16 พ.ค. 2023 เวลา 13:14 • ประวัติศาสตร์

กำเนิดเครื่องปอด-หัวใจเทียม (ECMO) (ตอนที่ 2/2)

ในปี 1952 ที่งานประชุมศัลยแพทย์ทรวงอกอเมริกา (Amearican Association for Thoracic Surgery)
1
หลังจากทดลองในสุนัขจนมั่นใจ หมอกิบบอน (Gibbon) ได้กล่าวในงานประชุมว่า ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เครื่องปอดหัวใจ-เทียม (หรือ Extracorporeal Membrane Oxygenation ย่อว่า ECMO) สามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้
การนำเครื่อง ECMO มาช่วยผ่าตัดในมนุษย์เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1952 ที่โรงพยาบาลเพนซิลวาเนีย
ผู้ป่วยรายแรกเป็นเด็กทารกเพศหญิงอายุ 15 เดือน ซึ่งมีอาการป่วยหนักมาก
ในยุคนั้นการวินิจฉัยโรคหัวใจยังมีความแม่นยำต่ำมาก และเป็นยุคก่อนที่จะมีเครื่องสแกนต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อัลตราซาวนด์ หรือเครื่องอัลตราซาวด์หัวใจหรือที่เรียกว่า เอคโค่ (echo cardiogram)
การวินิจฉัยโรคหัวใจในยุคนั้น จึงต้องทำผ่านการฟังเสียงหัวใจเต้นเป็นหลัก แม้แต่ผู้ป่วยหนักจนต้องผ่าตัดหมอก็ต้องให้การวินิจฉัยด้วยการฟังอย่างเดียว
ผู้ป่วยทารกรายนี้หมอให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจที่ผนังด้านบนของหัวใจด้านบนรั่วมาตั้งแต่กำเนิด โรคนี้มีชื่อเรียกย่อว่า ASD ผลคือ หัวใจห้องบนซ้ายและขวาไหลปนกันได้ ทำให้เลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกายผสมกับเลือดลำ นอกจากนี้กล้ามเนื้อหัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นจนสู้ไม่ไหว
ด้วยเหตุนี้เด็กทารกคนนี้จึงมีสภาพร่างกายค่อนข้างแย่ แม้ว่าจะอายุขวบกว่าแล้ว แต่มีน้ำหนักแค่ประมาณ 5 กิโลกรัมเท่านั้น และส่วนหนึ่งของน้ำหนักยังไม่ใช่น้ำหนักจริงแต่เป็นน้ำหนักของน้ำที่คั่งในเนื้อเยื่อจากภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้หมอที่ดูแลเชื่อว่าถ้าไม่ทำอะไร ทารกคนนี้คงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน
หลังจากที่หมอ Gibbon นำเด็กน้อยขึ้นเตียงผ่าตัด แล้วต่อเข้ากับเครื่องปอดหัวใจเทียม การผ่าตัดก็เริ่มต้นขึ้น
เมื่อหมอ Gibbon เปิดช่องอกเข้าไปก็พบว่าหัวใจของเด็กมีขนาดใหญ่มาก แต่เป็นการใหญ่ที่เกิดจากการต้องทำงานหนักมาตลอดจนกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอมาก อ่อนแอจนเหมือนไม่มีแรงจะบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อหมอ Gibbon กรีดมีดลงไปเพื่อเปิดผนังหัวใจออกเขายิ่งต้องประหลาดใจที่พบว่าไม่มีรอยรั่วอย่างที่หมอหัวใจวินิจฉัยไว้
สุดท้ายเขาต้องเย็บปิดหัวใจและปิดแผลผ่าตัด โดยไม่ได้ทำการผ่าตัดอะไรให้ผู้ป่วย แล้วก็เตรียมจะปิดเครื่องปอด-หัวใจเทียม
แต่….
หัวใจของผู้ป่วยไม่ยอมกลับมาเต้น
ด้วยความที่หัวใจของทารกคนนี้อ่อนแอมากจนเรียกว่าปริ่มๆ จะหยุดเต้น เมื่อถูกทำให้หยุดไปจึงไม่มีแรงกลับมาเริ่มบีบตัวอีกครั้ง ต้องพึ่งเครื่องปอด-หัวใจเทียมไปเรื่อยๆ หมอและพยาบาลพยายามจะกระตุ้นหัวใจอยู่นาน สุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้สำเร็จ ผู้ป่วยรายแรกที่ได้ใช้เครื่อง ECMO ช่วยผ่าตัดหัวใจ จึงเสียชีวิตอยู่บนเตียงผ่าตัด
การชันสูตรศพหลังผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว พบว่าความผิดปกติของผู้ป่วยจริงๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นภายในหัวใจ แต่เกิดขึ้นที่เส้นเลือดนอกหัวใจ ซึ่งหากสามารถวินิจฉัยได้ก่อนที่หัวใจจะอ่อนแอลง เท่านี้ก็อาจจะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม
1
เพราะการรักษาครั้งแรกจบลงด้วยความล้มเหลว การคัดเลือกผู้ป่วยรายที่สองมาใช้เครื่อง ECMO จึงต้องคัดเลือกอย่างระมัดระวังมากขึ้น
ประมาณ 1 ปีถัดมาคือ คือในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1953 หมอ Gibbon ก็พยายามผ่าตัดหัวใจโดยใช้เครื่อง ECMO อีกครั้ง ครั้งนี้เป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 18 ปี ชื่อ ซิซีเลีย บาโวเลก (Cecilia Bavolek)
พ่อแม่ของเธอได้รับคำบอกเล่าจากหมอตั้งแต่เธอยังเป็นทารกว่าเธอมีหัวใจที่ผิดปกติ แต่หมอไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าความผิดปกตินั้นคืออะไร อย่างไรก็ตามซิซีเลียเติบโตมาได้ค่อนข้างปกติ จนกระทั่งเมื่ออายุ 15 ปีก็เริ่มมีอาการป่วย หลังจากนั้นมาอาการเธอก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว
ในช่วง 3 ปีแรกหลังเริ่มป่วย เธอต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจค่อยๆ อ่อนแอลง จนกระทั่งไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ เลือดที่ไม่ถูกบีบไปด้านหน้าจึงย้อนแล้วท้นกลับเข้าไปในปอดจนเกิดภาวะที่เรียกว่า น้ำท่วมปอด เริ่มแรกเธอมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แต่อาการเป็นมากขึ้นจนถึงจุดที่นอนเฉยๆ ก็หอบเหนื่อย
หมอหัวใจที่รักษาให้การวินิจฉัยว่าเธอน่าจะมีผนังหัวใจรั่วแต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นผนังหัวใจด้านบนหรือด้านล่าง อย่างไรก็ตาม หลังจากหมอได้ปรึกษาคุยกันแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า หากไม่ทำอะไรผู้ป่วยคงจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน หมอ Gibbon จึงตัดสินใจที่จะนำซิซีเลียมาผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอีกครั้ง
สิ่งที่พบหมอ Gibbon พบเมื่อผ่าเปิดเข้าไปในหัวใจคือ ผนังหัวใจด้านบนของเธอมีรูรั่วขนาดใหญ่ ซึ่งก็พอจะเย็บซ่อมได้ไม่ยาก การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี กินเวลาทั้งหมดประมาณ 26 นาที หลังผ่าตัดอาการของซีซีเลียก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนสุดท้ายเธอก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตวัยรุ่นได้เหมือนปกติ
เธอจึงเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ประสบความสำเร็จจากการผ่าตัดด้วยเครื่อง ECMO
1
สองเดือนถัดมา หมอ Gibbon ได้พยายามใช้ ECMO กับการผ่าตัดอีก 2 ครั้ง ผู้ป่วยทั้งคู่เป็นเด็กหญิงอายุ 5 ขวบ คนแรกได้รับการวินิจฉัยว่ามีผนังหัวใจด้านบนรั่ว แต่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่อ่อนแอมากแทบจะไม่ต่างจากผู้ป่วยเด็กหญิงรายแรก
การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดี แต่หลังผ่าตัดก็มีปัญหาเดิมเกิดขึ้นนั่นก็คือ หัวใจของผู้ป่วยไม่กลับมาเต้นเอง จนต้องเปิดเครื่อง ECMO พยุงชีวิตผู้ป่วยไปเรื่อยๆ หลังจากพยายามที่จะกระตุ้นหัวใจด้วยวิธีต่างๆ สลับกับการพยายามปิดเปิดเครื่องปอดหัวใจเทียมไปมาอยู่นานกว่า 4 ชั่วโมง หมอก็ต้องยอมรับว่าการรักษาล้มเหลวและปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตบนเตียงผ่าตัดอีกครั้ง
ผู้ป่วยหญิงอายุ 5 ขวบอีกราย ก่อนผ่าตัดได้รับการวินิจฉัยว่าผนังหัวใจด้านบนมีรูรั่ว แต่เมื่อเปิดเข้าไปพบว่าผนังหัวใจมีความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน ทั้งรอยรั่วที่ผนังหัวใจด้านบน รอยรั่วในผนังหัวใจด้านล่าง และยังมีความผิดปกติที่เส้นเลือดนอกหัวใจ ทำให้เทคนิคการผ่าตัดมีความยุ่งยาก สุดท้ายระหว่างผ่าตัดก็เกิดภาวะเลือดออกปริมาณมากจนไม่สามารถที่จะควบคุมภาวะการเสียเลือดได้ แล้วจนผู้ป่วยก็เสียชีวิตบนเตียงผ่าตัดไปอีกหนึ่งคน
สำหรับหมอ Gibbon นั่นคือจุดสูงสุดที่เขาจะรับได้ เขาประกาศว่าเขาจะไม่ใช้เครื่อง ECMO อีกต่อไป เขายังคงทำงานเป็นศัลยแพทย์ต่อไปแต่จะไม่กลับมาผ่าตัดหัวใจอีกแล้ว ซึ่งการประกาศของเขาสร้างความตกใจให้ในวงการศัลยแพทย์หัวใจเป็นอย่างมาก เพราะในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เขาเป็นผู้นำของวงการที่ทุ่มเทอย่างหนักที่จะพัฒนาวิธีการผ่าตัดใหม่ๆ และเป็นผู้พัฒนาเครื่อง ECMO ซึ่งใครๆ ก็มองเห็นว่าดีขึ้นเรื่อยๆ มาโดยตลอด อีกแค่นิดเดียวก็จะประสบความสำเร็จแล้ว แต่เขาก็ตัดสินใจหันหลังและทิ้งทุกอย่างไปในวัยแค่ 49 ปีเท่านั้น
สำหรับเครื่อง ECMO เขาตัดสินใจยกพิมพ์เขียวให้กับโรงพยาบาลเมโยคลีนิก โรงพยาบาลไหนที่ต้องการนำเครื่องนี้ไปทำวิจัยต่อ เขาก็ยินดีเดินทางไปสอนและให้คำแนะนำ ทำให้เครื่องปอด-หัวใจเทียม ได้รับการพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ
และด้วยเครื่อง ECMO ก็ทำให้การผ่าตัดหัวใจปลอดภัยมากขึ้น ง่ายมากขึ้น การผ่าตัดหัวใจจึงทำกันแพร่หลายมากขึ้น เทคนิคการผ่าตัดและผลการรักษาจึงดีขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากที่หมอ Gibbon เลิกการผ่าตัดหัวใจไปประมาณ 10 ปี การผ่าตัดหัวใจด้วยเครื่องปอดหัวใจเทียมกลายเป็นการผ่าตัดที่ใช้กันทั่วไปในอเมริกา
ทุกวันนี้ หมอ Gibbon ได้รับการจดจำในฐานะของคนแรกที่พัฒนาเครื่องปอด-หัวใจเทียม ถ้าเพียงแต่เขาทำงานวิจัยต่อไปอีกไม่กี่ปีเขาคงจะถูกจดจำในฐานะของบิดาของการผ่าตัดหัวใจไปด้วย อย่างไรก็ตามผลงานของเขาก็ได้ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้
ถ้าชอบเรื่องเล่าประวัติศาสตร์การแพทย์แบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ "สงครามที่ไม่มีวันชนะ" และ "เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ"
สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือ Official ของหมอเอ้ว คลิกเลย 😊
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3NUUhuS
โฆษณา