23 พ.ค. 2023 เวลา 14:07 • ความคิดเห็น
ขึ้นอยู่กับมุมมองพ่อแม่ที่มีต่อลูกและตนเองหากมองว่าการมีลูกเหมือนการลงทุน ตัวพ่อแม่ลงทุนให้ลูกเกิดมา ลงทุนเลี้ยงดู ลงทุนส่งเสริมการเรียน ทำให้เติบใหญ่ พ่อแม่จึงนับเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นบุญคุณ ที่ลูกจะต้องตอบแทนในทางที่อย่างน้อยที่สุดคือการสำนึกบุญคุณ หรือมากกว่านั้นก็ต้องเลี้ยงดู หรือให้สินทรัพย์ตอบแทนในสิ่งที่พ่อแม่ได้ลงทุนไปทั้งหมด
ในทางกลับกัน หากพ่อแม่มองการเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องมีในฐานะผู้ที่ต้องการหรือทำให้คนๆนึงกำเนิดเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ สิ่งที่เด็กวันรุ่นเหล่านั้นพูดมาก็ไม่ผิดอะไรเลย จุดเริ่มต้นของพ่อแม่ที่ต้องการมีลูกก็คืออยากเติมเต็มชีวิตตนเอง (เป็น Benefit ของพ่อแม่) อยากมีลูกเพราะการมีทำให้เกิดความสุขกับตนเอง
ณ วันแรกที่ลูกเกิดคนที่ดีใจมีความสุขคือพ่อแม่ คนที่ร้องไห้คือลูก ลูกมิใช่ผู้ร้องขอให้เรานำพาเขามาเผชิญความสุขทุกข์ในโลกใบนี้ไม่ พ่อแม่ที่ตระหนักถึงประเด็นนี้จะเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งพ่อแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดตามความสามารถของพ่อแม่แต่ละคน ลูกได้ตอบแทนพ่อแม่ไปหมดแล้วนับตั้งแต่วันที่เค้าลืมตาดูโลก โดนการเติมเต็มชีวิตและให้ความสุขมากมายเหลือล้นแก่พ่อแม่
เราจะนับเป็นบุญคุณได้หรือกับการต้องทำในสิ่งที่พ่อแม่สมควรต้องทำอยู่แล้ว นั่นก็คือการเลี้ยงดู สั่งสอนในสิ่งที่ถูกต้องและให้ความรักแก่ลูก ให้เค้าเติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ และในท้ายที่สุด "ลูก" จะคือตัวชี้วัดถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของคนเป็นพ่อเป็นแม่ หากเค้าเติบใหญ่ไปได้ดี มีการศึกษาหน้าที่การงานที่ดี มีชีวิตที่เป็นสุข นั่นหมายถึงคนเป็นพ่อเป็นแม่รับผิดชอบในหน้าที่ตัวเองได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกันหากลูกล้มเหลวในชีวิต คนที่ล้มเหลวยิ่งกว่าก็คือพ่อแม่
ถ้าจะพูดให้สุดโต่งยิ่งกว่านั้น ลูกมีบุญคุณต่อเราด้วยซ้ำไป ในฐานะผู้ให้ความสุขและเติมเต็มชีวิตของพ่อแม่ตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดมา สุดท้ายปลายทางหากลูกจะย้อนกลับดูแลพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่าย่อยเกิดจากความรักและความผูกพันธ์ที่ทุกคนมีต่อกัน หาใช่ต้องชดใช้ทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ แต่หากสุดท้ายลูกเติบใหญ่จากไปไม่เหลียวแล คนเป็นพ่อแม่ก็ควรจะทบทวนตนเองถึงความผิดพลาดที่ได้ทำลงไปของตนในตลอดช่วงชีวิตของลูก หาใช่โยนความผิดไปให้ลูก ว่าเค้าเนรคุณ.....พูดในฐานะคุณพ่อลูกสอง
โฆษณา