18 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • ธุรกิจ

การบินพลังงานสะอาด…ฝันที่ไม่กล้าฝันของประชาชน

อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะจำนวนมาก”
ยิ่งด้วยความสำคัญของอุตสาหกรรมเอง ที่มีการคาดการณ์กันว่า ในอนาคตการบินจะต้องรองรับผู้โดยสารมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้หลายคนยิ่งเป็นห่วงว่า มลภาวะที่ปล่อยจากอุตสาหกรรมจะยิ่งมากขึ้นไปอีก
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทางอุตสาหกรรมการบินก็รู้ และก็พยายามจะพัฒนาเพื่อลดการปล่อยมลภาวะลง แต่การจะไปถึงเป้าหมายตรงนั้นได้นั้นทำได้ไม่ง่ายเลย…
อุตสาหกรรมการบินลดการปล่อยก๊าซมลภาวะได้มามากแล้ว
เมื่อมองย้อนกลับไป แท้จริงแล้วต้องบอกว่า อุตสาหกรรมทำหน้าที่ได้ดีพอสมควรในการลดการปล่อยมลภาวะ เมื่อเทียบกับอีกหลายอุตสาหกรรม
โดยทางคุณสตีเวน กิลลาร์ด (Steven Gillard) ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของบริษัทโบอิ้ง (Boeing) ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ว่า “อุตสาหกรรมการบินมีประวัติศาสตร์แสนวิเศษ (wonderful history)ในการตัดการปล่อยมลภาวะ”
การกล่าวอ้างของคุณสตีเวนไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด อ้างอิงข้อมูลจากทาง The Economist แล้ว ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินสามารถลดมลภาวะลงไปได้ถึงกว่า 80%
อย่างไรก็ดี แม้จะไปลดลงไปได้มากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่นั่นก็ยังไม่พอสำหรับเป้าหมายที่มีการตั้งเอาไว้เพื่อกลายเป็น “การบินพลังงานสะอาด” อย่างเต็มตัวอย่างดี
การจะไปถึงเป้าหมายนั้นไม่ง่าย ด้วยข้อจำกัดด้านต่างๆ ของลักษณะธุรกิจ ซึ่งก็มีการประเมินโดยองค์กร “Mission Possible” ว่า การบรรลุเป้าหมายต้องเกิดมาจากหลายองค์ประกอบรวมกัน
📌 องค์ประกอบการไปถึงเป้าของการบินสะอาด
องค์ประกอบแรกที่ถูกคาดการณ์ว่า จะถูกนำมาช่วยลดมลภาวะในอุตสาหกรรมการบิน คือ การนำพลังงานจากแบตเตอรี่มาใช้แทนเชื้อเพลิงแบบเก่า
ทางเลือกแบบนี้ จะคล้ายกับแนวคิดการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้กลายมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
โดยปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนหนึ่งเริ่มพัฒนา “แบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรมการบิน”แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Electra ที่พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่รุ่นต้นแบบสำหรับเครื่องบินขนาดเล็กให้กับบริษัทในทวีปอเมริกาเหนือ
อีกพลังงานทางเลือกที่ถูกนำมาพูดถึงกันมาก คือ “ไฮโดรเจนเหลว (liquid hydrogen)” พลังงานสะอาดที่มีความท้าทายในเรื่องอุณหภูมิการเก็บที่ต้องติดลบเกิน 200 องศาเซลเซียส
ซึ่งก็มีข่าวออกมาทางผู้ผลิตเครื่องบินหลายใหญ่ในสหภาพยุโรปอย่างแอร์บัส (Airbus) กำลังพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ที่รองรับไฮเดรเจนเหลวได้
อย่างไรก็ดี คาดกันว่า พลังงานทางเลือกทั้งสองแบบจะไม่สามารถทดแทนการบินทั้งหมดได้ จะช่วยได้เพียงส่วนการบินในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี
พลังงานทางเลือกหนึ่งที่มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการบินที่หลายคนอาจจะไม่รู้ ส่วนประกอบสำคัญในพลังงานทางเลือกนี้ คือ “น้ำมันที่เหลือจากการปรุงอาหาร”
ซึ่งเชื้อเพลิงที่มีการผสมน้ำมันที่เหลือจากการปรุงอาหารนี้ สามารถลดการปล่อยมลภาวะได้มากกว่า 80%
และก็มีโอกาสที่เชื้อเพลิงประเภทนี้จะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่เครื่องบินทุกลำต้องสามารถรับได้ในอนาคตอันใกล้นี้
แต่ในขณะที่หลายคนพุ่งความสนใจการลดมลภาวะไปที่ “การใช้พลังงานทางเลือก” อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่หย่อนไปกว่ากันคือ “การพัฒนาดีไซน์เครื่องบินและการบริหารเส้นทางการบิน”
อันที่จริงแล้ว จากการคาดการณ์ขององค์กร Mission Possible พวกเขาคิดว่า ปัจจัยส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญที่สุดต่อการลดการปล่อยมลภาวะของอุตสาหกรรมการบินถึงราว 40%!!
📌 ราคาค่าตั๋วจะแพงขึ้นไหม?
คำถามสำคัญข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นมา จากความพยายามในการสร้างอุตสาหกรรมการบินที่สะอาดมากขึ้น คือ “ราคาค่าตั๋วจะแพงขึ้นไหม?”ซึ่งคำตอบจากทางองค์กรในสหราชอาณาจักร Sustainable Aviation คือ “ค่าตั๋วจะแพงขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้คนก็จะยังอยากที่จะบินด้วยเครื่องบินอยู่ดี”
โดยการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นสำหรับเครื่องบินในปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ ทำให้มีโอกาสที่ต้องส่งผ่านไปกับผู้ใช้งานบ้างบางส่วน
อย่างไรก็ดี เป้าหมายการไปสู่ Net Zero ของทั่วโลกเป็นเป้าหมายการเติบโตแบบอย่างยั่งยืนที่หลายรัฐบาลให้น้ำหนักมากขึ้น
ซึ่งก็เป็นการคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าค่าตั๋วบินยังถูกแต่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ก็มีโอกาสจะมาสร้างความเสียหายมากกว่าได้
นอกจากนี้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของมนุษย์หลายครั้งไปไกลเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้มาก
ในวันนี้ เราอาจจะคาดการณ์ว่า ต้นทุนของการบินสะอาดจะต้องแพงขึ้น แต่ในอนาคต เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอาจจะทำให้การบินสะอาดมีราคาถูกกว่าการบินปกติในปัจจุบันก็ได้…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา