20 เม.ย. 2023 เวลา 09:34 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ความรู้จากละคร “หมอหลวง”โดยอาจารย์แพทย์แผนไทย คมสัน ทินกร ณ อยุธยา

ผมเป็นแฟนละคร "หมอหลวง" คนหนึ่งที่ติดตามดูช่อง 3 จันทร์-อังคาร 20.30-22.00น.มาทุกตอน ดูมาตั้งแต่เรื่อง "ทองเอกหมอยาท่าโฉลง" นอกจากสนุก มีบทตลก ไม่กรี๊ดกร๊าดมากมายเหมือนเรื่องอื่นๆแล้ว ยังได้ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยเยอะเลย รู้สึกทึ่งในความรู้ความสามารถของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ขอขอบคุณผู้สร้าง ผู้จัดอย่างมาก  โดยเฉพาะท่านอาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา(อาจารย์แพทย์แผนไทย) ที่ร่วมแสดงด้วย และยังกรุณาให้ความรู้ลงใน Facebook ของท่านมาให้เราได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ผมขออนุญาตคัดลอกความรู้ที่ท่านเขียนตั้งแต่ Ep.7-9 มาแบ่งปันกันต่อนะครับ
ตัวยารสร้อน
- ว่าด้วยรสร้อน หมายถึงตัวยาทุกชนิดที่ส่วนใหญ่มักมีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ไพล กระทือ กระเทียม หอมแดง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู เป็นต้น ซึ่งล้วนมีกลไกในการออกฤทธิ์ไปที่รูปธาตุลม ช่วยกระจายกองลมทั้ง 6 กอง อันประกอบไปด้วย ลมขึ้นบน ลมลงล่าง ลมในไส้ ลมนอกไส้ ลมแล่นทั่วกาย และลมหายใจเข้าและออก เพื่อช่วยให้กองลมนั้นสามารถเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
อาหารรสร้อน
- รสร้อน หรือรสเผ็ด นับเป็นรสชาติหลักของอาหารไทย ด้วยเหตุที่ตั้งของประเทศนี้อยู่ในเขตลมมรสุม ผู้คนที่อาศัยอยู่ต้องพบกับความผันผวนของสภาพอากาศ ร้อนและเย็นกระทบกันเนืองๆ ทำให้เกิดเป็นลมขึ้น และรสร้อนนั้นช่วยกระจายกองลม จึงเป็นที่มาของรสชาติความร้อนในอาหารไทยนั่นเอง อาหารไทยจึงเป็นอาหารแห่งสายลม เป็นอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่คือคนไทย
หัตถการย่ำขาง
- เป็นหนึ่งในหัตถการตามมาตราฐานวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็นหัตถการที่หมอพื้นบ้านทางภาคเหนือทำสืบต่อกันมาอย่างยาวนานสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ มีคาถาคำเมืองกำกับการหัตถการ โดยใช้ขาง(ผาลไถนา) มาเผาไฟจนร้อนจัด เอาเท้าจุ่มในน้ำมันยาและไถเท้าลงบนขาง นำไปเหยียบตามร่างกายในบริเวณที่มีอาการเช่น เคล็ด ขัด ยอก ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดขา ตึงคอบ่าไหล่ ซึ่งมักเกิดกับผู้มีอาชีพทำนา ทำไร่เป็นพื้น
รหัสตำรับยาอายุวัฒนะ
- หึ่งอากาศ พาดยอดไม้ ไซร้ธรณี หนีสงสาร นิพพานบ่กลับ
- หึ่งอากาศ น้ำผึ้ง
- พาดต้นไม้  บอระเพ็ด
- ไซร้ธรณี หัวแห้วหมู
- นิพพานบ่กลับ ผักเสี้ยนผี
- นำมาบดผงปั้นเป็นลูกกลอน หรือนำไปดองเหล้าผสมน้ำผึ้ง ใช้รับทานบำรุงธาตุ ทำให้รับทานอาหารได้ ถ่ายได้ นอนหลับ และนั่นคือหัวใจของคำว่า “อายุวัฒนะ”
- ในรายละเอียดของสรรพคุณตัวยาแต่ละชนิดถ้าอยากทราบ แนะให้ปรึกษาได้กับแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ หรือตามสถานพยาบาลที่มีแพทย์แผนไทยประจำการอยู่
หมอทองคำถวายยาหอมพระองค์ชาย
- ยาหอมนั้นรสสุขุม ดีต่อระบบสมอง ระบบหัวใจ  และระบบทางเดินหายใจ เป็นตำรับยาสามัญใช้ประจำบ้านของคนไทยมานานแสนนาน สมัยก่อนหากรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว รู้สึกขัดแข้งขัดขา รู้สึกใจหวิวใจสั่น นอนไม่ใคร่หลับ กระสับกระส่าย จะหยิบยาหอมเข้าปากไว้ก่อน เสมือนเป็นยาคู่กายคู่ใจของคนไทย
การใช้กัญชาทำขนมทำอาหารให้ปลอดภัย
- ในปกติการปรุงอาหารหรือขนมของคนไทยก็ไม่ได้ใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบในการปรุงแต่อย่างใดทั้งสิ้น หากแต่ใช้รสมือต่างหาก เพราะใบกัญชานั้นมีรสเมาเบื่อ(คือมีความเป็นพิษแฝงอยู่) จะทราบได้ว่าแพ้หรือไม่ก็ต้องรับทานและในขนาดรับทานมากหรือน้อยด้วย ถึงจะทราบว่าแพ้หรือไม่แพ้ การใช้ใบกัญชามาประกอบอาหารหรือขนมจึงไม่เป็นที่นิยม ในละครนั้นเป็นบ้านหมอ ซึ่งพึงจะทราบวิธีการใช้ใบกัญชาว่าใช้เช่นใดในปริมาณเช่นใดจึงจะปลอดภัย แลใช้ในสถานการณ์ใดด้วย
* ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์แผนไทยก่อนนำไปประกอบอาหารหรือทำขนม เพื่อความปลอดภัย
ตัวยา “รากสามสิบ”
- เป็นความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงเพศชาย (ม้าสามต๋อย) หรือบำรุงเพศหญิง (สาวร้อยผัว)
- รากสามสิบนั้นมีสรรพคุณใช้ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำรุงเด็กในครรภ์ บำรุงตับปอด แก้ตับปอดพิการ บำรุงกำลัง และแก้กระษัย
การรักษาอาการทางจิตเวช
- หมอจะหาว่าเป็นเรื่องของนามมากระทบรูป หรือรูปไปกระทบนาม จากนั้นจึงไปเริ่มที่ผลมาหาเหตุจนไปมูลเหตุตามหลักว่าด้วยชาติเอกโทษ จะละนะทุวันโทษ พินนะตรีโทษ เป็นที่สุด
หัตถการบ่งต้อ
- เป็นหนึ่งในหัตถการตามมาตราฐานวิชาชีพ ของสภาการแพทย์แผนไทยใช้รักษาอาการทางสายตาโดยไม่ได้ไปกระทำที่ดวงตาแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่กลับไปกระทำที่แผ่นหลังแทน(ตามความรู้ในเรื่องแนวทางของเส้นประธานทั้งสิบซึ่งเป็นวิชาอยู่ในองค์ความรู้นี้) แพทย์แผนไทยที่สามารถกระทำหัตถการนี้ได้นั้น ต้องผ่านการขึ้นครูและเรียนรู้จากครูแล้วเท่านั้น(ยังไม่สามารถทำหัตถการนี้ได้ทุกท่าน) และเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการรักษาเท่านั้น (ละครเพียงแสดงให้เห็นถึงวิธีการรักษาในมาตรฐานวิชาชีพการแพทย์แผนไทย)
หัตถการวางปลิง
- ปรากฏในศิลาจารึกวัดโพธิ์ว่าด้วยแผนปลิง และเป็นหนึ่งหัตถการในมาตราฐานวิชาชีพของสภาการแพทย์แผนไทยด้วย แพทย์แผนไทยที่จะสามารถทำหัตถการนี้ได้ต้องผ่านการอบรมจากท่านครูที่มีทักษะและประสบการณ์เสียก่อนเท่านั้น ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกท่าน เพราะต้องศึกษาตั้งแต่ชนิดของปลิง วิธีการเลี้ยงปลิง วิธีการสำรอกเลือดปลิง และอื่นๆอีกมากมายนัก สามารถใช้รักษาอาการต่างๆดังปรากฏในศิลาจารึก
* (หมวดเวชศาสตร์ จำนวน 608 แผ่น มี 9 เรื่อง ได้แก่ ตำรายา แผนเส้น แผนฝี แผนปลิง แม่ซื้อ ลำบองราหู โองการปัดพิษแสลง อาธิไท้โพธิบาท  และโคลงภาพฤาษีดัดตน)
พระคัมภีร์ตักศิลา
- เป็นพระคัมภีร์ที่แพทย์แผนไทยต้องร่ำเรียน ว่าด้วยโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ ทำให้เกิดเป็นโรคระบาด ได้อย่างรวดเร็ว เช่นไข้รากสาด ซึ่งเป็นไข้กาฬชนิดหนึ่งมี 9 จำพวก ที่กล่าวถึงลักษณะของรอยโรค
ตำราพระโอสถพระนารายณ์ กล่าวถึง
- โรคระบบทางเดินอาหาร/โรคที่เกี่ยวกับเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และประสาท/โรคระบบทางเดินหายใจ/โรคตา/โรคติดเชื้อ/โรคและอาการไม่สบายอื่น ๆ แลมีตำรับยาพร้อมวิธีปรุงรวม 81 ขนาน
สัมพหุลาเหลือง
- คือหนึ่งในกรรมวิธีการปรุงยา ซึ่งเป็นความรู้ที่สืบทอดมาเฉพาะในแต่ละสำนักหมอเท่านั้น ไม่ใช่วิธีปรุงยาที่สอนกันโดยทั่วๆไป เป็นการนำหัวเชื้อยาเดิมมาหม่ายาจนมีราเหลืองขึ้น ใช้ในการปรุงตำรับยาเขียวขนานต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันกรรมวิธีนี้เกือบจะหายไปจนหมดสิ้นแล้ว
วิธีการรักษาอาการทางปิหกัง(ไต)
- สุดแล้วแต่หมอแต่ละท่านจะวินิจฉัยมูลเหตุ~ที่ทำให้เกิดเป็นเหตุ~ส่งผลให้เกิดเป็นอาการ ซึ่งเป็นการรักษาผู้ไข้เฉพาะแต่ละรายแม้มีอาการเช่นเดียวกัน ในละครได้สมมุติวิธีการรักษาไว้ว่า ให้วางยาลดอาการบวมน้ำเสียก่อน จากนั้นวางยาเข้าระบบปิหกัง พร้อมวางน้ำกระสายยาล้างระบบไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นตำรับยาบวรนาภี แลตำรับยามหาปัสสาวะพิษ พร้อมกระสายยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
ไข้ป่า
- เป็นไข้ติดเชื้อชนิดหนึ่ง เรียกไข้จับสั่น พระคัมภีร์ตักศิลาท่านจะให้กระทุ้งไข้เสียด้วยพิกัดเบญจโลกวิเชียร จากนั้นใช้หัตถการภายนอกเพื่อช่วยลดอาการไข้ลง
พิกัดเบญจโลกวิเชียร เป็นพิกัดกระทุ้งไข้
- ประกอบด้วยรากชิงชี่/รากหญ้านาง/รากท้าวยายม่อม/รากคนทา/รากมะเดื่อชุมพร
- สรรพคุณ ใช้กระทุ้งพิษต่างๆ หรือถอนพิษต่างๆ แก้ไข้ต้นมือ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต
หัตถการสระยา/พอกยา
- เป็นกรรมวิธีหนึ่งในมาตรฐานวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ใช้ลดกำเดาไอความร้อนส่วนบนศรีษะ โดยใช้ตัวยารสขมเป็นหลักเช่น ใบฟ้าทะลายโจร ใบสะเดา ลูกกระดอม เถาบอรเพ็ด เป็นต้น
น้ำมันนวดสุริยาจร
- มีตำรับน้ำมันใช้นวดมากมายคณา แต่ต่างสูตรสรรพคุณเดียวกันเสียโดยมาก ของแบบนี้ลางเนื้อชอบลางยา ดีของเราอาจไม่ดีของคนอื่น ดีของคนอื่นแต่อาจไม่ดีของเรา อย่างตำรับนี้เข้าชันจากต้นตะเคียนเป็นต้น
โฆษณา