4 พ.ค. 2023 เวลา 16:51 • ดนตรี เพลง
วัดพืชนิมิต

ศิริพร อำไพพงษ์ : เส้นทางสายใหม่บนเส้นทางแห่งความสำเร็จของหมอลำ

เรื่องและภาพ โดย กิมเส็ง แซ่เจี่ย
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 แต่เป็นนำมาโพสต์และเผยแพร่ลงบนช่องทาง Blockdit โดยเจ้าของบทความเอง ดังนั้น โปรดเข้าใจว่านี่ไม่ใช่บทความปัจจุบันหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุค Post-Covid นี้
เป็นจั๋งได๋แล้วน้อความฮัก เป็นจั๋งได๋แล้วน้อความฮัก ที่เคยหอม เคยกอด คิดฮอดแล้วหนาวหัวใจสัญญาไว้ สิมาหมั่นมาหมาย ไหลผ่านปานขี่ฝ่าลืมฟ้าแล้วบ่น้อ บอกให้คอยยังจำได้บ่ คำสัญญายังจำได้บ่ เหงาส่ำได๋บ่ท้อ เก็บใจถ่าบ่ถอย คิดฮอดเด้อ ความฮักแท้ป่านนี้อยู่ไส...
คิดฮอด - Bodyslam Feat. ศิริพร อำไพพงษ์
หากมองเนื้อเพลงข้างต้นนี้เพียงผ่านๆ ความคิดที่ปรากฏภายในหัวของชาวกรุงในเสี้ยววินาทีแรก คงไม่มีอื่นใดนอกจากว่านี่คือ “ภาษาอีสาน” (และคนกรุงอย่างข้าไม่เข้าใจ) แต่คิดเช่นนั้นก็คงไม่ผิดนัก เพราะเนื้อเพลงนี้ คือ ท่อนหนึ่งของลำนำหมอลำ (ซึ่งเป็นภาษาอีสาน!) ที่อยู่ในเพลงร็อกยอดฮิต “คิดฮอด” ของบอดี้สแลม วงดนตรีร็อกหมายเลขหนึ่งของไทย ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายให้หมอลำมาอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่
มองย้อนกลับไปสักแค่ 3 ปี ก่อนจะมีเพลงคิดฮอดกำเนิดขึ้นมาในวงการเพลงไทย หมอลำ ยังเป็นเอกลักษณ์ที่ล้าหลังและเป็นตัวตลกในสังคมไทยอยู่ สิ่งที่ครองความทันสมัยทางเสียงดนตรีของวัยรุ่น ก็มีแต่เพลงร็อก เพลงป็อป และเพลงสากล
แต่หลังจาก “คิดฮอด” ออกอากาศทางวิทยุเป็นครั้งแรกเพียงแค่ 16 ชั่วโมง กลับมียอดดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตถึง 60,000 ครั้ง
นี่คงเป็นหลักฐานหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่า หมอลำเริ่มครองใจ “คนยุคใหม่” ได้ในระดับหนึ่ง
และคนที่ช่วยให้ “หมอลำ” เริ่มมาปักหลักตั้งฐานบนเส้นทางของคนรุ่นใหม่ได้ ก็คือ ผู้ขับลำนำบทนี้ “น้านาง ศิริพร อำไพพงษ์”
หมอลำบ้านนอก
ในวันสัมภาษณ์ นักร้องหมอลำผู้มีชื่อเสียงผู้นี้ยิ้มให้อย่างเป็นกันเองกับผม และอนุญาตให้ผมเรียกเธออย่างสนิทสนมว่า "น้านาง" ได้
น้านางเล่าให้ฟังว่าก่อนที่น้านาง “มีวันนี้ได้ เพราะพี่น้องเมตตา” น้านางผ่านมรสุมชีวิตมาไม่น้อย ด้วยการศึกษาที่น้อย จึงไม่มีโอกาสได้ฝันไกลๆ อย่างใครอื่น ได้แต่อาศัยการขับลำนำซึ่งคุณพ่อสอนให้ จับพลัดจับผลูไปเป็นนักร้องคณะลูกทุ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทางที่ถนัดนักเพราะน้านางเสียงแหบจึงเกือบไม่ได้เป็นนักร้องต่อ บังเอิญได้พบกับครูสลา คุณวุฒิ ผู้สร้างนักร้องลูกทุ่งจากแดนอีสานมาหลายต่อหลายคน ได้แต่งเพลง “ล้างจานในงานแต่ง” ให้น้านาง และน้านางก็ได้แจ้งเกิดจากเพลงๆ นี้
จากเสียงแหบๆ ที่ไม่ค่อยเหมาะกับเพลงลูกทุ่งนัก น้านางกลายมาเป็นสาวหมอลำผู้มีชื่อเสียง และ “แหบเสน่ห์” กลายมาเป็นฉายาของน้านาง ก่อนจะมีเพลงอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตามมาอย่าง “โบว์รักสีดำ” และ “ปริญญาใจ”
แต่นั่นคือเหตุการณ์ก่อนที่น้านางจะมามีชื่อเสียงในหมู่ชาวกรุง เพราะถ้ามองจากมุมมองคนกรุงในสมัยนั้นแล้ว น้านางยังเป็นนักร้องบ้านนอกคนหนึ่ง ที่คนกรุงไม่สนใจ
น้านางเล่าให้ฟังว่า เพลงของน้านางเริ่มเป็นที่รู้จักของคนกรุงครั้งแรกนั้น ก็เพราะมีคนเอาไปร้องตามผับบ้าง ตามไนต์คลับบ้าง อย่างถ้าสมัยสามสิบปีที่แล้ว คุณพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ก็เป็นคนแรกๆ ที่นำเพลงของน้านางไปร้อง จน “โบว์รักสีดำ” เริ่มมีคนกรุงรู้จัก
แต่น้านางก็พูดพลางหัวเราะว่า ถึงตอนนั้นจะเริ่มมีคนรู้จักเพลงนี้ แต่ไม่มีใครรู้จักคนร้องเลย
น้านางบอกว่า จากลำนำยาวๆ ที่ไม่น่าจะมีคนสนใจนัก ปัจจุบัน คุณพี สะเดิด ก็นำเพลงนี้ไปใส่จังหวะร็อก แม้จะไม่ฮิตในหมู่วัยรุ่นชาวกรุง แต่ก็ฮิตในหมู่คนรุ่นใหม่ในชนบท
ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าพูดถึงหมอลำแล้ว ก็มีแต่คนอีสาน เสียงพิณ เสียงแคน และคนลำ ผุดขึ้นมาในความคิดของคนส่วนใหญ่ทั้งนั้น แน่นอนหมอลำถูกมองว่าล้าสมัย และที่ร้ายที่สุด คือถูกเหยียดหยาม
ประจักษ์พยานบนเส้นทาง
ทุกวันนี้สถานการณ์ของหมอลำเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ น้านางบอกว่า อย่างน้อยสุดก็เพราะ “พี่ตูน”
“ความคิดเด็กรุ่นใหม่มันแปลก ถ้าบอกว่าหมอลำมันล้าสมัย มีแต่พิณแต่แคน อยากให้หมอลำมันร็อก เราก็พิณ เอาแคนนี่แหละ มาผสมคีย์บอร์ด กีตาร์ เบส มาทำให้มันร็อก มาทำให้มันหลากหลาย มาทำให้มันแปลกใหม่ เด็กสมัยนี้เค้ากล้าคิดกล้าทำ เราก็เอาความกล้าของเค้านี่แหละ มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เค้า ให้มันแปลกใหม่เหมือนกับความคิดเค้า”
น้านางก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึง “พี่ตูน” เพราะต้นคิดเพลง “คิดฮอด” ก็เริ่มมาจากบอดี้สแลม ตอนที่ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือที่รู้จักกันดีว่า ตูน บอดี้สแลม มาชวนให้มาทำเพลงคิดฮอดด้วยกัน น้านางตกใจว่าทำไม “พี่ตูน” จึงไม่ไปชวนนักร้องลูกทุ่งหรือหมอลำรุ่นใหม่ๆ แต่กลับมาเลือก “ศิริพร”
“พี่ตูนบอกน้าว่า ผมไม่อยากทำให้หมอลำล้าหลัง ผมไม่อยากให้ใครมาดูถูกว่าหมอลำคือคนเต้นกินรำกิน ผมไม่อยากให้ใครมาล้อหมอลำ เพราะหมอลำไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาล้อ และหมอลำไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ใครล้าหลัง น้านางลองทำให้ผมหน่อยได้ไหม”
น้านางชมว่า แนวคิดของตูน บอดี้สแลมนั้นดี มีความแปลกใหม่ และเป็นแนวคิดที่ลงตัว จนในที่สุดก็คลอดออกมาเป็นเพลงคิดฮอด พร้อมกับขับลำนำท่อนที่ว่า “เป็นจั๋งได๋แล้วน้อความฮัก...” ให้ผมฟังไปพลาง
“จู่ๆ ตูนก็โทรมา บอกว่า น้านาง เกิดเรื่องแล้ว ตอนแรกน้าก็ตกใจ นึกว่ามีอะไร แล้วตูนก็บอกว่า หลังจากคิดฮอดออกวิทยุ ผ่านไปแค่ 16 ชั่วโมงเพลง ยอดคนโหลดตั้ง 6 หมื่น”
น้านางพูดไปพลาง ยิ้มแก้มปริไปพลาง แม้จะรู้และเข้าใจดีว่านั่นคือการดาวน์โหลดที่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม
ในที่สุด “คิดฮอด” ก็ได้กลายมาเป็นเพลงฮิตของคนรุ่นใหม่ และน้านาง ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ชาวกรุงรุ่นใหม่ แต่ในฐานะนักร้องคู่กับ “พี่ตูน บอดี้สแลม” ขวัญใจวัยรุ่น น้านางไม่เสียใจหรือ ถ้ามีแต่คนรู้จักน้านางผ่านคนอื่น
“มันไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ไม่แปลกหรอก เพราะเขาไม่ได้ฟังหมอลำ เขาไม่ได้ฟังเพลงของน้า ดีใจเสียอีกที่เค้ายอมรับน้า เวลาน้านางไปเดินห้างใหญ่ๆ อย่างโลตัส ก็จะมีเด็กวัยรุ่นเดินเข้ามา แล้วชี้ๆ กันพูดว่า นี่ไง คนที่ร้องเพลงคู่กับพี่ตูน แค่นี้ก็ดีใจแล้วที่เขาจำเราได้ ไม่ต้องรู้ชื่อหรอก แค่รู้ว่าเค้าฟังแล้วชอบ น้าก็ดีใจแล้ว
อย่างน้อยสุด สิ่งที่พอจะพิสูจน์ได้ว่า หนุ่มสาวชาวกรุงเริ่มยอมรับน้านางและหมอลำได้บ้างนั้น ก็เห็นได้จากนับตั้งแต่คิดฮอดออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา คอนเสิร์ตน้อยใหญ่ของบอดี้สแลม จะต้องมีเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงทุกครั้ง และไม่มีครั้งใดไม่มีคนส่งเสียงเฮให้กับเพลงนี้
ประจักษ์พยานที่ใหญ่ที่สุด ก็คงเป็นมหาคอนเสิร์ต “คราม” ของบอดี้สแลมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 เป็นคอนเสิร์ตเพียงไม่กี่ครั้งของบอดี้แสลม ที่น้านางได้มีโอกาสร่วมร้อง “คิดฮอด” ไปพร้อมกับการแสดงจากวงดนตรีหมอลำ และหางเครื่องด้วยบนเวที
ในคอนเสิร์ตครั้งนั้น ผู้ชมกว่า 65,000 คน ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นสถานที่จัดมหาคอนเสิร์ตครั้งนั้น ไม่มีใครทำท่าทีรังเกียจคณะหมอลำ หรือ ศิริพร อำไพพงษ์ ผู้นี้เลยแม้สักคน
ความสำเร็จ
ในฐานะวัยรุ่นในกรุงคนหนึ่งซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเพลงร็อกแล้วอยากจะตะโกนชื่นชมน้านางออกไปดังๆ แต่เพราะ ณ ตอนนั้นเป็นผู้สัมภาษณ์ จึงทำได้แต่เพียงพูด (แกมชื่นชมน้านาง) ออกไปอย่างเรียบร้อยว่า
“น้านางดีใจไหมครับ ถ้าคนที่ทำให้หมอลำอยู่ในใจของวัยรุ่นไทยคนนั้นคือน้านาง"
“ดีใจสิ”
แม้น้านางจะบอกว่าดีใจ ที่ได้ทำให้หมอลำมาอยู่ในใจคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อถามน้านางว่า น้านางคือคนที่ทำให้หมอลำประสบความสำเร็จหรือไม่ น้านางก็ตอบอย่าหนักแน่นทันทีเลยว่า
“ไม่ใช่"
น้านางยังให้เกียรติกับหมอลำทุกคน เพราะเชื่อว่าทุกคนมีดี มีสไตล์เป็นของตัวเอง
“น้านางคิดว่า น้านางประสบความสำเร็จแล้วหรือยังครับ”
“น้าเพิ่งไปเยี่ยมครูสลามาเมื่อช่วงปีใหม่ ครูบอกว่า แสดงความยินดีด้วยนะ น้าก็งงว่ามาแสดงความดีใจด้วยเรื่องอะไร ครูก็บอกว่า ดีใจด้วยนะที่ได้ร้องเพลงครบทุกอย่างแล้ว น้าไม่ได้พูดเองนะ เพราะกว่าจะมายืนอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่เพราะว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่เพราะการทำงาน ทำให้น้าได้เรียนรู้จากงาน น้ามองงานทุกงานว่าเป็นงานใหม่สำหรับเราตลอด จะได้ไม่รู้สึกจำเจกับงาน ทำงานไม่ซีเรียส ต้องมองเห็นคุณค่าของงาน ต้องบอกว่าน้าบูชางานเลย ถ้าเรารักงาน งานก็จะรักเรา”
น้านางยังเสริมต่อไปอีกว่า “ไม่มีงานไหนไม่เปลี่ยนแปลง กว่าจะเข้าที่มันยาก ทำไปเถอะ อยากทำอะไรเราก็ทำ ดีหรือไม่ดี จบงานแล้วเราค่อยว่ากัน
“ถ้าเรามีสิ่งแปลกใหม่ ให้สิ่งใหม่ๆ กับผู้บริโภค ด้วยความเร็วคงที่ ความดีคงทน เราก็อยู่ได้ และน้าถือว่าผู้ฟังและแฟนเพลงทุกคนเป็นบุญคุณ น้าให้เกียรติและเคารพแฟนเพลง เหมือนอย่างที่เค้าให้เกียรติเรา เราต้องรักษาเกียรตินี้เอาไว้ ไม่ทำให้เสียหาย
“น้าพูดอยู่เสมอว่า น้าเป็นคนเรียนน้อย น้ำเสียงน้าไม่ดี แต่น้ามีวันนี้ได้ เพราะพี่น้องเมตตา”
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้น้านางประสบความสำเร็จในวงการเพลงไทย คงไม่ได้มีแต่เพียงทัศนคติที่ดีในการทำงานเท่านั้น แต่น้านางยังเป็นน้านางที่น่ารักและน่าเคารพของแฟนเพลง และเพื่อนร่วมงานทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงานและแฟนเพลงทุกคนอย่างสูงส่งนั่นเอง ที่ทำให้ทุกคนเรียก “ศิริพร อำไพพงษ์” ว่า “พี่นาง” “น้านาง” หรือ “แม่นาง” ได้อย่างสนิทใจ
จนทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงหมอลำ ไม่มีใครไม่พูดถึงศิริพร อำไพพงษ์ หรือน้านางคนนี้เลย
ผมเชื่อว่านี่ก็คงเป็นเหตุผลเดียวกันกับ “ตูน บอดี้สแลม” นั่นเองที่เลือกน้านางเป็นมือหนึ่งและมือเดียว เพื่อเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และดึงอัตลักษณ์ของศิลปะพื้นบ้าน ให้เป็นตำนานหน้าใหม่ของวงการเพลงไทย
ผมก็หวังว่า ถัดจาก “ตูน บอดี้สแลม” และ “โจ๊ก โซคูล” ซึ่งได้สร้างสรรค์บทเพลงร่วมกับน้านางในบทเพลง “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจแฟน” จะมีนักร้องคนต่อๆ ไป มาร่วมสร้างสรรค์เพลงไทยสากลให้มีกลิ่นอายของศิลปะพื้นบ้านเช่นนี้อีก อย่างน้อยๆ สุด ผมก็ขอให้ศิลปะและศิลปินพื้นบ้านมีพื้นที่ในสังคมคนกรุงบ้าง
แค่พื้นที่เล็กๆ เหมือนอย่างลำนำใน “คิดฮอด” ที่น้านาง ศิริพร อำไพพงษ์ได้รับก็ดีใจแล้ว
ผู้เขียนขอถ่ายรูปคู่กับน้านางเป็นที่ระลึกหลังจากที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ราชินีหมอลำท่านหนึ่งของประเทศไทยอย่าง "น้านาง ศิริพร อำไพพงษ์" - มกราคม 2555
ผมขอขอบพระคุณน้านาง ศิริพร อำไพพงษ์ และน้าโก้ ที่ให้สัมภาษณ์กับผมอย่างเป็นกันเอง และปฏิบัติเหมือนผมเป็นญาติสนิทคนหนึ่ง ขอบคุณท่าน อ.สุวัฒนา วรรณรังษี อาจารย์ประจำกลุ่มที่คอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจมาตลอด ขอบคุณท่าน อ.ชัยรัตน์ พลมุข ที่ให้ความคาดหวังในผลงานของผม แต่ต้องขอโทษด้วยครับถ้าผมงานของผมยังต้องปรับปรุงอีกมาก
ขอบคุณคุณแม่ที่เป็นกำลังใจให้ตลอด ขอบคุณโบ๊ต พุฒิพัฒน์ ลภัสอธิวัฒน์ (วิทยาศาสตร์ปี 3) ที่ยุให้โทรไปจนได้สัมภาษณ์น้านางในที่สุด ขอบคุณรติพล โอภาสเจริญกิจ (อักษรเอกไทยปี 3) ที่ให้ยืมกล้องและกำลังใจ ขอบคุณนักรบ มูลมานัส (อักษรเอกไทยปี 3) สำหรับการเป็นที่ปรึกษาและรับฟังการร่ำไห้ระหว่างการทำงาน
ขอบคุณเฮียหมู สุธรรมกิจ พิตรปรีชา (อักษรเอกไทยปี 2) ที่อ่านงานเขียนฉบับแรกให้แล้วตีกลับพร้อมคอมเมนต์แหลกลาญทำให้พี่ตัดสินใจเขียนใหม่ทั้งหมดด้วยความพยายามอีกครั้ง
ขอบคุณน้องเฟย์ ณิชารีย์ เที่ยงธรรม (อักษรเอกอิตาเลียนปี 2) พี่มิ่ง มิ่ง ปัญหา (อักษรเอกอังกฤษปี 4)และพี่เฟิร์น ปริมา กอบกุลบุญศิริ (อักษรเอกไทยปี 4) และฝน อารียา บุญลำ (อักษรเอกไทยปี3) ที่ให้คำแนะนำความเห็นและกำลังใจ ขอบคุณเพื่อนๆ เอกญี่ปุ่น ปี 3 (รหัส 52) ทุกคนที่คอยเป็นห่วงและให้กำลังใจ และขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านและผู้ที่เป็นกำลังใจให้ในเฟสบุ๊กครับ
(เขียนเพิ่มเติมตอนอัพโหลดลง Note ใน Facebook น่าจะเมื่อเดือนมีนาคม 2555)
ป.ล. งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 (หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และก่อนผู้เขียนเดินทางไปแลกเปลี่ยนที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่นหลังจากนั้นไม่นานนัก) ในช่วงที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานเขียนนี้เป็น assignment ชิ้นหนึ่งในรายวิชา "การเขียนภาษาไทยเชิงวิชาชีพ" ที่ชาวอักษรเรียกกันติดปากว่า "THAI PRO WRIT(E)" ตามชื่อที่ปรากฎในระบบทะเบียนและประเมินผลของสำนักทะเบียนฯ จุฬาฯ ซึ่งเป็นวิชาบังคับของนิสิตอักษรศาสตร์ทุกคนและต้องเรียนตอนปี 3 เทอม 2
ในเทอมนั้นอาจารย์มอบหมายงานชิ้นนี้ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงสารคดี ที่ต้องออกไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพอาชีพใดอาชีพหนึ่งจำนวน 20 อาชีพ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาชีพที่แปลก ผมตัดสินใจอยู่สักพักว่าจะสัมภาษณ์อาชีพอะไรดีระหว่างนักบินอวกาศกับนักร้องลูกทุ่ง แต่ด้วยใจรักในเพลง คิดถึงเพลงคิดฮอดที่ดังอยู่ในใจของผู้เขียนเสมอในช่วงเวลานั้น จึงเลือกที่จะสัมภาษณ์อาชีพ "นักร้องลูกทุ่ง"
การตัดสินใจครั้งนั้นบ้าบิ่นมาก ตัดสินใจทำลงไปโดยไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอย่างไร จะขอสัมภาษณ์น้านางอย่างไรยังไง ต้องขอขอบคุณเพื่อนโบ๊ต (ขอบคุณไปแล้วในย่อหน้าด้านบน) ที่ยุให้ลองทำจนกระทั่งหาเบอร์โทรน้าโก้ ผู้เป็นผู้จัดการของน้านางในขณะนั้น และยุให้โทรไปหาน้าโก้ จนในที่สุดก็ได้ไปสัมภาษณ์น้านางขึ้นมาจริงๆ (ขอบคุณอีกครั้งที่ยุให้คนบ้าบินทำอะไรที่บ้าบิ่น (ฉิบหาย))
งานเขียนนี้เป็นงานที่ผมทุ่มเทอย่างจริงจังมาก จริงจังเสียจนรู้สึกว่าผม "เท" วิชาเอกของตัวเองอย่างวิชาภาษาญี่ปุ่นที่ลงทะเบียนไว้ถึง 5 วิชาอย่างไม่สนใจใยดี ทั้งๆ ที่งานนี้มีคะแนนแค่ 15 คะแนนของงานทั้งหมดตลอดทั้งเทอมของวิชา THAI PRO WRIT(E) เท่านั้น และมีหน่วยกิตเท่ากับวิชาอื่น ๆ ด้วยซ้ำ
แต่งานที่เขียนถึงน้านางชิ้นนี้ก็ทำให้ผมค้นพบตัวเองว่า ผมเป็นคนชอบดนตรี อย่างน้อยก็ชอบมากพอที่จะอยู่บนเส้นทางสายนี้ได้ด้วยความมุ่งมั่น การเลือกสัมภาษณ์อาชีพที่ไม่รู้ว่าจะไปสัมภาษณ์และเขียนงานให้สำเร็จได้อย่างไรด้วยทรัพยากรอันน้อยนิดและจำกัดของเด็ก ป.ตรี คนหนึ่งที่ไม่มีแม้แต่คอนเนคชั่นหรือทุนทรัพย์ใด ๆ ตั้งแต่แรก ถือเป็นการตัดสินใจที่บ้าบิ่น และอาจจะล้มเหลวไม่เป็นท่าตั้งแต่แรก แต่กลับกลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งงานที่ผมรักและเป็นกำลังใจให้ผมจนถึงทุกวันนี้
การกล้าเสี่ยงโทรศัพท์ไปหาน้าโก้จนทำให้ได้สัมภาษณ์น้านางจริง ๆ และเขียนงานจนสำเร็จคืออะไรที่สุดมากสำหรับเด็ก ป.ตรี หัวโปกคนหนึ่งอย่างผม จำไม่ได้แล้วว่างานนี้ตีพิมพ์ที่ไหนบ้าง (ถ้าจำไม่ผิดมีตีพิมพ์ในวารสารของฝ่ายสาราณียากรของคณะอักษร ฯ ด้วยครั้งหนึ่งแน่ๆ) พอย้อนกลับไปมองถึงความพยายามของตัวเองในตอนนั้นก็ทำให้คิดว่าทำไมไม่หันมาเอาดีทางนี้ (วะ)
แต่สิ่งอื่นใดนั่นคือความดีใจที่เห็นเพลงพื้นบ้านอย่างหมอลำ หรือเพลงภาษาถิ่นอื่น ๆ หรือเพลงที่มีกลิ่นอายท้องถิ่นต่าง ๆ เข้ามามีพื้นที่ในดนตรีกระแสหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนที่อย่างเราเห็นได้จากดนตรีทั้งหลายในทุกวันนี้ ทั้งไททศมิตร โจอี้ ภูวศิษฏ์ จุลโหฬาร ปู่จ๋าน ลองไมค์ ฯลฯ
หรือแม้แต่การนำดนตรีและเนื้อเพลงเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการ featuring เช่นเพลงของค็อกเทล รวมถึงวงอื่น ๆ อีกหลายต่อหลายวง ได้ทำให้แนวดนตรีที่มีจิตวิญญาณของพื้นถิ่นที่คนกรุงมองว่าเป็น "ชนบท" และไม่ใช่ดนตรีกระแสหลักของไทยนั้นถูกอัปเปหิหรือต้องอยู่แต่ในพื้นที่ชายขอบของวงการเพลงอีกต่อไป ทุกท่วงทำนองจากท้องถิ่น ล้วนแต่มีพื้นที่ และมีผู้ฟังจากทุกภูมิภาคในประเทศนี้ที่เลิกดูแคลน "ความบ้านนอก" ของเพลงเหล่านี้แล้ว
สุดท้ายขอขอบคุณ SuckSeed ห่วยขั้นเทพที่ปลุกวิญญาณความรักในเสียงเพลงของผมขึ้นมา จนทำให้ผมปวารณาตัวเองเป็น "ติ่ง" พี่ ๆ วง Bodyslam อย่างเต็มขั้น (ในตอนนั้น) และได้ทำให้ผม "อิน" กับเพลงคิดฮอดอย่างโงหัวไม่ขึ้น และทำให้ผมตัดสินใจสัมภาษณ์น้านางผู้เป็นนักร้องลูกทุ่ง (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่ แต่อาจารย์ก็อนุโลมให้) ท่านแรกที่ปรากฎนามขึ้นมาในหัวสมองอันเกรียนโลกของผมในที่สุด
ขอดนตรีท้องถิ่นไทยจงก้องไกลไปทั่วทุกมุมของประเทศนี้ และขอให้เพลงไทยจงก้องกังวาลไปทั่วโลก ผมเชื่อว่าวันนั้นจะมาถึงในสักวัน วันที่ T-POP "ไม่เป็นรอง" ใคร
โฆษณา