Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มองสมานในสามานย์
•
ติดตาม
30 เม.ย. 2023 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
ตอนที่ 1: การก่อตัวจากหลากที่มาสู่การสิ้นกรุงศรีอยุธยา
1.
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณผืนแผ่นดินใหญ่ (ในรูป) มีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากมีอากาศร้อนผนวกกับความชุ่มชื้นสูง ทำให้มีป่าชัฏทึบที่หลากหลาย มีสัตว์ป่าหลากชนิดอยู่อาศัยได้ดีกว่ามนุษย์ ซึ่งมีเพียงน้อยนิด
2.
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เพิ่มขึ้นเมื่อประมาณ 4 พันปีก่อน หลังจากคนกลุ่มใหม่ (จากวัฒนธรรมมอญ-เขมร) ได้นำเทคนิคการปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ และการผลิตเครื่องใช้จากโลหะเข้ามาในภูมิภาค และเข้าไปอาศัยตามฝั่งแม่น้ำจนไปถึงเขตที่ราบสูง เนื่องจากชำนาญเรื่องเก็บกักน้ำในบารายเพื่อการเพาะปลูก
3.
ต่อมา (ประมาณเกือบ 3 พันปีที่แล้ว) การรุกรานของกองทัพฮั่นก็ได้ทำให้ผู้คนจากวัฒนธรรมอีกสายหนึ่ง (ตระกูลไท) จากตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ได้เคลื่อนลงมาผ่านหุบเขาทางด้านเหนือ ชาวไทกลุ่มนี้ได้กระจายไปตามวงแหวนครอบคลุมพื้นที่กว้างมหาศาลจากทิศตะวันออก (แคว้นกวางซี) ไปจรดตะวันตก (ที่ราบแม่น้ำพรหมบุตร) โดยเน้นเลือกแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบแอ่งภูเขา เพราะมีธารน้ำที่ไหลลงจากภูเขาให้เพาะปลูกได้ แถมยังมีทำเลที่เหมาะต่อการปกป้องตนเองจากจีนฮั่น
4.
การติดต่อค้าขายกับอินเดียเมื่อ พ.ศ. 400 ได้ทำให้มีการปรับเอาความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับการอยู่ในเมือง การกักเก็บน้ำ การก่อสร้าง ศาสนา และการปกครองมาช่วยสร้างชุมชนเมือง ระบบรัฐ และระบบกษัตริย์ จนเป็นเมืองหลวงอันวิจิตรที่เมืองพระนคร (นครวัด) จนกลายเป็นแบบอย่างให้แก่เมืองอื่นในบริเวณที่ราบสูงโคราชและลุ่มน้ำเจ้าพระยา
5.
แต่ถึงกระนั้น ประชากรของย่านนี้ก็ยังเบาบางเพราะเป็นบริเวณที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม นอกบริเวณที่ราบตามริมฝั่งแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเลจึงยังคงเป็นป่าทึบจนเมื่อ 2-3 ร้อยปีมานี้เอง ทำให้มีที่ว่างเสมอสำหรับผู้อพยพมาใหม่ ทั้งชาวกะเหรี่ยงที่มาตั้งรกรากบนภูเขาด้านทิศตะวันตก ชาวมอญที่ตามกลุ่มแรกๆ เข้ามาเป็นระยะๆ ชาวมาเลย์ล่องเรือมาจากเกาะต่างๆ ของมลายูเข้ามาอาศัยบริเวณด้ามขวาน รวมถึงชาวจีนที่อพยพมาอาศัยตามเขตชุมชนเมืองท่ารอบๆ อ่าวไทยจนไปถึงทิศใต้
6.
สภาวะประชากรเบาบางยังทำให้ผู้ที่มาก่อนตั้งตนเป็นเจ้าที่ดินเพื่อจัดการพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งยังต้องแย่งชิงคนเพื่อสร้างเมือง ป้องกันเมือง ทำนา ผลิตของมีค่า และให้เป็นบริวาร เมื่อชุนชนขยายใหญ่และมีความซับซ้อน เจ้าที่ดินจึงผันตัวเองเป็นผู้ปกครองมากขึ้น มีเมืองเหล่านี้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่พัฒนาต่อไปเป็นเมืองใหญ่ เพราะปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากการมีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น รวมถึงถูกโจมตีเพื่อแย่งชิงผู้คนและทรัพย์สิน
7.
ตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 950 เจ้าที่ดินที่ต้องการเป็นใหญ่เริ่มตีเอาเมืองใกล้เคียงเข้ามารวมกันเป็นกลุ่มเมือง ก่อตัวขึ้นโดยยึดโยงกันตามลุ่มแม่น้ำเป็นแหล่งๆ ไป ผู้คนถูกกวาดต้อนให้มาช่วยสร้างเมืองที่มีชัย และมักเชิดชูศาสนาพุทธที่เข้ามาแพร่ขยายในย่านนี้ก่อนหน้าแล้ว ร่วมกับการบูชาเทพเจ้าของอินเดีย (ศาสนาพุทธเถรวาทจากศรีลังกาเพิ่งเข้ามาในย่านนี้เมื่อประมาณ พ.ศ. 1700) เมืองใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาค่อยๆ พัฒนาเป็นศูนย์กลางอำนาจของกลุ่มเมืองย่อย
8.
เมืองใหญ่ทางทิศเหนือคือเชียงใหม่ ซึ่งพระยามังราย (เจ้าชายไทที่มีเชื้อสายมอญ-เขมร) สถาปนาขึ้น ณ แคว้นริมแม่น้ำปิงเมื่อ พ.ศ. 1839 จนเจ้าเมืองรุ่นต่อๆ มา ได้สร้างสายสัมพันธ์ไปทางตะวันออกจรดแม่น้ำน่าน และไปทางเหนือข้ามแม่น้ำโขงตอนบนขึ้นไป เรียกว่าอาณาจักรล้านนา (ส่วนพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางไปด้านทิศตะวันออกเป็นอาณาจักรล้านช้าง)
9.
เมืองใหญ่ตามเชิงเขาเหนือพื้นราบของลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือสุโขทัย ซึ่งพระร่วงเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 1781 เพื่อให้เป็นเมืองพุทธ ต่อมาจึงย้ายไปที่พิษณุโลกเนื่องจากเป็นชัยภูมิที่เหมาะต่อการป้องกันการถูกรุกรานจากเมืองใหญ่อื่น เรียกขานย่านนี้ว่าอาณาจักรเมืองเหนือ
10.
กลุ่มเมืองทางด้านล่างของแม่น้ำในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาและรอบๆ ชายทะเลด้านบนของอ่าวไทยถูกสถาปนาขึ้นภายใต้อิทธิพลเขมรเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16-17 มีสี่เมืองใหญ่คือเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และอยุธยา หลังต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่ ตระกูลผู้นำของเมืองอยุธยาได้ผงาดขึ้นมาเหนือเมืองอื่นในย่านนี้ ที่ชาวจีนเรียกว่าเสียน - Xian (และชาวโปรตุเกสเรียกเพี้ยนไปเป็นสยาม - Siam)
11.
ตั้งแต่ พ.ศ. 1900 อาณาจักรที่ผงาดขึ้นมาในบริเวณรอบๆ ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่ง (ล้านนา ล้านช้าง เมืองเหนือ เสียนหรือสยาม) ได้เริ่มก่อสงครามเพื่อพยายามแย่งชิงความเป็นใหญ่ แต่อาณาจักรผู้ชนะก็ไม่สามารถยึดเมืองขึ้นไว้ได้นานเนื่องจากความห่างไกล
12.
แต่ด้วยชัยภูมิของเมืองอยุธยาที่เหมาะแก่การค้า ทั้งกับจีนด้านทิศตะวันออก อินเดียและอาหรับด้านทิศตะวันตก และหมู่เกาะมลายูด้านทิศใต้ อยุธยาจึงร่ำรวยขึ้น และแผ่ขยายอำนาจไปยัง เมืองเหนือ ได้สำเร็จ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะอำนาจทางทหาร แต่เป็นการควบรวมอย่างแยบยลผ่านกลไกทางสังคมและวัฒนธรรม จนเป็นราชธานีและศูนย์อำนาจของที่ราบลุ่มเจ้าพระยา
13.
ถึงขนาดที่ชาวโปรตุเกส (ที่เดินทางเข้ามาในเสียนในปลายพุทธศตวรรษที่ 21) ได้กล่าวขานถึงอยุธยาว่าเป็นหนึ่งในสามเมืองมหาอำนาจของเอเชีย คู่เคียงกับจีนและวิชัยนคร (ที่อินเดีย) ส่วนล้านนาและล้านช้างก็พยายามสร้างสัมพันธ์กับทุกๆ ศูนย์อำนาจเพื่อถ่วงดุลกันระหว่างอยุธยา จีน ญวน และพม่า
14.
เมื่อพูดถึงพม่า ก็ต้องเสริมด้วยว่า พม่าและอยุธยาเป็นสองขั้วอำนาจใหญ่ในภูมิภาค จึงมีการทำสงครามระหว่างกันเป็นประจำ โดยที่ต่างฝ่ายก็พยายามขยายอาณาจักรของตน แต่ก็ไม่มีรัฐใดที่ชนะได้เด็ดขาด ผลัดกันเป็นเมืองขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น จนราวๆ พ.ศ. 2150 สงครามระหว่างสองรัฐก็ยุติลง เมื่อมีการจัดสรรอำนาจกันลงตัว โดยที่พม่ามีอิทธิพลเหนือดินแดนระหว่างอังวะมาจนถึงไทยใหญ่ ล้านนา ล้านช้าง และสิบสองปันนา ส่วนอยุธยามีอำนาจครอบคลุมเขตชายฝั่งจากด้านคอขวานแหลมทองไปจรดทิศตะวันออกที่เขมร
15.
ในพุทธศตวรรษที่ 22-23 อยุธยาได้กลายเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม เพราะมีผู้คนหลากหลายมาตั้งถิ่นฐาน ทั้งจีน ญวน จาม มอญ โปรตุเกส อาหรับ อินเดีย เปอร์เซีย ญี่ปุ่น มาเลย์ ดัตช์ กรีก อิตาเลียน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เพื่อแย่งส่วนแบ่งการค้าในภูมิภาคที่ปลอดสงคราม ราชสำนักอยุธยาก็ได้พยายามใช้ประโยชน์จากผู้คนเหล่านี้ในระบบราชการเพื่อทำให้อาณาจักรมีความเป็นเมืองสากลมากขึ้น
16.
ในขณะเดียวกันราชสำนักก็ได้ยกสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นดั่งเทวะ โดยอ้างการสืบสายสัมพันธ์ไปถึงกษัตริย์สมัยนครวัดที่เปรียบเสมือนตัวแทนของเทพเจ้าฮินดู และสร้างวัดโดยอิงแบบแปลนของนครวัด เพื่อให้เป็นที่สถิตของทั้งเทวะและกษัตริย์ และรับพราหมณ์เข้ามาช่วยวางแผนและประกอบพิธีกรรมในวัง
แต่เทพเจ้าฮินดูไม่ได้รับความนิยมนอกวังมากนัก (นอกจากพิธีกรรมในการตั้งศาลพระภูมิ) ราชสำนักจึงพยายามยึดโยงเอาอิทธิฤทธิ์ของผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีปฏิบัติในพุทธศาสนาแนวเถรวาทเพราะได้รับความนิยมสูง
17.
ดังนั้นพระสงฆ์ในเถรสมาคมจึงมีอำนาจต่อรองมากขึ้น (พุทธเถรวาทให้ความสำคัญกับพระสงฆ์และวัตรปฏิบัติ) ว่าฝ่ายใดจะมีบทบาทเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมือง เช่น วิกฤตใน พ.ศ. 2231 พระสงฆ์ได้จัดตั้งกลุ่มฆราวาสให้จับอาวุธเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อสายของพระนารายณ์เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เพราะพระนารายณ์ทรงอุปถัมภ์พราหมณ์มากกว่าพุทธ และราชสำนักก็เต็มไปด้วยขุนนางมุสลิมและคริสเตียน วัดวาอารามจำนวนมากในอยุธยาจึงถูกสร้างขึ้นหลังยุคสมัยของพระนารายณ์
18.
ขุนนางและพระสงฆ์พยายามแสวงหาอำนาจที่จะมากำกับพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา จึงรับเอาอัคคัญญสูตรมาเป็นกฏเกณฑ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ ที่บอกว่า ผู้คน (ซึ่งหมายถึงกลุ่มขุนนาง) รวมตัวกันเพื่อเลือกคนที่ดีที่สุดเป็นกษัตริย์ ส่วนคำว่า ดีที่สุด คือการใช้หลักคุณธรรม 10 ประการ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค อาชวะ มัทวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ อวิโรธนะ (ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม)
19.
พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแบ่งสังคมออกเป็น 4 ชนชั้น คือกลุ่มเจ้า ที่ทำหน้าที่ผู้ปกครอง, กลุ่มขุนนาง ที่รับใช้กษัตริย์และเจ้า ซึ่งอยู่ในระบบราชการ, กลุ่มไพร่ ที่ถูกเกณฑ์เพื่อรับใช้ครอบครัวชนชั้นนำ, และกลุ่มทาส ที่มาจากเชลยสงคราม รวมถึงผู้ที่เป็นหนี้หรือถูกทำโทษ ฐานะทางสังคมเหล่านี้ถูกทำให้เป็นระบบที่สืบทอดทางสายเลือด การเลื่อนลำดับระหว่างชนชั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
20.
การแบ่งชนชั้นแบบนี้ส่งผลให้บทบาทของแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะ เช่นกลุ่มขุนนางมีการพยายามใช้สายสัมพันธ์เพื่อความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนกลุ่มเจ้าที่เป็นตัวเก็งในการขึ้นครองราชย์เพื่อสืบราชสมบัติ ทำให้มีการเมืองของราชสำนัก รวมถึงการเมืองระหว่างครอบครัวขุนนางในแต่ละระดับ เกิดขึ้นตลอดเวลา
1
หรือการใช้ผู้หญิงในตระกูลเป็นดั่งสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับตำแหน่ง ส่วนฝ่ายชายที่เป็นขุนนางมักมีเมียหลายคนเพื่อแสดงความเป็นใหญ่ พร้อมทั้งมีการอวดโอ่แสดงสถานะในที่สาธารณะเพื่อแสวงหารายได้พิเศษจากตำแหน่งของตน,
ชายฉกรรจ์ในกลุ่มไพร่มักถูกเกณฑ์มาทำงานเป็นช่วงๆ ของปี ทำให้การงานภายในครอบครัวและบทบาทในชุมชนตกเป็นภาระของผู้หญิง ส่งผลให้ผู้หญิงสามัญชนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมการติดสินบนมูลนายเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงาน เพราะไพร่ก็อยากทำมาหากินอยู่ใกล้ครอบครัวกันทั้งนั้น, ส่วนกลุ่มทาสไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก
21.
แต่จู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เมื่อพระราชวงศ์ใหม่ของพม่ามีความทะเยอทะยานที่จะแผ่อิทธิพลไปทุกทิศทางจนเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวในภูมิภาค ซึ่งหมายความถึงการกำจัดอยุธยาออกไปจากการเป็นเมืองคู่แข่งอย่างถาวร จนนำมาสู่การเข้าโจมตีอยุธยาจากทุกสารทิศ ทั้งทางทิศเหนือ ตะวันตก และใต้
โดยกองทัพพม่าบุกตลุยเมืองต่างๆ จนราบเป็นหน้ากลอง และมาตั้งค่ายนอกเมืองเพื่อปิดล้อมอยุธยา ถึงแม้อยุธยาจะสร้างกำแพงเมืองให้สูงขึ้น ขยายคูเมืองให้กว้างขึ้น และได้ซื้ออาวุธประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมากมาตุนไว้เพื่อเตรียมป้องกัน แต่ก็สามารถต้านทานกองทัพพม่าได้เพียง 14 เดือน และเสียกรุงในที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2310
22.
เนื่องจากพม่าต้องการทำลายอาณาจักรอยุธยาให้สิ้นซาก จึงได้ทำลายทุกอย่างที่มีความเป็นอยุธยา ทั้งถาวรวัตถุ เช่นเผาพระพุทธรูป วัด วัง กำแพงเมือง และคลังสรรพาวุธที่อุตส่าห์เตรียมไว้แต่ไม่ได้ใช้ จนเหลือเพียงเถ้าถ่าน รวมถึงกวาดต้อน ผู้คน ตำรา และหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับพม่าจนเกลี้ยง
1
หลังจากนั้นพม่าก็ยังคงยกกองทัพมาอย่างต่อเนื่องไปอีกกว่า 40 ปี เพื่อทำลายหัวเมืองสำคัญๆ ทั้งเชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี ไปจนถึงนครศรีธรรมราช (ที่เรียกกันว่าสงครามเก้าทัพ) จนหัวเมืองใหญ่เหล่านี้ และอีกหลายเมือง ถูกทิ้งเป็นเมืองร้างที่ไร้ผู้คนไปจนถึงทศวรรษ 2420
จบตอนที่ 1
ประวัติศาสตร์
บันทึก
8
2
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ความเป็นไทย
8
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย