4 พ.ค. 2023 เวลา 14:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เคียฟ

80 ปี สิทธิบัตรเฮลิคอ.ปเตอร์ของ อิกอร์ ซิกอร์สกี (ตอนที่ 1)

วันที่ 4 พฤษภาคม เมื่อ 80 ปีที่แล้ว สำนักสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาได้ออกสิทธิบัตรสองฉบับให้แก่ อิกอร์ ซิกอร์สกี ในนามของบริษัท United Aircraft ฉบับหนึ่งในนั้นได้กลายมาเป็นมาตรฐานการออกแบบ ของอากาศยานปีกหมุน (rotary-wing) หรือเฮลิคอปเตอร์ต่อมาอีกหลายสิบปี บริษัทอากาศยานที่เขาก่อตั้งขึ้นก็มีอายุครบศตวรรษแล้วในปีนี้
1
ซิกอร์สกี นักประดิษฐ์เชื้อสายรัสเซีย/ยูเครนอพยพ ผู้สร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดให้จักรพรรดิรัสเซีย และสร้างเฮลิคอปเตอร์ให้ประธานาธิบดีสหรัฐ กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งเฮลิคอปเตอร์ได้อย่างไร ทั้งที่เขามิใช่คนแรกที่คิดค้นเครื่องบินปีกหมุน และก็มิใช่รายแรกที่ได้รับสิทธิบัตรของอากาศยานชนิดนี้
ซิกอร์สกี ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในปี 1953
อิกอร์ อิวาโนวิช ซิกอร์สกี (1889-1972) เกิดที่กรุงเคียฟ ในยูเครนปัจจุบัน ขณะนั้นยังสังกัดจักรวรรดิรัสเซีย มีบิดามารดาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฐานะดี ที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้ศึกษาทางวิทยาศาสตร์
ในวัยเด็กเขาประทับใจนิยายไซไฟ ของชูล แวร์น หรือจูลส์ เวิร์น ชาวฝรั่งเศสอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง โรเบอร์ผู้พิชิต (Robur le Conquérant) และ เจ้าไตรภพ (Maitre du monde) ซึ่งบรรยายถึงยานยักษ์คล้ายเฮลิคอปเตอร์ 74 ใบพัด ที่ท่องไปเหนือหมู่เมฆ
ยานอัลบาทรอส ของจูลส์ เวิร์น ในภาพยนตร์ปี 1961
พโยมยานของจูลส์ เวิร์น ล้ำหน้ากว่าจินตนาการแนว Steampunk ไปมาก เพราะไม่ได้ขับด้วยเครื่องจักรไอน้ำที่มีใช้ในยุคนั้น แต่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าได้พลังงานจากแบตเตอรีที่ไม่มีวันหมด โดรนยุคนี้สู้ไม่ได้เลยทีเดียว ทั้งที่ในปีที่พิมพ์นิยายฉบับนั้น ยุโรปเพิ่งจะมีไฟฟ้าใช้
หนังสืออีกเล่มที่ซิกอร์สกีจำได้ไม่ลืมเลือน คือหนังสือสมุดบันทึกของลีโอนาร์โด ดาวินชี โดยเฉพาะภาพ “เฮลิคอปเตอร์” (Aerial Screw)
แบบจำลองของอัลบาทรอส และเกลียวอากาศของดาวินชี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การขนส่งในลูเซิร์น, สวิตเซอร์แลนด์ (https://www.verkehrshaus.ch)
ซิกอร์สกีไม่ได้ชอบอ่านหนังสืออย่างเดียว เขายังชอบทดลอง และได้สร้างเครื่องบินจำลองหมุนใบพัดด้วยยางยืดตั้งแต่เด็ก แบบเดียวกับเครื่องบินจำลอง Planophore ที่ อัลฟองส์ เปโนด ออกแบบขึ้นในปี 1871 และเป็นแรงบันดาลใจให้พื่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบิน
Planophore ออกแบบโดยอัลฟองซ์ เปโนด
จากการติดตามบิดาไปต่างประเทศบ่อยๆ ได้พบเห็นความก้าวหน้าทางการบินอย่างใกล้ชิด เมื่อซิกอร์สกีอายุ 14 ปี รู้ข่าวพี่น้องไรท์ในอเมริกาทำการบินสำเร็จเป็นครั้งแรก จึงสนใจทางด้านการบินซึ่งในรัสเซียยังไม่มี
เขาได้เข้าโรงเรียนเตรียมนายเรือในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปก่อน เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ก็ลาออกกลางคัน และย้ายมาเรียนวิศวกรรมเครื่องกลที่เคียฟใกล้บ้าน (ซึ่งปัจจุบันวิทยาลัยแห่งนั้นเปลี่ยนชื่อตามเขา)
ทั้งเครื่องบินของไรท์และเรือเหาะของเซปเปลินส่งผลสะเทือนไปทั่วทุกแห่ง โอกาสทางอากาศยานกำลังเปิดกว้าง ช่วงนี้เองที่ ซิกอร์สกีตัดสินใจมุ่งตามความฝันในวัยเยาว์โดยไม่วอกแวกอีก เมื่ออายุ 20 ปีได้เดินทางไปปารีส ศูนย์กลางการบินของยุโรปมาตั้งแต่ยุคบอลลูน เพื่อศึกษาวิศวกรรมและการขับเครื่องบินจากแฟร์ดินัง แฟร์แบร์ นักบุกเบิกการบินของฝรั่งเศสเป็นเวลาหกเดือน
แม้ว่าในรัสเซียจะมี นิโคไล จูโคฟสกี (1847-1921) นักทฤษฎีทางอากาศพลศาสตร์ระดับโลก สอนที่มอสโกอยู่แล้ว แต่จูโคฟสกีเป็นนักคณิตศาสตร์มากกว่าการปฏิบัติ และซิกอร์สกีไม่ได้สนใจทฤษฎีมากนัก
เครื่องยนต์ Anzani 3 สูบระบบหัวเทียน
ซิกอร์สกี กลับมายังเคียฟ ในปี 1909 พร้อมกับซื้อเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Anzani 25 แรงม้า ทำในฝรั่งเศสมาด้วย ลงมือออกแบบและสร้าง “เฮลิคอปเตอร์” ลำแรกของเขา
เพื่อความเข้าใจวิทยาการของเฮลิคอปเตอร์ในยุคสมัยนั้น ขอย้อนเวลากลับไปดูความเป็นมาของสิ่งประดิษฐ์นี้กันก่อน
ประวัติย่อของ ฮ. ปีกหมุน
พัฒนาการของการประดิษฐ์อากาศยานปีกหมุนนั้น มีมายาวนานก่อนยุคของซิกอร์สกี อาจเป็นเพราะจินตนาการถึงยานบินที่ลอยอยู่ได้นิ่งๆในอากาศนั้น เข้าใจได้ง่ายกว่าเครื่องบินที่ต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเพื่อสร้างแรงยก
จำนวนของการทดลองเฮลิคอปเตอร์ในยุคแรกมีมากกว่าเครื่องบิน (Leishman 2016)
ประวัติของการสร้างยานบินปีกหมุน จึงเริ่มต้นขึ้นก่อนและมีตัวอย่างให้เห็นมากกว่าเครื่องบิน การลองผิดลองถูกแต่ละครั้งมักจะผิดมากกว่าถูก แต่ก็ช่วยให้เกิดความเข้าใจในหลักอากาศพลศาสตร์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ของเล่นจีนโบราณ ที่มาของเฮลิคอปเตอร์
“แมลงปอไม้ไผ่” หรือฉูชิงถิง (竹蜻蜓) เป็นของเล่นเก่าแก่ของชาวจีน ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ 400 ปีก่อน ค.ศ. เข้ามาถึงยุโรปตั้งแต่สมัยมาร์โคโปโล มีหลักการเดียวกับใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ คือเมื่ออากาศถูกผลักดันไปด้านล่างจากการหมุนของใบพัด จะเกิดแรงปฏิกิริยายกใบพัดขึ้นด้านบน
สมุดบันทึกศตวรรษที่ 15 ของดาวินชี (เก็บอยู่ที่กรุงปารีส)
ของเล่นนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักประดิษฐ์หลายราย อาจรวมทั้งดาวินชีที่วาดภาพ “เกลียวอากาศ” ขึ้นด้วยก็ได้ แต่วิธีการขับเคลื่อนใบพัดเกลียวตามที่ดาวินชีอธิบายไว้ ไม่น่าจะพอยกตัวยานขึ้นได้
หลักการพื้นฐานของการสร้างแรงยกด้วยใบพัดหมุน
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า แรงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแรงยก (lift) ในแนวดิ่งอย่างเดียว ยังมีแรงบิดตรงข้ามการหมุน (reactional torque) เกิดขึ้นด้วย ถ้าหากใบพัดหมุนด้วยเครื่องจักร ก็จะเกิดแรงบิดกระทำกับเครื่องจักรในทิศตรงข้ามการหมุน เหมือนเวลาที่เราใช้สว่านหรือหินเจียก็ต้องใช้ร่างกายต้านแรงนี้ไว้
แต่หากเครื่องจักรนั้นอยู่บนอากาศยานที่ลอยตัว แรงบิดปฏิกิริยาจะทำให้ยานนั้นหมุนในทิศตรงข้ามกับใบพัด จนควบคุมไม่ได้ วิธีการแรกๆในการแก้ปัญหานี้คือใช้ใบพัดคู่ที่สร้างแรงยกขนาดเท่ากันให้หมุนตรงข้ามกัน เพื่อที่ว่าแรงบิดปฏิกิริยาจากแต่ละตัวนั้นจะได้หักล้างกันไปได้ ส่วนแรงยกก็จะเป็นสองเท่า ดูเหมือนเป็นทางออกที่ดี แต่ทำจริงนั้นไม่ง่ายเลย
โรเตอร์คู่พิสูจน์แนวคิด ของโลโมโนซอฟ (1754)
ในปี 1754 มิคาอิล โลโมโนซอฟ นักประดิษฐ์รัสเซีย ทดลองสร้างแบบจำลองใบพัดคู่หมุนสวนทางกัน แต่มีแกนร่วมกันเป็นปลอกสองชั้น ใช้แรงขับจากลานนาฬิกา เกิดแรงยกได้บ้างแต่ไม่พอยกน้ำหนักตัวเอง
หลังการคิดค้นบอลลูนและร่มชูชีพเพียงปีเดียว ใน ค.ศ. 1784 คริสเตียน ลอนัวและเบียงเวนู ชาวฝรั่งเศส ก็ได้ออกแบบของเล่นที่เป็นใบพัดทำจากขนไก่งวง 2 ชุดร่วมแกนเดียวกันแต่หมุนสวนทางกัน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานความเค้นจากการดัดของคันธนู เมื่อปลดล็อคคันธนูจะคืนตัวตรง ไปดึงเชือกที่พันเป็นเกลียวรอบแกน และหมุนใบพัดให้ลอยตัวขึ้นได้
แบบจำลองใบพัดขนไก่ (1784) บนแสตมป์ของกัมพูชา ปี 1993
จอร์จ เคย์ลีย์ (1773–1857) “บิดาแห่งวิศวกรรมการบิน” ชาวอังกฤษได้นำแนวคิดของลอนัว และแมลงปอไม้ไผ่ของชาวจีน มาปรับใช้ในการออกแบบอากาศยานที่มีใบพัดหมุนคู่ข้างซ้ายขวา ในปี 1843 แต่ไม่ได้สร้างต้นแบบขึ้นจริง เพราะเครื่องจักรไอน้ำที่เขาตั้งใจใช้เป็นต้นกำลังนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป
คำว่า เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนซิกอร์สกีเกิดนั้น คิดขึ้นโดย กุสตาฟ เดอ ปองตอง ดาเมคูร์ (Gustave de Ponton d'Amecourt, 1825-1888) พหูสูตนักโบราณคดีและนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส หลายคนนึกว่ามาจาก เฮลิ+คอปเตอร์ แต่ไม่ใช่
ดาเมคูร์คิดคำนี้ขึ้นมาจากภาษากรีก เฮลิโค (helico, เกลียว) + เทอรอน (pteron, ปีก) คำเดียวกันกับที่ใช้เรียกไดโนเสาร์มีปีกว่า เทอโรซอร์ (pterosaur) นั่นเอง จึงกลายเป็นคำว่า “เฮลิคอ..ปเตอร์”
เฮลิคอ+ปเตอร์จิ๋วของดาเมคูร์ (1861) จุดประกายจินตนาการของจูลส์ เวิร์น
ดาเมคูร์เองก็มีผลงานการประดิษฐ์ เฮลิคอ+ปเตอร์ นี้และได้รับสิทธิบัตรฝรั่งเศสด้วย ในปี 1861 โดยเป็นแบบจำลองขนาดเล็กใบพัดคู่หมุนสวนทางกันอีกเช่นกัน ขับด้วยหม้อไอน้ำจิ๋ว ดาเมคูร์เรียกชื่อสิ่งประดิษฐ์ของเขาว่า “Chère hélice” หรือ เกลียวพิศวาส ยานอัลบาทรอสขนาด 74 โรเตอร์ ในนิยายของจูลส์ เวิร์น ก็ได้ความคิดมาจากสิ่งประดิษฐ์นี้ของดาเมคูร์นั่นเอง
ในปี 1877 เอนริโค ฟอร์ลานินี (1848–1930) นักประดิษฐ์ชาวอิตาลี ได้สร้างต้นแบบเฮลิคอปเตอร์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำแบบของดาเมคูร์ ซึ่งลอยตัวอยู่ได้พักหนึ่งน้ำก็หมด เพราะไม่มีน้ำเติมหม้อน้ำขึ้นไปด้วย
เฮลิคอปเตอร์แนวศิลปะของฟอร์ลานินี (1877)
หลังจากนั้นเครื่องยนต์แกสโซลีนสี่จังหวะก็เริ่มมีขายในตลาด มีน้ำหนักเบากว่าเครื่องจักรไอน้ำ และเหมาะสมกับการใช้งานบนอากาศยาน (ใช้น้ำมัน Avgas ค่าออกเทน 100) แม้ว่าประสิทธิภาพยังไม่ค่อยดีนัก
ในปี 1907 พอล คอร์นู (1881–1944) ช่างจักรยานชาวฝรั่งเศส สามารถขึ้นบินด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในขนาด 50 แรงม้าเครื่องเดียวขับใบพัดสองแกน หน้า-หลัง (tandem rotor) ผ่านสายพาน คอร์นูลอยตัวเหนือพื้น ได้ไม่เกิน 2 เมตร อยู่ได้เพียงนาทีเดียว ก็เกิดปัญหาการควบคุม
แต่ยังถือว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ลอยตัวได้เองครั้งแรกของโลก ถึงแม้จะใช้ได้ครั้งเดียว เขาต้องล้มเลิกโครงการกลับไปทำงานจักรยานต่อ เพราะขาดเงินทุนสนับสนุน
เฮลิคอปเตอร์ทรงจักรยาน ของคอร์นู (1907)
นักประดิษฐ์รุ่นเดียวกับซิกอร์สกีได้แก่ ราอูล เปสคารา (1890 – 1966) ชาวอาร์เจนตินา-ฝรั่งเศสผู้มากผลงาน เฮลิคอปเตอร์ที่นับว่าสุดในยุคนั้นคงจะเป็น “หมายเลข 3 และ 4” ในปี 1922 ซึ่งเป็นใบพัดแบบโรเตอร์คู่ร่วมแกน แต่ในโรเตอร์หนึ่งแกนจะเป็นปีกสองชั้นเหมือนปีกเครื่องบิน bi-plane เท่ากับมีโรเตอร์ถึง 4 ชั้น แม้แรงยกจะเพิ่มขึ้นจริงแต่น้ำหนักและความซับซ้อนก็เพิ่มมากไปด้วย
คุณูปการที่สำคัญของเปสคาราคือการใช้ cyclic pitch ควบคุมแรงยกเป็นครั้งแรก วิธีนี้จะเปลี่ยนมุมปะทะของใบพัดไปตามตำแหน่งเชิงมุมในขณะที่หมุน ซึ่งซิกอร์สกีนำมาใช้ในภายหลังด้วย เปสคาราจดสิทธิบัตรผลงานของเขาไว้มากมายในยุโรป
เฮลิคอปเตอร์ “หมายเลข 3” ของเปสคารา (1922)
หลังจากนั้น การพัฒนาเริ่มใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ไฮน์ริช ฟอคเกอ (1890–1979) ผู้พัฒนาเฮลิคอปเตอร์ให้กับเยอรมันในยุคนาซี เกือบจะได้เป็นผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์รายแรกแทนซิกอร์สกี
ยานบินรุ่น Fw-61 (Fa-61) ทำการบินได้สำเร็จก่อนตั้งแต่ปี 1936 และมีการควบคุมใบพัดคล้ายกับของซิกอร์สกี แต่มีขนาดใหญ่กว่า ใช้โรเตอร์คู่สองแกน ซ้ายขวา และควบคุมแรงยกจากความเร็วรอบของเครื่องยนต์ขนาด 160 แรงม้าอย่างเดียว ซึ่งตอบสนองได้ช้ากว่า
Fw-61 ทำสถิติบินได้สูงกว่า 3 กิโลเมตรด้วยความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้กระนั้น ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ใช้ทำการบินทดสอบเท่านั้นไม่ได้ผลิตออกมาจำนวนมาก บ้างก็ว่าผู้นำเผด็จการไม่ไว้ใจที่ฟอคเกอไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนาซี และไม่รู้จะเอามาใช้งานอย่างไรในช่วงสงคราม
เฮลิคอปเตอร์พันธ์ผสม Fw-61 โดยไฮน์ริช ฟอคเกอ (1936)
หลายคนก็ไม่นับว่า Fw-61 เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ปฏิบัติการได้จริง เพราะมีโรเตอร์เกินจำเป็น และมีใบพัดด้านหน้าเหมือนเครื่องบินด้วย ถือว่าเป็นลูกผสมระหว่างเครื่องบินกับออโตไจโร (autogiro) มากกว่า ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะใบพัดเล็กๆด้านหน้านั้นเอาไว้ระบายความร้อนของเครื่องยนต์เท่านั้น ไม่ได้ใช้สร้างแรงขับเหมือนเครื่องบิน
บริษัทที่ฟอคเกอก่อตั้งขึ้น ยังอยู่รอดมาได้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการควบรวมหลายครั้ง จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ DASA ผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ของเยอรมัน (ในปัจจุบันควบรวมเข้ากับ Airbus)
โทมัส เอดิสัน ขอมีส่วนร่วมด้วย ได้จดสิทธิบัตร “เครื่องจักรบิน” คล้ายเฮลิคอปเตอร์
นักประดิษฐ์เฮลิคอปเตอร์อื่นๆในยุคแรก จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีอีกนับสิบราย ทั้งในยุโรปและอเมริกา เช่น ทีโอดอร์ ฟอน คาร์มาน ชาวฮังการี-อเมริกา และลุยส์ ชาลส์ เบรเกต์ ชาวฝรั่งเศส ได้ผลสำเร็จต่างกันไป มีทั้ง ฮ. แบบที่ต้องผูกไว้ และแบบที่ขึ้นบินได้จริง แต่ยังไม่มีใครผลิตออกมาขายทางการค้าได้
ผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรอากาศยานปีกหมุนเป็นรายแรกๆในสหรัฐอเมริกา ยังรวมทั้งโทมัส เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ด้วย เฮลิคอปเตอร์ที่ดูคล้ายว่าวของเขาได้รับสิทธิบัตรในปี 1910 แทบไม่มีรายละเอียดอะไร เมื่อสร้างต้นแบบจริงพบปัญหาหลายอย่าง ต้องเลิกล้มโปรเจคไป
ช่างรถไฟวิลเลียม เพอร์วิส และชาลส์ วิลสัน แห่งรัฐแคนซัส ก็ได้รับสิทธิบัตรยานบินแบบมีใบพัดแกนตั้งหมุนสวนทางกัน ในปี 1912 แต่ต้นแบบที่ลงทุนสร้างขึ้นไม่สามารถบินได้จริง จนเกือบต้องหมดตัว
สรุปประวัติย่อของ เฮลิคอปเตอร์
อิกอร์ ซิกอร์สกีเอง เมื่อกลับถึงเคียฟ ในปี 1909 ก็ได้สร้างเฮลิคอปเตอร์ทดลองขึ้นเครื่องแรก โดยใช้เครื่องยนต์ 25 แรงม้าที่นำติดมาจากฝรั่งเศส ขับใบพัดคู่แกนร่วม (coaxial rotor) หมุนสวนทางกันเหมือนกับคนอื่นๆในยุคนั้น
เขาได้แก้ไขปรับปรุงจนเฮลิคอปเตอร์สามารถยกน้ำหนักตัวเอง ขนาด 180 กิโลกรัม ให้ลอยขึ้นได้ แต่ไม่สามารถยกคนขึ้นไปเพิ่มได้ จึงต้องพักโครงการไว้ก่อน ถอดชิ้นส่วนนำไปใช้สร้างเครื่องบินแทน
เฮลิคอปเตอร์ รุ่นทดลอง ของซิกอร์สกี (1909)
ซิกอร์สกี ได้เรียนรู้จากการออกแบบและลงมือทำเองว่า วิทยาการยุคนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการสร้างเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้งานได้จริง ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้การได้จริงในทางปฏิบัติ มีหลายอย่าง เช่น
  • 1.
    ต้องมีเครื่องยนต์ที่มีอัตราส่วนกำลังงานต่อน้ำหนักสูง (high power to weight ratio) คือประมาณสองเท่าของเครื่องยนต์ที่ใช้กับเครื่องบินสมัยนั้น
  • 2.
    การหักล้างแรงบิดปฏิกิริยาด้วยการใช้โรเตอร์คู่ซับซ้อนเกินไป และเพิ่มน้ำหนักให้กับเฮลิคอปเตอร์ ต้องมีวิธีการอื่น
  • 3.
    การควบคุมการทรงตัวและการเคลื่อนที่ของเฮลิคอปเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ
  • 4.
    วัสดุที่แข็งแรงขึ้นแต่น้ำหนักเบา สำหรับสร้างใบพัดและตัวถัง ที่มีการออกแบบให้อากาศไหลผ่านอย่างมีประสิทธิภาพ
  • 5.
    การออกแบบควรต้องเรียบง่ายเพื่อลดต้นทุนการผลิต และการดูแลรักษา
นอกจากนี้ ยังต้องทำให้ user friendly มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งานคือนักบิน จึงจะสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติทางเทคนิคให้เป็นคำสั่งซื้อ ซึ่งข้อนี้สำคัญที่สุด
อีกกว่า 30 ปีต่อมา ซิกอร์สกี จึงแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการออกแบบ Mix and Match ลักษณะพิเศษต่างๆ จนได้ส่วนผสมอย่างลงตัวของอากาศยานปีกหมุน นำมาสู่สิทธิบัตรเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1943 และต้นแบบเฮลิคอปเตอร์ที่ทำการบินได้จริงเครื่องแรกของโลก รุ่น VS-300 ซึ่งแตกต่างไปจากเครื่องแรกในวัย 20 ปีของเขาอย่างสิ้นเชิง
อิกอร์ ซิกอร์สกี ทำได้อย่างไรจะนำมาเสนอในตอนต่อไป
(มีต่อตอนที่ 2)
ภาพจากสิทธิบัตร US 2,318,259 ปี 1943 ของซิกอร์สกี
แหล่งอ้างอิง
J. Gordon Leishman, “Principles Of Helicopter Aerodynamics”, Cambridge Aerospace Series 2nd Edition 2016
เฮลิคอปเตอร์ในยุคปี 1920
แนะนำบริษัท Sikorsky Aircraft ปัจจุบันอยู่ในเครือ Lockheed-Martin
โฆษณา