25 เม.ย. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อสูงผลักชาวอเมริกันจมกองหนี้กันมากขึ้น

จากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจนธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาเพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อให้กลับลงมาสู่เป้าหมายที่ 2%
แม้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง และอัตราเงินเฟ้อก็ค่อย ๆ ทยอยลดลงมาอย่างช้า ๆ แต่ผู้บริโภคก็ยังคงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่จำเป็น
โดยจากข้อมูลของ Bankrate พบว่า หนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 46% จาก 39% ในปีที่แล้ว
และ 35% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมีหนี้บัตรเครดิตทุกเดือน เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปีก่อนหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น การที่หนี้เพิ่มขึ้น ยังมีอีกปัญหา คือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยูาในขณะนี้
ซึ่งอาจจะส่งผลต่อไปยังวงจรหนี้ที่ย่ำแย่ได้ ซึ่งจากข้อมูลของ Creditcards.com พบว่า ค่าเฉลี่ยของอัตรดอกเบี้ยบัตรเครดิตทั่วประเทศอยู่ที่ 20.04%
และจากข้อมูลของ Bankrate พบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีหนี้บัตรเครดิต คือ การใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ค่าบ้าน ค่ารถ หรือ การที่มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายในแต่ละวัน และ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้สถานการณ์แย่ลง
📌 ในเดือนกุมภาพันธ์ ชาวอเมริกันสร้างหนี้สูงเป็นประวัติการณ์
ในรายงานล่าสุดของ Federal Reserve สินเชื่อผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นอัตราหนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2022 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ภาระหนี้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ ยอดสินเชื่อหมุนเวียนของผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยยอดบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้น 5% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 12.7% ในเดือนมกราคม และเพิ่มขึ้น 8.4% ในเดือนธันวาคม
โดยหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นเวลาเกือบสองปี หลังจากลดลง 13% ในปี 2020 และหนี้เพิ่มขึ้น 9% ในปี 2021 และประมาณ 18% ในปี 2022 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงเป็นประวัติการณ์
หนี้บัตรเครดิตในหมู่ชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นเร็วกว่าหนี้ประเภทอื่น ๆ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับการจำนองและเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับ 1.7% และ 2.2%
ในเดือนธันวาคมและมกราคม ตามลำดับ
หนี้ผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น 34.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยรวมเป็นประมาณ 4.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้หลังหักภาษีทั้งหมดของชาวอเมริกัน
📌 คนอเมริกันเป็นหนี้มากขึ้นเมื่อพวกเขาใช้แอพซื้อตอนนี้จ่ายทีหลัง
ผู้บริโภคในสหรัฐฯ หันมาใช้สินเชื่อผ่อนชำระมากขึ้นเพื่อชำระค่าสิ่งจำเป็น เช่น ร้านขายของชำ
โดยเน้นย้ำถึงความยากลำบากที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 40 ปี
จากข้อมูลของสำนักสถิติแรงงาน ราคาของชำเพิ่มขึ้น 8.4% จากเดือนมกราคมถึงมีนาคม
และจากการสำรวจล่าสุดโดย LendingTree Inc. ชาวอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่งเคยใช้แอพ BNPL (Buy Now Pay Later) และประมาณ 1 ใน 5 ใช้แอพเหล่านี้เพื่อซื้อของชำ เงินให้กู้ยืมถูกใช้มาหมุนเวียนใช้จ่ายก่อนที่เงินเดือนจะออก
ตลาด BNPL เฟื่องฟูในช่วงที่เกิดโรคระบาด จากข้อมูลของ Consumer Financial Protection Bureau (CFPB) ผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุด 5 รายของประเทศให้สินเชื่อที่มีมูลค่า 24.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อยู่ที่จุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 BNPL ช่วยให้ลูกค้าสามารถกระจายการชำระเงินได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจแทนบัตรเครดิต และการเปิดตัว Apple Pay Later โดย Apple Inc. เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้มีบริษัทจำนวนมากเข้าสู่ตลาด
นอกจากนี้ผู้ใช้ BNPL โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนผิวดำหรือคนเชื้อสายฮิสแปนิกมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางการเงินจากแหล่งอื่นอยู่แล้ว ตามข้อมูลของ CFPB เกือบ 70% มีหนี้บัตรเครดิต และโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขามีเงินออมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้แอปในปีที่ผ่านมาประมาณ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา