27 เม.ย. 2023 เวลา 07:38 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเอกชัย

การดูแลสุขภาพในช่วงฝนตกตามแบบฉบับของแพทย์แผนจีน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกบ่อย และหากพูดถึงฤดูฝนแล้ว แพทย์แผนจีนได้มองว่ามีความเกี่ยวข้องกับ “ความชื้น” ซึ่งได้จัดอยู่ในส่วนของพลังยิน และถือเป็นปัจจัยก่อโรคที่มาจากภายนอกชนิดหนึ่ง
☔ “ความชื้น” มีผลกระทบต่อร่างกายเราอย่างไร ?
“ความชื้น” จะมีลักษณะหนัก พลังลงด้านล่าง จึงทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. ทำลายพลังหยาง จึงทำให้ร่างกายสูญเสียพลังความร้อน
2. ทำให้เกิดสภาพที่รู้สึกว่าร่างกายหนักๆ เนื่องจากความชื้นสามารถทำให้การไหลเวียนชี่ติดขัด เกิดความหนืด เกาะแน่น และทำให้เกิดการตกค้างของของเสียในระบบย่อยอาหารได้
3. หากมีอาการเจ็บป่วยร่วมด้วยในช่วงนี้ อาการเจ็บป่วยจะหายยาก เนื่องจากการกระจายตัวของพลังชี่ทำได้ไม่ดี และมักทำให้การขับปัจจัยก่อโรคออกไปได้ยากขึ้น
4. อากาศที่เย็นชื้น มักกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย เนื่องจากสามารถทำลายพลังปอดและปัจจัยก่อโรคยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้
✧ อาการแบบใดที่บ่งบอกถึงภาวะที่ร่างกายถูกความชื้นมากระทบ
☺รู้สึกไม่ค่อยสดชื่น มึนๆงงๆ ตัวหนักๆ รู้สึกหนักๆศีรษะ หนักแขน-ขา
☺ท้องอืด เบื่ออาหาร
☺รู้สึกไม่กระหายน้ำ
☺มีเสมหะในคอ หรือรู้สึกคอเหนียวๆ
☺ปัสสาวะน้อย หรืออาจมีลักษณะขุ่น
☺อุจจาระเหลว หรือมีเศษอาหารเหมือนอาหารไม่ย่อย
☯ วิธีการดูแลตนเองทำได้อย่างไรบ้าง ?
1. หลีกเลี่ยงการโดนฝนหรือแช่อยู่ในที่ชื้นแฉะ หากร่างกายเปียกหรือเสื้อผ้าอับชื้น ควรรีบอาบน้ำ เช็ดตัวให้แห้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
2. ไม่ควรนอนหลับขณะที่ผมยังไม่แห้ง
3. ห้องนอน ห้องทำงาน ควรเปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องได้
4. เสื้อผ้า ผ้าปูเตียงและผ้าห่ม ควรนำไปผึ่งแดดบ้าง
5. หลีกเลี่ยงการนั่ง หรือ นอนที่พื้นบ้าน พื้นปูน พื้นกระดานโดยตรง เนื่องจากเป็นที่มักเก็บความชื้น
6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผักสด อาหารดิบ รวมถึงน้ำเย็น น้ำแข็ง น้ำมะพร้าว แตงโม เป็นต้น หากต้องการทานอาหารเหล่านี้ควรที่จะมีการปรับสภาพอาหารให้มีฤทธิ์ร้อนขึ้น โดยการปรุงให้สุก โดยใช้วิธีการผัด ต้ม นึ่ง หรือรวมถึงการเติมขิง กระเทียม พริกไทย
7. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน หนืด
8. ในช่วงที่ร่างกายถูกความชื้นมากระทบ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์บำรุงม้าม ขับความชื้นได้ เช่น หอยเป๋าฮื้อ หอยขม ข้าวฟ่าง ข้าวโพด แครอท ฟักเขียว ลูกเดือย แอปเปิล เม็ดบัว ถั่วเขียว หอมหัวใหญ่ ขิงแห้ง เป็นต้น
บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลเอกชัย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่แผนกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย 🏥
☎️โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201
โฆษณา