15 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

กำเนิดเครื่องปอด-หัวใจเทียม (ECMO) (ตอนที่ 1/2)

ตุลาคม ค.ศ.1930 โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital (MGH) ประเทศอเมริกา
หมอจบใหม่ จอห์น กิบบอน (John Gibbon) กำลังนั่งอยู่ข้างเตียงผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งเขานั่งตรงนั้นมาตั้งแต่บ่าย 3 ของวันก่อนหน้า นับเวลาจนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 17 ชั่วโมงกว่าๆ แล้ว
ทุกๆ 15 นาที เขาจะต้องวัดความดัน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และวัดอัตราการหายใจของผู้ป่วยคนนี้
ผู้ป่วยรายนี้เข้ารพ. เพื่อรับการผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี แต่หลังการผ่าตัดเกิดปัญหาแทรกซ้อนมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดตันเส้นเลือดแดงของปอด ซึ่งภาวะนี้ในรายที่รุนแรงสามารถทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที
ถ้าเป็นในยุคปัจจุบันภาวะนี้เราสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด แต่แปดสิบกว่าปีที่แล้ว การรักษาเดียวที่พอจะทำได้คือ การผ่าเข้าไปเส้นเลือดแดงปอดแล้วไปดึงลิ่มเลือดนั้นออก ซึ่งการผ่าตัดนี้พัฒนาขึ้นมาโดยหมอศัลยแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ เทรนเดอเลนเบิรก์ (Trendelenburg) 23 ปีก่อนหน้า การผ่าตัดนี้จึงมีมีชื่อเรียกว่า Trendelenburg operation
แต่ปัญหาคือ การผ่าตัดนี้มีความเสี่ยงสูงมากๆ เพราะจะต้องผ่าเข้าไปในเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่ที่มีแรงดันเลือดสูงมาก จึงมีโอกาสที่เลือดจะสาดไปทั่ว อาจจะเข้าหน้าหมอผ่าตัด อาจจะท่วมบริเวณที่ผ่าตัดจนหมอแทบจะมองอะไรไม่เห็น หมอต้องพยายามผ่าตัดด้วยความเร็วสูง
แล้วด้วยความที่เป็นการผ่าตัดที่อันตรายมาก จึงพิจารณาใช้เฉพาะในผู้ป่วยรายที่คิดว่า ถ้าไม่ทำอะไรผู้ป่วยต้องเสียชีวิตแน่ๆ
นับตั้งแต่คิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบนี้มา 20 กว่าปี มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดกว่าสามร้อยคน แต่มีผู้รอดชีวิตแค่ไม่กี่สิบคน
แล้วสิ่งที่หมอกิบบอนรออยู่ก็เกิดขึ้นในเวลา 8 โมงเช้า หัวใจผู้ป่วยหยุดเต้น ชีพจรคลำไม่ได้
หมอ เชอร์ชิลล์ (Churchill) ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกศัลยกรรมและเป็นอาจารย์ของหมอกิบบอนซึ่งรออยู่แล้วก็ผลักประตูห้องผ่าตัดเข้ามาแล้วการผ่าตัดก็เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เบ็ดเสร็จการผ่าตัดกินเวลาไม่กี่นาที แล้วทีมหมอผ่าตัดก็สามารถดึงลิ่มเลือดก้อนใหญ่ออกมาได้ จากนั้นเย็บปิดช่องอก แล้วการผ่าตัดก็เสร็จสิ้น
แต่ผู้ป่วยคนนี้ก็เหมือนผู้ป่วยส่วนใหญ่คือ เสียชีวิตบนเตียงผ่าตัด
การผ่าตัดครั้งนี้จะว่าสูญเปล่าก็คงไม่ใช่ เพราะตลอด 17 ชั่วโมงที่หมอกิบบอนนั่งเฝ้าผู้ป่วยนั้น เขาครุ่นคิดตลอดเวลาว่ามีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม
ถ้าเพียงแต่มีเครื่องมือที่สามารถดึงเลือดดำออกจากร่างกายของผู้ป่วย แล้วมาฟอกให้เป็นเลือดแดงข้างนอก จากนั้นก็ส่งกลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยอีกรอบได้ เขาก็สามารถที่จะฉีดยาให้หัวใจหยุดเต้นได้แล้วผ่าตัดโดยที่ไม่ต้องรอให้หัวใจผู้ป่วยหมดแรงจนหยุดเต้นไปเอง
ระหว่างนั้นแม้ว่าการผ่าตัดจะกินเวลานาน ร่างกายและสมองของผู้ป่วยก็ยังได้รับออกซิเจนและอาหารไปเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หมอไม่ต้องรีบผ่าตัดหรือสามารถผ่าตัดหัวใจยากๆ ที่ยังไม่เคยมีใครกล้าทดลองผ่ามาก่อนได้
หรือพูดง่ายๆ ก็คือเขาต้องการสร้าง ปอด-หัวใจเทียม
เหตุการณ์ในคืนนั้นแม้ว่าจะเป็นความคิดลอยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างความง่วงก่อนที่จะลืมไปในวันรุ่งขึ้น แต่หลายปีให้หลังความคิดนั้นวนเวียนกลับมาเป็นระยะ
จนในที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 1934 เมื่อเขากลับมาทำงานเป็นนักวิจัยอีกครั้งที่โรงพยาบาล MGH มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขาก็สนใจจะนำความคิดในคืนนั้นมาทดลองทำให้เกิดขึ้นจริง
แม้ว่าเขาจะได้ทำงานวิจัยที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีทุนวิจัยมากมาย แต่ด้วยความที่โปรเจคของเขาฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ เขาจึงได้รับเงินมาทำวิจัยไม่มากนัก ทุกอย่างจึงต้องประหยัด เขาต้องซื้อปั๊มราคา 2 ดอลลาร์ เพื่อมาทำหน้าที่เป็นหัวใจเทียม และเขาต้องไปยืมอุปกรณ์ต่างๆ จากห้องแล็บที่คนอื่นไม่ใช้แล้ว
สำหรับสัตว์ทดลองซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เขาเลือกใช้แมวเพราะช่วงเวลานั้นเมืองบอสตันเต็มไปด้วยแมวจรจัด ขนาดที่ว่าในตอนกลางคืน หากเดินไปตามซอกตึก หรือมองไปบนกำแพง จะมีแมวจรจัดนับ 10 ตัวนั่งอยู่ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับชาวเมืองบอสตันอย่างมาก
แต่ละคืนหมอ Gibbon จะซื้อทูน่ากระป๋องแล้วออกไปล่อดักจับแมวเพื่อนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง
เป้าหมายของการทดลองนี้คือ เขาต้องการจะหาวิธีใส่ท่อเล็กๆ เข้าไปยังเส้นเลือดดำที่คอของแมว เพื่อนำเลือดดำที่ไหลลงมาจากศีรษะ และใบหน้าของแมวไปรวมเข้ากับเส้นเลือดดำที่มีชื่อว่า Superior Vena Cava ซึ่งเป็นเส้นเลือดดำ ที่นำเลือดดำจากร่างกายส่วนล่างกลับไปที่หัวใจ
หรือพูดง่ายๆ ว่า เขาพยายามหาเทคนิคการผ่าตัดที่จะรวมเลือดดำทั้งร่างกายเพื่อส่งไปยังปั๊มและเครื่องฟอกเลือดที่เขาทำขึ้น ซึ่งเขาเรียกมันว่า Extracorporeal Membrane Oxygenation ย่อว่า ECMO (ออกเสียงว่า เอ็คโม่)
โดยเครื่องฟอกเลือดจะมีหน้าที่ดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด แล้วดันออกซิเจนเข้าไปในเลือดจากนั้นปั๊มก็จะทำหน้าที่ส่งเลือดกลับเข้าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่จะนำเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย
หลังจากพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดจนคิดว่าได้เทคนิคที่ดีที่สุดแล้ว หมอ Gibbon ก็พร้อมจะทดลองนำเครื่องมือของเขาไปใช้ในการผ่าตัดหัวใจของสัตว์ทดลองจริงๆ ช่วงเวลานี้ผู้บริหารของบริษัท IBM ได้ทราบเรื่องราวความพยายามของเขา จึงเสนอให้ทุนวิจัยกับ Gibbon โดยไม่หวังผลตอบอะไร ทำให้หมอกิบบอนมีเงินทำงานวิจัยมากขึ้น
การทดลองผ่าตัดหัวใจจริงๆ เขาเลือกทำการทดลองกับสุนัข เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่กว่าแมว ทำให้ใกล้เคียงกับร่างกายมนุษย์มากกว่า วิธีการคือ เขานำเครื่อง ECMO มาต่อเข้ากับเส้นเลือดดำ และเส้นเลือดแดงของสุนัข จากนั้นก็ฉีดยาให้หัวใจของสุนัขหยุดเต้นชั่วคราว
เมื่อหัวใจหยุดเต้น การผ่าตัดก็ทำได้ง่ายไม่ต่างไปจากอวัยวะอื่นๆ จากนั้นเขาก็ทดลองผ่าตัดหัวใจในรูปแบบต่างๆ เพื่อดูว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดคิด หรือนึกไม่ถึงเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ และเพื่อดูว่าจะสามารถหยุดการทำงานของหัวใจและปอดได้นานแค่ไหน
หลังจากทดลองหลายครั้ง เขาก็พบว่าสามารถหยุดการเต้นของหัวใจได้นานถึง 30 นาทีโดยสุนัขไม่มีอาการผิดปกติหลังการผ่าตัด ซึ่งเวลาเท่านี้เพียงพอที่จะผ่าตัดหัวใจในแบบต่างๆ ได้
ถึงตรงนี้ หมอกิบบอนก็เชื่อว่าเขาพร้อมแล้วที่จะนำเครื่อง ECMO ไปทดลองผ่าตัดหัวใจของมนุษย์จริงๆ
เขาไม่รู้เลยว่าการตัดสินใจนำเครื่อง ECMO ไปใช้นั้น สุดท้ายจะทำให้เขาตัดสินใจวางมีดแล้วเลิกผ่าตัดหัวใจไปอย่างถาวร ส่วนเรื่องราวตรงนี้จะเป็นอย่างไร เราจะไปคุยกันต่อในตอนที่ 2 ครับ
ถ้าชอบเรื่องเล่าประวัติศาสตร์การแพทย์แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือ "สงครามที่ไม่มีวันชนะ" และ "เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ" สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือ Official ของหมอเอ้ว คลิกเลย 😊
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3NUUhuS
โฆษณา