีก็มีโอกาสได้ชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
7. เก่งแค่ไหนก็แพ้อุปทาน
ในหนัง ไม่ว่าใครก็อยากจะได้ลิ้มรสมือเชฟพอลมาประดับบารมีปากกันหมด ยิ่งพวกไฮโซ เซเลป ดาราพากันลุกฮือปลุกกระแสผ่านโซเชียลเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิด “High Demand” หิวเชฟขึ้นมาเต็มตลาด เพียงเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นคนพิเศษไม่กี่คนที่ได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์สุด Exclusive แบบสุดๆ
“เก่งแค่ไหนก็แพ้อุปทาน เพราะพวกมันหิวกู!!”
ฉากต่างๆ เหล่านี้โคตรสะท้อนความจริงอันบ้าคลั่งในสังคมเลย ว่าประเทศไทยนี่เองที่เป็นตัวอย่างเด่นของการขับเคลื่อนด้วยอุปทาน หรือภาษาบ้านๆ ที่เราเคยพูดว่า “ไทยมุง” แต่ถ้าภาษาการตลาดคือ “FOMO (Fear of missing out)” คือที่ไหนมีกระแส เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าดี ก็พร้อมจะแตกรังลุกฮือตามกันไปหมด เดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ยิ่งถ้าได้รู้ข่าวหรือได้แสดงออกว่าเราเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้เสพเทรนด์ก่อน มันยิ่งรู้สึกพิเศษ ตอบโจทย์ความหิวในใจได้หมด
หากใครยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่โดนัท “Krispy Kreme” เข้าไทยครั้งแรก สร้างปรากฏการณ์สยามพารากอนแตก คนต่อคิวยาวเหยียด มีคนรับหิ้วเต็มไปหมด เพียงเพื่อจะได้ลิ้มรสชาติความหวาน หอม ใหม่แกะกล่องอันเป็นยอดปรารถนา ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นเด็กหนุ่มผู้ไร้เดียงสาที่บ้าพอจะเข้าไปยืนต่อแถวนาน 2-3 ชม. เพื่อโดนัทกล่องเดียว ทำเท่ไม่จ้างคนหิวซื้อแทนด้วย จนเพื่อนๆ ถึงกับบอกว่า “มึงต่อคนเดียวนะ พวกกูไปเดินเล่นรอ”
แน่ล่ะความรู้สึกตอนนั้นมันช่างฟินปริ่มไปถึงขั้วหัวใจ กับการได้เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่ได้ลอง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ย้ำเลยครับว่าไม่นานจริง ความหวานของโดนัทที่เกาะอยู่ในใจมันก็ละลายไปจนหมด เพราะคนที่เหลือเขาก็ได้กินกันชิลๆ ไม่ต้องเหนื่อย จากนั้นสาขาอื่นก็พากันทยอยเปิด
หรืออย่างตอนที่ “Magnum Cafe” เปิดใหม่ๆ เป็น Pop Up Store ในสยามดิสฯ ขึ้นชื่อว่าไอศกรีมแม็กนั่มก็พรีเมี่ยมพอแล้วทั้งราคาและรสชาติ ยิ่งมาเปิดในเมือง ท่ามกลางบรรยากาศร้านอันหรูหรา แถมมีระยะเวลาจำกัด ปิดแล้วปิดเลย ก็ยิ่งกระตุ้นต่อมความหิวให้พาตัวเองถ่อเข้าเมืองไปลองอีก ในนิยามความรู้สึกที่โคตรพิเศษ นี่กูได้มากินแล้ววว ถ่ายลงโซเชียลหล่อๆ ให้คนอิจฉาเล่น ฟินแท้เหลา
ทั้งที่พอเวลาผ่านนานเข้า นึกย้อนดูเออมันก็แค่แม็กนั่มธรรมดาที่เอามาใส่จาน ใส่ท็อปปิ้งสวยๆ แล้วอัพราคาขึ้นนี่หว่า อยู่บ้านก็ซื้อเซเว่นแล้วหาท็อปปิ้งมาทำเองยังได้ อ่ะถ้าตัวอย่างล่าสุดก็ไอศกรีมไก่ทอดของ Swensen เมื่อปีก่อนที่คนพากันสั่งจ้าละหวั่นจนของหมด จะกดผ่านแอปฯ ก็ขึ้น SOLD OUT แล้ว หรือทำไมคนถึงแห่อยากลองลูกชิ้นยืนกินตามลิซ่า Black Pink ต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดสุด
เป็นความรู้สึกที่นึกถึงทีไรก็อยากจะกลับไปตบกะโหลกตัวเองสักฉาดใหญ่ๆ ชีวิตคงมีทั้งเงินและเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่านี้ แบบที่ในหนังบอกแหละครับ ไข่ปลาคาเวียร์ที่เขาว่าดีนักหนาสุดท้ายก็ไม่ได้อร่อยดั่งฝัน การไปกินร้านอาหารแพงๆ เชฟระดับ
มิชลิน หรือกาแฟแก้วละร้อยก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกปากทุกคนไปซะหมด เมื่อทุกคนต่างมีจริตความชอบที่ต่างกันอยู่ และอีกมุมคือไม่ใช่ทุกร้านที่จะทำอร่อยสมราคาและชื่อเสียง เพียงแค่ใครเขาว่าดี เราเลยอุปโลกว่ามัน “น่าจะ” ดีตาม ทั้งที่ความจริงยังมีรายละเอียดอีกมากซ่อนอยู่ เช่นน้ำซุปที่ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงมาม่า แล้วตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส (O_0)
ยังไงซะอุปทานมันจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะกิเลสมนุษย์เมื่อความหิวมันได้รับการสนอง สักพักมันก็ย่อมจะหิวอย่างอื่นใหม่ ได้แต่เรียนรู้อยู่กับมันอย่างเข้าใจ ไม่หลงไปจนเกินตัว
8. การใส่ “Story” คือการเพิ่มมูลค่าได้ดีเสมอ
เมื่อการทำอาหารคือศิลปะอย่างหนึ่งที่ดีต่อใจทั้งรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส ที่ไม่เพียงแค่ความอร่อย หากแต่ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ของการออกแบบตกแต่งจานให้สวย ดึงดูด น่าค้นหา และสิ่งที่จะสร้างมูลค่ามากไปกว่านั้นอีกคือการใส่ Story ช่วยเพิ่มอรรถรสให้มื้ออาหารนั้นยิ่งมีความหมายขึ้นไปอีก บางทีเมนูนั้นๆ อาจจะโดดเด่นด้วยรสชาติและหน้าตาอยู่แล้วล่ะ
แต่ถ้ามีบางอย่างมาสะกิดใจผู้บริโภคสะดุดจนอยากกดสั่งซื้อมากกว่าปกติ อย่าง “บังฮาซัน” ก็นับเป็นตัวอย่างของเชฟนักเล่าเรื่อง ผู้ทำให้อาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล ดูมีอะไรขึ้นมาได้ ฟังไลฟ์เพลินๆ เหมือนโดนสะกดจิต มีความ “Edutainment” ให้ทั้งความรู้ ให้ Story ของอาหาร และยังสอดแทรกความฮาไม่จำกัด อ่ะกินน้ำจุ่ม แล้วก็จุ่มน้ำจิ้ม 😂🎵🎶
ร้าน "White Story" ที่ใส่การเล่าเรื่องเข้าไปในสินค้า
หรือร้าน “White Story” ที่ปลุกกระแสโซเชียล ด้วยการสอดแทรก Story ลงไปว่าเป็นแซลมอนเทอริยากิที่ว่ายทวนน้ำมาจากนอร์เวย์ ใครเห็นเป็นต้องสะดุด ถึงไม่ซื้อก็กระตุกต่อมความสนใจได้แล้วล่ะ รวมถึงในหนัง “The Menu” ก็จะเห็นได้ว่าทุกองก์ของการเสิร์ฟ เชฟ Slowik จะมีเรื่องราวมาเล่าถึงที่มาที่ไปของอาหารก่อน
1
ใน Hunger ก็เช่นกัน หนังแสดงให้เห็นชัดถึงความเอกอุของเชฟพอล ที่แม้ออยจะพยายามถีบตัวเองให้เทียบเคียงได้ยังไง จวบจนศึกครั้งใหญ่สุดท้ายเธอก็ยังคงเป็นรองในแง่ของชื่อเสียงและอุปทานหมู่ เมื่อผู้คนต่างหิวเชฟหน้าหนวดมากกว่า
1
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอเหนือกว่านายเก่า คือการเล่า Story ลงไปในอาหารจานเด็ดแบบพิเศษใส่ใจกับ “ก๋วยเตี๋ยวผัดงอแง” เมนู Signature ประจำบ้าน เมื่อครั้งที่ป๊าเธองอแงร้องไห้ อาม่าเลยเข้าครัวหยิบจับวัตถุดิบที่มีมาคลุกเคล้าปรุงสดพร้อมกับใส่ความรักลงไปแบบเต็มช้อน จนเด็กชายตัวน้อยหยุดร้องได้ กลายเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
เมื่อเทียบกับเชฟพอลที่ลงทุนโปรดักชั่นเบอร์ใหญ่ด้วย “อาหารบูชาเทพเจ้า" แค่นั้น ทิ้งให้แอบอยากรู้ต่อแล้วก็จบ ว่าเทพองค์ไหน เขาบูชากันที่ใด มันพิเศษยังไงไหนเล่า สุดท้ายถ้าไม่ใช่เพราะตำรวจตามมารวบไปก่อน หลังโดนพวกทศ-โตนแบล็คเมลคดีฆ่านกเงือกที่เป็นสัตว์สงวน ก็ยังอยากเชียร์ให้ออยชนะเชฟพอลด้วยมุมนี้จริงๆ การมีคนช่วยโปรโมตมันย่อมดีแน่ แต่ถ้าเชฟเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีได้ด้วยย่อมเหมือนพยัคฆ์ติดปีก
ตัดเรื่องความสวยงามของชามอาหาร และความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย(ปาร์ตี้วัยรุ่นไฮโซ) ออกไปชั่วขณะก่อนนะครับ ไม่ว่าจะวงการอาหารหรือวงการไหน การใส่ Story ของสินค้าเข้าไปในการโปรโมต ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเข้าไปให้น่าสนใจขึ้นกว่าเก่า มากกว่านั้นถ้าสามารถใส่ “เรื่องราวร่วม” ระหว่างสินค้า/อาหารนั้นๆ กับชีวิตจริงของผู้บริโภคได้ยิ่งดีเข้าไปอีก แบบกินแล้วชวนให้นึกถึงความทรงจำบางอย่าง
เชื่อว่าทุกคนต่างมี “ผัดงอแง” ชามโปรดแสนอร่อยจากรสมือคนที่เรารักกันอยู่ แค่ได้นึกถึง ลิ้มรสอีกครั้งก็เหมือนได้กลับบ้านไปอยู่ในอ้อมกอดพ่อแม่ เป็นเมนูที่ไม่ว่าร้านมิชลินกี่ดาวก็ไม่อาจเทียบติด
9. "ความพิเศษ" อยู่ที่ใครนิยาม
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องกาแฟ “Specialty” กันมาไม่มากก็น้อย กับราคาแก้วหลักร้อยที่ได้รับการการันตีว่าอร่อย คุณภาพสมราคา จากเมล็ดพันธุ์เกรดพรีเมี่ยม คั่วบดด้วยกรรมวิธีที่ละเมียดละไม พร้อมนักชิม (Cupper หรือ Q – Grader)มากมายผู้คร่ำหวอดในวงการที่ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน สะสมคะแนนมากพอจนได้ชื่อว่าเป็นแก้วที่ “พิเศษ” จริงๆ
แต่นั่นแหละครับ อย่างที่ผมได้เขียนไว้ด้านบนว่าไม่ใช่ทุกแบรนด์ ทุกร้านที่เขา “ว่ากันว่า” ดีมันจะถูกจริตเรา หรือดีคุ้มราคาตามนั้นจริงๆ บางแก้วก็แพงฉิบหายแล้วแทบจะพ่นออกมาก็มี หรือบางทีก็อร่อยแบบอ่อๆ อืมๆ ไม่ได้ว้าวอะไรมากมาย มันค่อนข้างมีหลายปัจจัยประกอบกัน
“มันแพงเพราะมันพิเศษ รึพิเศษเพราะมันแพงวะ?” ประโยคที่ป๊าออยพูดหลังได้ชิมสเต๊กและกาแฟพรีเมี่ยมหลักร้อย เมล็ดสายพันธุ์พิเศษ ชนะการประกวดบลาๆ ก็เป็นการตั้งคำถามที่สื่อคำตอบได้ดี
1
เอาจริงๆ จุดนี้ไม่มีถูกหรือผิดเลย เพราะในเชิงการตลาด ศาสตร์แห่งการตั้งราคาก็เป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดมูลค่าสินค้าและบริการ เพราะถ้าตั้งราคาถูกไป ผู้บริโภคก็อาจจะรู้สึกได้ว่ามันไม่ดีจริง และถ้าหันไปเจอของแพงก็มักจะรับรู้ได้ว่ามันต้องมีเหตุให้แพง
ในทางกลับกันก็ไม่ได้แปลว่าของถูกและดีจะไม่มีอยู่เลย อาหารข้างทางอร่อยๆ กาแฟหลักสิบที่เป็นร้านลับซ่อนอยู่ ก็มีให้เราไปลองสัมผัส อย่างร้านกาแฟร้านหนึ่งที่ผมเคยไป ถามลุงบาริสต้าเจ้าของร้านว่าอะไรเป็น Signature ของที่นี่ ลุงยิ้มอ่อนด้วยความอบอุ่นกลับมาแล้วตอบว่า “ไม่มีหรอกครับ Signature เพราะทุกแก้วที่นี่ก็มีความพิเศษในตัวมันเองอยู่แล้วล่ะ 😊”
คล้ายๆ กับบาริสต้าเพื่อนใหม่ผมซึ่งเป้นเจ้าของ Slow Bar Coffee เคยกล่าวว่าบางทีความพิเศษของอาหารมันไม่ได้อยู่ที่เรา “กินอะไร” แต่ขึ้นกับว่า “กินกับใคร” ที่ไหนยังไงมากกว่า นั่นต่างหากหัวใจสำคัญของความธรรมดาที่พิเศษ
10. คนเราต่าง “กินเพื่ออยู่” และ “อยู่เพื่อกิน”
นับเป็นแก่นสำคัญที่หนังพยายามสื่อมาทั้งเรื่อง ว่าจริงๆ แล้วนิยามของการกินอาหาร เรากินเพื่ออยู่หรืออยู่เพื่อกิน เพราะอย่างที่เชฟพอลบอกว่าเมื่อปากท้องไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป คนเราย่อมแสวงหาอะไรที่ “พิเศษกว่า” มาเติมเต็มความหิวใหม่ๆ ใช่แหละมันมีกลุ่มคนไฮโซที่เขาเสพสุขกับอาหารระดับ Hi-End เป็นชีวิตจิตใจ
ขณะที่ยังมีคนอีกมากมายต้องมานั่งคิดว่าวันนี้จะกินอะไรดี พรุ่งนี้จะอยู่ยังไง ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมนับวันดูจะยิ่งขยายภาพใหญ่ขึ้นอย่างน่ากลัว เราในฐานะคนดูก็รับรู้ได้ผ่านภาพและบทพูดของตัวละครที่ใส่เข้ามาอย่างเข้มข้น เยอะจนล้นกลายเป็นรู้สึกเหมือนอิ่มแล้วยังถูกยัดเข้าปากต่อ แบบรู้แล้วล่ะ พอแล้ววว ไม่ต้องใส่เข้ามาอีก กลายเป็นรสที่ออกจะเดือดขมคอไปหน่อย
เพราะอีกมุมของชีวิตจริงนั้น เราไม่ได้ยอมลงทุนซื้ออาหารที่แพงขึ้น เพียงเพื่อการซื้อภาพลักษณ์บนโซเชียลซะทีเดียว หากแต่เรายอม “ซื้อความเสี่ยง” ว่าถ้าจ่ายในราคานี้ ย่อมหมายถึงการเพิ่มโอกาสการันตีว่าอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ จะอร่อย ถึงใจ ให้อะไรกลับมาอย่างคุ้มค่า
รวมถึงซื้อ “ประสบการณ์” ซื้อความทรงจำและช่วงเวลา ว่าบางทีเราก็อยากอิ่มอร่อยไปกับบรรยากาศดีๆ มีวิวทิวทัศน์ พร้อมสายลมพัดเบาๆ เคล้าเสียงดนตรีอันไพเราะจับใจ หรือบางทีเราก็ “ซื้อโอกาส” ที่จะได้เจอกลุ่มคนดีๆ สร้างคอนเนคชั่นต่อยอดทั้งงานและอะไรอีกมากมาย ถึงเราเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าได้เจอเพื่อนรวย มองเห็นอะไรเป็นช่องทางทำเงิน เขาก็ย่อมพาเราไปในทิศทางที่ดีด้วยเช่นกัน
เหมือนทำไมคนถึงชอบดื่มและไปนั่งชิลร้าน “Starbuck” เพื่อเสพบรรยากาศบางอย่าง ชวนผ่อนคลาย น่าทำงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบหมด เป็นการคัดเกรดว่าคนอื่นๆ ที่มาก็เป็นคนระดับที่ดี ไม่ใช่แค่ฐานะ แต่อาจหมายถึงการศึกษา การวางตัว
รวมถึงการซื้อโมเม้นต์แบบ “Personalize” แก้วกาแฟที่เขียนชื่อเราอยู่บนนั้น เติมความสุขและรอยยิ้มระหว่างวันได้ดี หรือทำไมคนถึงยอมจ่ายแพงเพื่อไปกิน “โอมากาเสะ” ทั้งที่ซูชิก็มีเกลื่อนตลาด เพราะเป็นร้านที่ได้ผ่านการยอมรับแล้วว่าคัดสรรวัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยมที่ “ดีที่สุด” ในแต่ละฤดูกาลมาให้
โดยมีการจำกัดลูกค้าในแต่ละรอบ บรรยากาศจึงค่อนข้างส่วนตัวไม่พลุกพล่าน ได้มาสัมผัสท่วงท่าลีลาอันประณีตของเชฟระดับสูงอย่างใกล้ชิด กว่าจะมาเป็นอาหารที่สำเร็จ เขาต้องทำยังไงให้ออกมาดีที่สุด คนไปกินแพงขึ้น เขาจึงไม่ได้ต้องการแค่รสชาติความอร่อย แต่มองถึงการดื่มด่ำสุนทรียภาพของการกินมากกว่า
เหมือนที่เชฟ Slowik ในหนัง The Menu บอกว่า “Do not eat. Taste!” หมายถึงโปรดอย่าแค่กินไปตามกายภาพ แต่ให้ดื่มด่ำกับรสชาติแบบลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ นั่นแหละคือคลาสของการบริโภคอย่างแท้จริง แบบใน Hunger ที่ครอบครัวนักธุรกิจยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้กินอาหารดีๆ ก่อนตาย นั่นก็สื่อแทนความหมายตรงนี้ได้ดี
เมื่อกินเพื่ออยู่ได้ดีขึ้น เราก็เลยอยากอยู่เพื่อกิน(ดีขึ้น)บ้าง
.
.
.
โดยรวมแล้วหนังไม่ได้ตีแผ่ด้านมือของวงการอาหาร แต่ชำแหละ “สันดาน” ของมนุษย์บางกลุ่มมากกว่า มนุษย์ที่พร้อมจะแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หิวกระหายความสำเร็จได้ไม่สิ้นสุดจนยอมทิ้งบางสิ่งบางอย่างออกไปเหมือนไม่เคยมีอยู่ และนำเสนอนิยาม “ความหิว” ออกมาในรูปแบบปลายเปิดให้คนดูได้ตีความกันหลายแบบ
เหมือนที่เชฟพอลบอกออยว่า “เป็นไง? ได้เป็นคนพิเศษสมใจ สนุกมะ? ต่อจากนี้คุณจะมีแต่คิดว่าจะลงจากยอดเขาเมื่อไหร่ คุณจะกอดมันไว้จนไม่รู้ว่าจะเสียอะไรไปบ้าง แต่ใจเย็น นี่แค่จุดเริ่มต้น คุณยังต้องเสียอะไรอักเยอะ นี่แหละ รสชาติของการเป็นคนพิเศษ” เพราะนี่คือกิเลสมนุษย์ที่หิวทะยานอยากได้อยากมีอยากเป็น พอได้แล้วอิ่มแล้วก็หิวต่อ ยิ่งพิเศษยิ่งน่ากลัว ยิ่งสูงยิ่งหนาวขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัจธรรม
ถึงตัวเรื่องจะยังมี “ช่องโหว่” รูเบ้อเริ่มอยู่อีกมาก โดยเฉพาะความสมจริงของชีวิตเชฟที่แอบเสียดาย เข้าใจว่าหนังคือความแฟนตาซีแต่ก็เป็นอะไรที่สร้างจากชีวิตจริง น่าจะเก็บรายละเอียดอีกหน่อย ทั้งการเก็บเผ้าผม สวมหมวก ล้างเล็บให้เรียบร้อย รวมถึงเชฟจริงเขาจะมีแมสพิเศษสำหรับทำอาหาร ไม่ให้น้ำลายหก ที่เสียดายยิ่งกว่าคือเราได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ ของหนังไทยที่ดีทั้งการแสดงและโปรดักชั่นแล้วล่ะ แต่มันยังได้อีก ยังอยากเคี้ยวให้ละเอียดขึ้นอีก
เพราะมันยังขาดรสที่จะช่วยเติมแก่นความเข้มข้นให้มันสุด ขาดเครื่องเคียงที่เป็น “เรื่องราวระหว่างทาง” ของเชฟออยมาช่วยชูรส เพิ่มดีกรีให้ Main Course มันสมเหตุสมผลขึ้นอีกหน่อย ว่ากว่าที่แม่ค้าผัดซีอิ๊วจะมาเป็นทีมเชฟระดับ Hi-End กว่าจะเปิดร้านแล้วดัง กว่าไปท้าชนกับนายเก่าได้ เธอต้องฝ่าด่านโหดหินอะไรมาอีกบ้าง มากกว่าจะไปเล่าของหวานที่ไม่ค่อยเกี่ยวอย่างฉากรักอันดูดดื่มที่ไม่มีก็ไม่เป็นไร
ถ้าขยายตรงนี้ออกมาได้สักครึ่ง ชม. - ชม. ก็เชื่อว่าคนดูพร้อมจะยอมใช้เวลาเพิ่มขึ้นกับเรื่องราว แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจได้ในเรื่องของการเพิ่มงบถ่ายทำและ man hour นั่นแหละครับ แอบเสียดายจริงๆ
เพิ่มอีกนิสในฐานะแฟนหนังที่ติดตามผลงานแสดงของ “ออกแบบ ชุติมณฑน์” มานานตั้งแต่ฉลาดเกมส์โกง, ฮาวทูทิ้งฯ, Faces of Anne ต่อมาที่ Hunger ก็นับว่าเธอเล่นได้ดีตามมาตรฐาน ส่งอารมณ์ผ่านสีหน้า แววตา อารมณ์ได้ดาร์คถึงใจไม่เปลี่ยน เพียงแค่แอบคิดว่าใจอยากเห็นเธอในรสชาติใหม่ๆ ที่ต่างจากภาพบทบาทสาวผู้โฉบเฉี่ยว เก่ง เคร่งขรึมสุด เชื่อว่าอนาคตในวงการอีกยาวไกล สักวันเราคงได้เห็นเธอในอีกมุมจริงๆ
ใดๆ ชอบการแสดงของ “คุณปีเตอร์ นพชัย” มากๆ ที่ส่งอารมณ์ได้ทรงพลังสุดๆ แสดงบทบาทไหนก็จะมีลายเซ็นความเป็นตัวเองอยู่ ถึงไม่เคยจับงานเชฟมาก่อน พอได้เล่นเป็นเชฟพอลก็โหด เถื่อน ดูเก่งสมบทบาทจนแอบรู้สึกกลัว อึดอัด เสมือนอยู่ในทีมเขาจริงๆ
สรุปแล้วไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายที่ “ชอบ” หรือฝ่าย “ไม่ชอบ” หนัง Hunger ก็ตาม การที่หนังสามารถสร้าง “Social Buzz” ให้คนมาถกเถียงเสียงแตกกันไปมา สร้างประเด็นมาต่อยอดคุยกันกันในโลกโซเชียลไม่มีหยุด จน FlixPatrol เว็บไซต์จัดอันดับคอนเทนต์สตรีมมิ่งจากแพลตฟอร์มทั่วโลกได้ระบุให้เป็นอันดับ 1 ของโลกในหมวดภาพยนตร์ทาง Netflix และที่แน่ๆ ผัดซีอิ๊วกับก๋วยเตี๋ยวผัดน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็นับว่า ผกก. และทีมงานประสบความสำเร็จสุดๆ เลยล่ะ
แล้วนิยามความหิวของเรา
จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป,,, 🔪🍽🍸
โฆษณา