1 พ.ค. 2023 เวลา 09:37 • ประวัติศาสตร์

อียิปต์ค้นพบ “พระพุทธรูป” อายุราวพุทะศตวรรษที่ 8

อียิปต์รายงานการค้นพบ “พระพุทธรูป” ร่วมสมัยยุคโรมัน แสดงการติดต่อระหว่างดินแดนแอฟริกาและอินเดียช่วงก่อนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1-2 ที่เมืองเบเรนีค
กระทรวงการท่องเที่ยวและศิลปวัตถุแห่งอียิปต์ (Ministry of Tourism and Antiquities) รายงานข่าวการค้นพบโบราณวัตถุสำคัญอย่างพระพุทธรูปยืนอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 หรือตรงกับช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ณ เมืองท่าโบราณชื่อว่า “เบเรนีค โตรโกลดิติกา” (Berenice Troglodytica) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เบเรนีค” (Berenike) ซึ่งเป็นเมืองท่าทางฝั่งทะเลแดงที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของอียิปต์
เมืองเบเรนีคตั้งขึ้นโดยปโตเลมีที่ 2 ฟิลาเดลฟัส (Ptolemy II Philadelphus 285–246 BC) โดยตั้งชื่อเมืองตามพระมารดาเบเรนีคที่ 1 แห่งอียิปต์ เมืองท่าแห่งนี้เป็นเมืองหลักดำเนินการค้าช้างศึกและสินค้าหายากอย่างเครื่องเทศ หินมีค่า ผ้า รวมถึงงาช้างที่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างอียิปต์บนกับอินเดีย, ศรีลังกา และอาระเบีย
การค้นพบดังกล่าวอยู่ภายใต้การทำงานร่วมกับนักโบราณคดีโปแลนด์-อเมริกา ระหว่างทำการขุดค้นส่วนวิหารภายในเมือง โดยพบเป็นพระพุทธรูปยืนสูง 71 ซม. ในสภาพเสียหายชำรุดบางส่วน ลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนครองจีวรห่มคลุมเป็นริ้วบนฐานสูง พระหัตถ์ซ้ายจับชายจีวร ด้านขวาพระบาทซ้ายปรากฏรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม พระหัตถ์และพระวรกายทางขวาชำรุดหาย พระเกศา (ผม) เป็นขมวดคล้ายก้นหอย มีอุษณีษะ (มวยผมก้อนกลม) บริเวณรอบพระเศียรมีประภามณฑลล้อมรอบ
ลักษณะโดยรวมคล้ายศิลปะอินเดียสมัยคันธาระ ในขณะที่ขมวดพระเกศามีลักษณะอย่างราชวงศ์สาตวาหนะที่มักสร้างรูปบุคคลมีขมวดเส้นผมเป็นก้นหอย ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ ศ.ดร.เชษฐ์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า รายละเอียดบางอย่างมีแนวโน้มไปทางศิลปะอินเดียแบบคุปตะ-มถุราแล้ว จึงอาจมีอายุอ่อนลงเล็กน้อย
สำหรับด้านการตีความประติมานและรูปแบบศิลปะยังคงมีข้อเสนอที่ขัดแย้งกันอยู่ดังกล่าวไปข้างต้น (อาจต้องรอผู้ชำนาญด้านประติมานและประวัติศาสตร์ศิลปะให้ความเห็นเพิ่มเติม) ด้าน Dr. Marius Goyazda เสนอว่าวัสดุหินที่ใช้แกะสลักเป็นของนำเข้ามีต้นกำเนิดมาจากภูมิภาคทางใต้ของเมืองอิสตันบลู และอาจทำขึ้นโดยกลุ่มพ่อค้าจากอินเดียได้สั่งทำพระพุทธรูปขึ้นในท้องถิ่นและอุทิศให้กับวัดใกล้เคียง
ในการค้นพบครั้งนี้ยังพบจารึกสันสกฤตอายุร่วมสมัยกับจักรพรรดิโรมันคือฟิลิปแห่งอาหรับ (Philip the Arab) ที่ครองราชย์ช่วงค.ศ.244-249 แต่ Steven Sidebotham นักโบราณคดีหัวหน้าทีมอเมริกันให้ความเห็นเสริมว่าตัวพระพุทธรูปที่พบนี้ไม่ได้ร่วมสมัยกับจารึก เนื่องจากมีลักษณะที่ดูเก่าแก่กว่าสมัยของจารึก สอดคล้องกับจารึกภาษากรีกอื่นๆ ที่พบร่วมในพื้นที่ซึ่งมีอายุประมาณ 100 ปีก่อนคริสตกาล
นอกจากนี้ยังเคยพบเหรียญเงินจากราชวงศ์สาตวาหนะ (Sādavāhana) ซึ่งเรืองอำนาจจากตอนกลางของอินเดีย จำนวน 2 ชิ้น ราชวงศ์ดังกล่าวเป็นราชวงศ์แรกที่พบการทำเหรียญเงินที่มีรูปประมุขของอาณาจักร เหรียญทั้งสองกำหนดอายุได้ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2 อาจทำให้พอสรุปได้ว่าเมืองท่าแห่งนี้มีอายุสมัยค่อนข้างยาวนานและมีความสำคัญตลอดยุคโรมันปกครองอียิปต์ ทั้งมีความหลากหลายทางความเชื่อกับชาติพันธุ์อันแสดงถึงความรุ่งเรืองในฐานะสถานีการค้ายุคโบราณอีกด้วย
Image Credit: Ministry of Tourism and Antiquities with Edited background by ArchaeoGO
References :
  • Milligan,M.(2023, April 27). Statue depicting Buddha found in Ancient Egyptian city. HeritageDaily. Retrieved 28 April 2023, fromhttps://www.heritagedaily.com/2023/04/statue-depicting-buddha-found-in-ancient-egyptian-city/147109
  • Mohamed,G .(2023, April 27). 2nd-century statue of Buddha found in ancient Egyptian seaport.Arab News. Retrieved 28 April 2023, from https://arab.news/bt2pd
ช่องทางติดตามArchaeoGO
*ไม่อนุญาตให้คัดลอก (Copy) เนื้อหาและรูปภาพด้วยอาจติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ ถ้าชอบเนื้อหาสาระจากทางเพจ สามารถช่วยให้เรื่องราวของพวกเราไปไกลมากยิ่งขึ้นได้ง่ายๆ เพียงการแชร์ (Share) ฝากกดไลค์และติดตาม Archaeo GO เพื่อรับชมเนื้อหาใหม่ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมและโบราณคดีไปกับเรา หรือเข้าชมบทความในรูปแบบเว็บไซต์ได้ทาง
โฆษณา