29 เม.ย. 2023 เวลา 12:54 • ประวัติศาสตร์

ปลายแปรง เพื่อแรงงาน การเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานในเม็กซิโก ผ่านงานศิลปะ

เบื้องหลังความสำเร็จนั้น นอกจากผู้นำที่เป็นตัวเอกและเป็นตัวแทนของประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่อาจขับเคลื่อนได้หากปราศจากผู้คนที่ทำงานเบื้องหลัง
All about history เสาร์นี้ ต้อนรับวันแรงงานด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานเม็กซิกัน ผ่านงานศิลปะจากศิลปินหญิงเลื่องชื่อซึ่งอุทิศทั้งชีวิตของเธอ สร้างงานศิลปะเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องแรงงานชาวเม็กซิกัน Frida Kahlo
ในแต่ละประเทศนั้นย่อมมีคุณค่าที่มอบให้แก่สิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน หากสังเกตง่ายๆ บนธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ท่านเองก็มีบุคคลที่มีคุณค่าในด้านต่างๆถูกเลือกขึ้นมาแสดงเพื่อเป็นเกียรติในหลายๆสิ่ง เช่น ในสหราชอาณาจักร ได้เลือกนักเขียนชื่อดังยุควิคตอเรียอย่าง เจน ออสเตน และ อลัน ทัวร์ริง นักคณิตศาสตร์ผู้ไขรหัสลับนาซีได้สำเร็จ เพื่อเป็นการยกย่องสิ่งที่บุคคลเหล่านี้มอบมรดกทางปัญญาให้แก่สังคม
และสามารถตีความได้ว่า สหราชอาณาจักรนั้น ให้คุณค่าแก่สมบัติทางปัญญา ทัดเทียมกับการให้คุณค่าผู้นำและกษัตริย์ที่ถูกแสดงบนธนบัตรใบอื่นๆ
ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือเองก็มีประเทศแห่งหนึ่งซึ่งมีศิลปะอันทรงคุณค่า วัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การรักษา และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานมาอย่างยาวนาน บนธนบัตรของประเทศเม็กซิโกนี้เองได้มีการแสดงรูปของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ เธอแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส เป็นอันง่ายต่อการจดจำ มากกว่าการเป็นศิลปินหญิงรูปลักษณ์สะดุดตา
เบื้องหลังผลงานของเธอมีอะไรที่ลึกล้ำ และมีคุณค่าต่อสังคมมาจนถึงปัจจุบัน จนถูกเลือกขึ้นมาให้เป็นหญิงที่ทรงอิทธิพลบนธนบัตรเม็กซิโก
📌 การปฎิวัติและจุดเริ่มต้น
จุดเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิของแรงงานเม็กซิกันนั้นได้รับแรงบันดาลใจอันแรงกล้ามาจากการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 แนวความคิดแบบคอมมิวนิสต์ ที่ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคของทุกคน รวมถึงแรงงานก็ได้ส่งผ่านมาถึงประเทศเม็กซิโกจากหลักฐานการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเม็กซิโกเมื่อปี 1919 (หลังการปฏิวัติรัสเซีย 2 ปี)
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของแรงงานในช่วงที่อิทธิพลของลัทธิมาร์กซิสในช่วงเข้มข้น ที่จะนำมาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิต่อไปอีกร่วมหลายสิบปีในหน้าประวัติศาสตร์เม็กซิโกหลังจากนั้น
📌 กำเนิดแรงบันดาลใจ
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองสุดวุ่นวายของการประท้วงความไม่ยุติธรรมของระบอบสามานย์ของนายพล ฟอร์ฟิริโอ ดิอาซ (Porfirio Diaz) เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฟริดา คาโลได้ลืมตาดูโลก ช่วงชีวิตของศิลปินหญิงคนนี้
นอกจากเรื่องราวเจ็บปวดมากมาย ยังมีเรื่องราวทางการเมืองที่เธอมักจะนำมาใส่ในงานเสมอ ฟริดา จึงเป็นดั่งผู้จดบันทึกเหตุการณ์ผ่านฝีแปรงและสีที่สดใส นั่นทำให้งานศิลปะทุกชิ้นของเธอคงคุณค่ามากกว่าความสวยงาม เมื่อครั้งเธอยังเด็ก เธอได้เห็นความยากแค้นของแรงงานและความไม่เสมอภาคมากมายที่หล่อหลอมให้เธอมีความเห็นใจและตั้งคำถามถึงหนทางการแก้ไขความยากแค้นในชนชั้นล่าง จนกระทั่งเธอค้นพบแนวคิดที่ตอบโจทย์เธอ
📌 เข้าร่วม
ในช่วงก่อนการปฏิวัติเม็กซิโก ได้มีการขับเคลื่อนทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่รัสเซีย จากการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์เปลี่ยนสู่ระบอบสังคมแบบคอมมิวนิสต์เป็นประเทศแรก เป็นแรงกระเพื่อมทางความคิดที่ส่งไปไกลในหลายๆดินแดนให้เริ่มมีการตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานให้ดีขึ้น
ฟริดา ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้ หลังจากที่เธอเคยได้รับการรักษาในโรงบาลสำหรับรักษานักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เธอจึงยิ่งรู้สึกผูกพันมากขึ้นเมื่อได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่สนสับสนุนความเสมอภาค จึงได้แรงบันดาลใจในการเก็บบันทึกแนวคิดต่างๆไว้ในงานศิลปะ รวมถึงเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เม็กซิโก เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อสิทธิแรงงาน
📌 ผลงานของฟริดาและความเชื่อมั่นในคอมมิวนิสต์
ภาพวาดนี้มาจากแรงบันดาลใจของฟริดาเมื่อครั้งไปเยือนอเมริกากับสามี ฟริดาไม่ได้รู้สึกสำราญกับมหานครที่มีแต่ตึกสูงและอุตสาหกรรม กลับกัน เธอรู้สึกว่าการเพิ่มพูนของตึกและโรงงานเป็นสิ่งที่กลืนกินชีวิตของคนอย่างช้าๆ เธอฉายภาพของตัวเธอ ยืนอยู่ระหว่างพรมแดนเม็กซิกันและอเมริกา เปรียบคือชาวเม็กซิโกที่เคยเยือนประเทศที่มีระบบทุนนิยมมา
โดยทางขวามือจะเป็นการสื่อถึงเมกาตรงที่มีตึกสูง เทคโนโลยีทันสมัยและสภาพเมืองที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพราะต้องการตอบสนองระบบทุนนิยม ที่เน้นการผลิต การขาย และตัวเงินเป็นสำคัญ เครื่องจักรที่เป็นตัวแทนของทุนนิยมกำลังคืบคลานไปหาเม็กซิโกที่ถูกวาดแทนด้วยแดนแห่งพืชนานาพรรณ แปลว่าเทคโนโลยีกำลังจะกลืนกินสิ่งมีชีวิตจนเหี่ยวแห้ง เธอเชื่อว่าลัทธิทุนนิยมเป็นสิ่งที่กำลังจะรุกรานกลืนกินวัฒนธรรมอันดีงามบ้านเกิดของเธอเม็กซิโกจนสิ้นและผู้คนจะต้องตกเป็นทาสภายใต้ระบบนี้
มากกว่าความเชื่อที่แรงกล้าเกี่ยวกับสังคมที่เท่าเทียม ฟริดา คาโลยังมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับผู้มีแนวคิดสายปฏิวัติหลายคน หนึ่งในนั้นรวมถึง เลออน ทรอตสกี สมาชิกระดับสูงของพรรคบอลเชวิคที่อพยพมา ณ เม็กซิโกในช่วงปฏิวัติ เลออน ทรอตสกีเป็นชายที่มีอิทธิพลในเรื่องการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสอย่างเข้มข้นและมีส่วนผลักดันการประท้วงของแรงงานหลายครั้งในประวัติศาสตร์เม็กซิโก ในภาพแสดงถึงไมตรีที่ฟริดา คาโลมีให้เลออนในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์และเห็นเลออนเป็นต้นแบบที่เธอนับถือ
อุดมการณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่คอยผลักดันตัวฟริดาให้ทำผลงานศิลปะของเธอ ภาพนี้คือการตีความว่ามาร์กซิสต์มีสำคัญแต่เธอแค่ไหน โดยสามารถสังเกตได้จากพื้นหลังของรูปที่มีทั้งการที่มีมือของคาร์ล มากซ์กำลังโอบกอดเธออยู่ สื่อถึงการที่ชีวิตเธอนั้นได้รับการปกป้องและรักษาโดยมาร์กซิสต์ ทั้งตอนเด็กที่เธอได้รักการรักษาในโรงพยาบาลในระบบมาร์กซิสต์ และเธอยังเชื่อว่าถ้ามาร์กซิสต์สามารถรักษาเธอได้ มาร์กซิสต์ก็สามารถรักษาคนอื่นได้เช่นกัน
ถึงแม้ว่า ตัวของเธอจะยึดมั่นในแนวคิดคอมมิวนิสต์ แต่เธอก็มีความเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงนั้นควรจะทำเพื่อความเสมอภาคของประชาชน แต่ในโซเวียตที่เป็นเมืองต้นแบบแนวคิดนี้กลับตีความและปฏิบัติต่อแรงงานต่างออกไป ภาพของฟริดา เคียงคู่กับสตาลินไม่ได้มีความหมายถึงการปลาบปลื้ม
แต่เป็นการแสดงออกในเชิงเสียดสี ถึงความเกลียดชังต่อระบอบคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสตาลิน อีกทั้งสตาลินยังเป็นผู้ก่ออาชญากรรม ฆ่าเข็ญประชาชนมากมายเพื่อการคงอำนาจของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่แท้จริงแม้แต่น้อย รูปนี้เองเป็นผลงานสุดท้ายของเธอที่ฝากไว้แก่สังคมเม็กซิโก ให้ตระหนักถึงการคำนึงต่อบุคคลส่วนรวม และตระหนักถึงการหลงระเริงในอำนาจที่จะเป็นตัวทำลายอุดมการณ์เพื่อพี่น้องในชาติของเธอ
📌 ความตายและคุณค่าทางสังคม ทำไมแรงงานถึงรักฟริดา?
ถึงแม้ตัวจะตายแต่ผลงานของเธอนั้นยงคงมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่ฟริดานั้นเติบโตมาอย่างยากลำบากเพราะโรคโปลิโอที่เธอเป็น มันจึงทำให้เธอขาไม่เท่ากัน และท่ามกลางการปฎิวัติประเทศจากผู้นำเผด็จการ นั่นจึงทำให้เธอฉุกคิดได้ในวัยเด็กว่า ทำไมทุกคนถึงเท่าเทียมกันไม่ได้ ทำไมจึงต้องมีการแบ่งแยก และหลังจากนั้นเธอก็ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนต้องทำให้เข้ารับการรักษาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
เธอก็ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลในการควบคุมของระบบมาร์กซิสต์ที่รักษาทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่สนว่าจะมีฐานะอย่างไร นั่นจึงทำให้เธอหลงรักในระบอบคอมมิวนิสต์และนำอุดมการณ์ของเธอมาตีความลงผืนผ้าใบ จนกลายเป็นภาพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นั่นเอง
โดยนอกจากผู้คนต่างรักและยกย่องเธอในฐานะนักรณรงค์ความเสมอภาคแล้ว เธอยังเป็นผู้ที่ผลักดันความคิดแนวสตรีนิยมที่มีชื่อเสียง ณ สมัย นั้นอีกด้วย นั่นจึงทำให้เธอเป็นที่รักของทั้งชาย หญิง และกลุ่ม LGBTQ+ ในปัจจุบัน เพราะนอกจากที่เธอยังสนับสนุนความเท่าเทียมทางด้านการเมืองแล้ว เธอยังสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย นั่นจึงทำใ้ห้ผู้คนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพต่างหลงรักในตัวผู้หญิงคนนี้
ผู้เขียน : นัยนา ภูมิลำเนา, ชินกฤต สุขสมปรารถนา Content creator Intern, Bnomics
ภาพประกอบ : พันกร อรียพิพัฒน์ Graphic Design Intern, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา