28 เม.ย. 2023 เวลา 01:15 • การศึกษา

Ambassador for a day เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำถามที่ทุกคนต้องเคยถูกถามกันมาอย่างแน่นอน ซึ่งในวัยเด็ก เราอาจตอบคำถามนี้ไปตามรูปแบบเดิม ๆ อย่าง อยากเป็นหมอ อยากเป็นครู หรือ อยากเป็นนักผจญเพลิง และคงมีเด็กไม่่กี่คนที่ตอบว่า ‘อยากเป็นนักการทูต’
1
นักการทูต (Diplomat) หรือ เอกอัครราชทูต (Ambassador) อาจฟังดูเป็นอาชีพที่ค่อนข้างไกลตัวของใครหลายคน เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยได้รับพูดถึงในสื่อมากนัก นอกจากในละคร เช่น คุณชายปวรรุจ จากเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ที่เป็นภาพจำเกี่ยวกับ “นักการทูต” ของหลาย ๆ คน
วันนี้ ผมจึงอยากพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับงานของนักการทูตจริง ๆ ผ่านโครงการ “Ambassador For A Day เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต” ขององค์การสหประชาชาติ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้ และสัมผัสประสบการณ์ชีวิตนักการทูต จากการติดตามเอกอัครราชทูตหรือหัวหน้าหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ จากองค์การระหว่างประเทศทั่วประเทศไทย
“น้องยะห์” ซอฟียะฮ์ เจ๊ะซู นักเรียนชั้น ม.๕ จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Ambassador For A Day โดยน้องยะห์ได้รับมอบหมายให้ติดตามและเรียนรู้วิธีการทำงานในเรื่องต่าง ๆ จากอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
น้องยะห์เล่าว่า เธอสนใจเข้าร่วมโครงการ Ambassador For A Day เนื่องจากสนใจเรียนวิชารัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ โดยน้องยะห์มองว่า ช่วงมัธยมปลายเป็นเวลาสั้นมากและเป็นช่วงเวลาสำคัญในการค้นหาตัวเอง ที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งต้องรีบเร่งค้นหาตัวตนว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไรภายใน ๒ – ๓ ปี เพื่อตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางและอาชีพของพวกเขาตลอดชีวิตการทำงาน
น้องยะห์ นางสาวซอฟียะฮ์ เจ๊ะซู ผู้เข้าร่วมโครงการ Ambassador for a day
ช่วงมัธยมปลายเป็นเวลาสั้นมากและเป็นช่วงเวลาสำคัญในการค้นหาตัวเอง...เพื่อตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางและอาชีพของพวกเขาตลอดชีวิตการทำงาน
น้องยะห์ (นางสาวซอฟียะฮ์ เจ๊ะซู)
กว่าจะมาเป็น Ambassador For A Day
ผู้สมัครจะได้รับการคัดเลือกจากการออดิชั่นผ่านวิดีโอความยาวไม่เกิน ๓ นาที เพื่อแนะนำตัวและเล่าเรื่องที่ตนเองได้ช่วยสร้างหรือส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
สำหรับวิดีโอของน้องยะห์ เธอได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเธอต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาระหว่างหญิงและชายเธอมองว่าในหลายพื้นที่ ยังคงมีแนวคิดว่าการศึกษาจะต้องสงวนให้เฉพาะเพศชาย โดยมองว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาในระดับสูง เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วพวกเธอก็จะต้องเติบโตไปเป็นภรรยาและแม่
ทำให้ผู้หญิงถูกจำกัดบทบาทเพียงแค่แม่บ้าน (housewife) ที่มีหน้าที่ดูแลสามีและลูก เป็นเหตุให้ผู้หญิงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการศึกษาที่เล่าเรียนมาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
2
น้องยะห์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น เธอเชื่อว่า ไม่ว่าหญิงหรือชายควรได้รับโอกาสในการด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และผู้หญิงก็สามารถเป็นได้มากกว่าลูกสาว น้องสาว ภรรยา หรือแม่ และหากผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ก็จะช่วยเปิดโอกาสอีกมากมายให้ผู้หญิงได้เป็นในสิ่งที่พวกเธอออยากเป็นเนื้อความในวิดีโอนี้เองทำให้เธอได้รับคัดเลือกให้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการ Ambassador For A Day
1
ผู้หญิงก็สามารถเป็นได้มากกว่าลูกสาว น้องสาว ภรรยา หรือแม่ และหากผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ก็จะช่วยเปิดโอกาสอีกมากมายให้ผู้หญิงได้เป็นในสิ่งที่พวกเธอออยากเป็น
น้องยะห์ (นางสาวซอฟียะฮ์ เจ๊ะซู)
มาเป็น Ambassador For A Day ได้ทำอะไรบ้าง ?
ภารกิจของน้องยะห์คือการติดตาม นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีภารกิจแรกคือ การร่วมงานวันสตรีสากล ณ ที่ทำการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ร่วมกับเอกอัครราชทูตจาก ๗ ประเทศ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติอีก ๑๓ หน่วยงาน
น้องยะห์บอกกับเราว่านี่เป็นครั้งแรกเลยที่เธอได้เยี่ยมชมตึก UNESCAP และได้เข้าร่วมงานที่มีแขกสำคัญมากมายมายขนาดนี้ ทำให้เธอรู้สึกตื่นเต้นและยังรู้เป็นเกียรติอย่างมาก
บรรยากาศงานวันสตรีสากล ที่ UNESCAP
โดยปกติแล้วผู้เข้าร่วมโครงการ Ambassador For A Day จะมีโอกาสได้ติดตามเอกอัครราชทูตหรือผู้บริหารขององค์กรระหว่างประเทศเพียงแค่ ๑ วันเท่านั้น แต่น้องยะห์ได้รับโอกาสให้ทดลองเป็นนักการทูตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวันเป็น ๒ วัน เนื่องจากท่านอธิบดีกรมสารนิเทศ เห็นว่าเวลาเพียงแค่ ๑ วัน คงไม่จุใจเด็กสาวใฝ่รู้คนนี้อย่างแน่นอน
โอกาสพิเศษสำหรับอีก ๑ วันพิเศษ
นอกจากติดตามท่านอธิบดีกรมสารนิเทศเข้าร่วมการปฏิบัติงานและประชุมต่าง ๆ แล้ว เธอยังมีโอกาสได้เข้าร่วมงานเปิดตัวสารคดี ‘Deep South รู้ (สึก) ลึกถึงใจชายแดนใต้’ ซึ่งองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USAID) และสำนักข่าว THE STANDARD ร่วมกันจัดขึ้นอีกด้วย โดยสารคดีนี้พาผู้ชมไปสำรวจวิถีชีวิตและจิตใจของผู้คนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในฐานะเยาวชนจาก จ.ปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ น้องยะห์บอกว่าเธอประทับใจสารคดีนี้เพราะช่วยให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คน ความฝันของคนรุ่นใหม่ และมุมมองต่อพื้นที่ของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้
บรรยากาศงานเปิดตัวสารคดี ‘Deep South รู้ (สึก) ลึกถึงใจชายแดนใต้’
ประสบการณ์ที่ได้รับ
ก่อนมาร่วมโครงการน้องยะห์ไม่แน่ใจเลยว่านักการทูตนั้นทำงานอะไรบ้าง ตอนนี้เธอรู้แล้วว่านักการทูตเป็นผู้ที่ต้องทำงานหลากหลาย ไม่ใช่เพียงการจิบไวน์และพูดคุยกับผู้คนตามงานสังคมเหมือนในละคร หน้าที่ของนักการทูตครอบคลุมตั้งแต่การเข้าร่วมประชุม การหารือ การเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ กล่าวคือ ผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทุกคน รวมถึงงานด้านการบริหารอีกด้วย ทั้งการบริหารองค์กรและการบริหารทรัพยากรบุคคล
น้องยะห์บอกกับเราว่า เธอได้รับประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งตลอดระยะเวลา ๒ วัน เพราะมันทำให้เธอเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นอีกหนึ่งก้าว เธอยังบอกกับเราอีกว่า แม้เธอจะไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางสายตรงสู่การเป็นนักการทูตนั้นจะเป็นเป้าหมายสุดท้ายในการสอบยื่นเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยของเธอหรือไม่ แต่เธอสัญญากับเราว่าคณะดังกล่าวจะอยู่ในอันดับแรก ๆ ในระบบ TCAS ของเธออย่างแน่นอน
เธอได้รับประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งตลอดระยะเวลา ๒ วัน เพราะมันทำให้เธอเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นอีกหนึ่งก้าว
(ซ้าย) นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ (ขวา) นางสาวซอฟียะฮ์ เจ๊ะซู ผู้เข้าร่วมโครงการ Ambassador For A Day
สุดท้ายนี้ ผมอยากบอกกับผู้อ่านทุกท่านว่า หากเรายังตามหาความฝันของเราไม่เจอ ก็ไม่ได้หมายความว่า เรานั้นล้มเหลว เพราะยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังคงค้นหาเส้นทางชีวิตของตนเองอยู่เช่นกัน แต่จงเชื่อมั่นในการให้ “โอกาส” ตัวเองค้นหาความฝันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งและมุ่งมั่นทำมันให้เป็นจริง เช่นเดียวกับน้องยะห์ครับ
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา