17 พ.ค. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

ดอกไม้บานเดือนนี้ "ตะแบกเปลือกบาง"

𝘓𝘢𝘨𝘦𝘳𝘴𝘵𝘳𝘰𝘦𝘮𝘪𝘢 𝘥𝘶𝘱𝘦𝘳𝘳𝘦𝘢𝘯𝘢 Pierre ex Gagnep. var. 𝘥𝘶𝘱𝘦𝘳𝘳𝘦𝘢𝘯𝘢
วงศ์ : Lythraceae
ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม มีพรรณไม้สกุลตะแบก (Lagerstroemia) หลายชนิดออกดอก ชนิดที่มีลักษณะของเปลือก ใบ และดอกคล้ายกันมาก คือ ตะแบกเปลือกบาง (𝘓𝘢𝘨𝘦𝘳𝘴𝘵𝘳𝘰𝘦𝘮𝘪𝘢 𝘥𝘶𝘱𝘦𝘳𝘳𝘦𝘢𝘯𝘢 Pierre ex Gagnep. var. 𝘥𝘶𝘱𝘦𝘳𝘳𝘦𝘢𝘯𝘢) และตะแบกเกรียบ (𝘓. 𝘤𝘰𝘤𝘩𝘪𝘯𝘤𝘩𝘪𝘯𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 Pierre)
ลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดของตะแบก 2 ชนิดนี้ คือ ก้านดอกย่อยเทียม (pseudopedicel) ตะแบกเปลือกบางมีก้านดอกย่อยเทียมยาวมาก ยาวได้ถึง 12 มม. มีขนสั้นมาก สีขาวอมเทา ปกคลุมห่าง ๆ ส่วนตะแบกเกรียบก้านดอกย่อยเทียมยาวเพียง 2-5 มม. และมีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น
บริเวณที่พบตะแบกเปลือกบางได้ง่าย เช่น ริมแม่น้ำมูลหน้าศูนย์ฝึกอบรมสาธารณสุขโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สองข้างถนนที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบแล้ง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
ตะแบกเปลือกบาง เป็นไม้ต้น สูง 12-25 ม. เปลือกสีเทาอมขาว หลุดร่อนเป็นแผ่นทำให้เกิดรอยบุ๋ม ออกดอกตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 10-20 ซม. กลีบดอกสีม่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่มีเส้นศูนย์กลาง 2-2.5 ซม. ผลรูปทรงไข่ ยาว 1.2-1.7 ซม. ฐานผลมี 12 สัน ไม่เด่นชัด
ตะแบกเปลือกบาง ขึ้นในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูง 75-325 ม. ในไทยพบทางภาคตะวันออกที่จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ต่างประเทศพบที่กัมพูชา
#สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช #ตะแบกเปลือกบาง
โฆษณา