25 พ.ค. 2023 เวลา 12:05 • ประวัติศาสตร์

กำเนิดยาเปลี่ยนโลกที่ชื่อ เพนิซิลลิน ตอนที่ 1/2

วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 มีเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนโลก
หมายเหตุ : บทความนี้ ย่อและเรียบเรียงมาจาก**บทที่ 29 ของหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ
ในวันที่นักเคมีชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เอิร์นสท์ บอริส เชน (Ernst Boris Chain) หนีภัยนาซีมาที่อังกฤษนั้น เขามีเงินติดตัวอยู่ 10 ปอนด์ ดังนั้นสิ่งแรกที่เชนทำหลังจากก้าวเท้าลงจากรถไฟเมื่อถึงกรุงลอนดอนคือ ส่งจดหมายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอสมัครงาน แม้ว่าข้อความประทับในพาสปอร์ตของเขาเขียนไว้ว่า “ห้ามทำงานทั้งงานที่ได้ค่าจ้างและไม่ได้ค่าจ้าง”
3
สุดท้ายเชนก็ได้ไปทำงานร่วมกับหมอชาวออสเตรเลียชื่อ ฮาวเวิร์ด ฟลอรีย์ (Howard Florey) ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
ในวันที่หมอฟลอรีย์ชวนเชนมาร่วมงานนั้น เขาเพิ่งจะได้มาเป็นหัวหน้าทีมวิจัยได้ไม่นาน โดยงานวิจัยที่เขาสนใจนั้นคือ ค้นหาสารเคมีจากธรรมชาติที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ นอกเหนือจากเชนแล้วนักวิทยาศาสตร์หนุ่มวัย 25 ปีอีกคนที่ชื่อ นอร์แมน จอร์จ ฮีตเลย์ (Norman George Heatley) ก็ถูกดึงมาร่วมทีมอีกคน และเป็นสามคนนี้ที่จะทำให้เพนิซิลินซึ่งในเวลานั้นถูกลืมจากวงการไปร่วมสิบปี กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง
1
ในช่วงแรกทั้งสามคนสนใจศึกษาสารเคมีธรรมชาติที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตทั่วไปตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ไลโซไซม์ (lysozyme) โดยพวกเขาอยากรู้ว่า ไลโซไซม์สลายแบคทีเรียได้อย่างไร?
เพื่อที่จะเข้าใจเกี่ยวกับไลโซไซม์มากขึ้นเชนจึงไปค้นงานวิจัยเก่าๆ ที่เคยตีพิมพ์เกี่ยวกับไลโซไซม์มาอ่าน หนึ่งในงานวิจัยสองร้อยกว่าชิ้นที่เขาค้นมาได้นั้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อ British Journal of Experimental Pathology ตั้งแต่ปีค.ศ.1929 หรือเกือบสิบปีก่อนหน้า โดยหมอที่มีชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง (Alexander Flemming)
1
ที่น่าสนใจคือ บรรณาธิการของวารสารที่มีงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นหมอฮาวเวิร์ด ฟลอรีย์นั่นเอง ซึ่งก็หมายความว่าหมอฟลอรีย์เคยผ่านตางานวิจัยชิ้นนี้ของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิงมาแล้วและตอนนั้นคงจะมองข้ามความสำคัญไป
1
สิ่งที่ทำให้เชนสะดุดในงานวิจัยชิ้นนี้คือ เฟลมมิงบอกว่า สารธรรมชาติที่เขาศึกษานั้น “สลาย” แบคทีเรียได้ ซึ่งตรงกับการทำงานของไลโซไซม์ที่ทำให้แบคทีเรียตายด้วยการสลายไป เขาจึงนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปคุยกับฟลอรีย์ และจากนั้นมาทีมจากอ๊อกซฟอร์ดทีมนี้ก็เริ่มหันมาสนใจศึกษาสารธรรมชาติที่ชื่อ เพนิซิลลินของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง
แต่ปัญหาแรกคือจะไปหาเชื้อเพนิซิลลินที่ว่ามาจากไหน เพราะเฟลมมิงเองก็เลิกศึกษาเกี่ยวกับเชื้อราตัวนี้ไปนานเกือบสิบปีแล้ว
2
บังเอิญว่านักวิทยาศาสตร์ที่อ๊อกซฟอร์ดคนหนึ่งเคยได้รับเชื้อราตัวนี้มาจากเฟลมมิงโดยตรง เชนเคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า ผมงงกับความโชคดีของตัวเองจริงๆ เชื้อราตัวนี้มันมาอยู่ในตึกเดียวกับที่ผมทำงานอยู่ได้อย่างบังเอิญ แค่ผมเดินไปยังห้องทดลองที่อยู่ตรงข้ามก็พบแล้ว ตอนแรกผมก็แค่จะแวะไปถามว่ารู้จักเพนิซิลเลียม โนตาตุม (Penicillium notatum) ไหม พวกเขาไม่เพียงแค่รู้จักแต่ยังหยิบออกมาให้ด้วย พร้อมกับบอกว่าไม่มีใครใช้ราตัวนี้มานานแล้ว พวกเขาแค่เพาะเลี้ยงเก็บไว้เฉยๆ จะแบ่งไปใช้ก็ได้
2
เมื่อได้เชื้อราที่ต้องการมาแล้ว ขั้นตอนแรกคือ สกัดแยกยาเพนิซิลลินออกมาจากเชื้อราให้ได้ก่อน แต่พวกเขาก็พบปัญหาเดียวกับที่หมอเฟลมมิงพบนั่นคือ เชื้อราชนิดนี้เติบโตช้ามากทำให้ได้เพนิซิลลินมาศึกษาน้อย ดังนั้นกว่าพวกเขาจะผลิตยาออกมาได้มากเพียงพอสำหรับทดลองในหนูก็ต้องใช้เวลารออยู่นานหลายสัปดาห์
2
ในที่สุดงานวิจัยสำคัญชิ้นนี้ก็เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1940
1
ทีมวิจัยแบ่งหนู 8 ตัวออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน ฟลอรีย์เริ่มฉีดแบคทีเรียก่อโรคให้กับหนูทั้งหมดในเวลา 11 โมงเช้า เมื่อถึงเวลาเที่ยงหนู 4 ตัวในกลุ่มแรกก็ได้รับยาเพนิซิลลิน จากนั้นนักวิจัยทั้งสามก็นั่งเฝ้าดูหนูกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ
7 ชั่วโมงต่อมาคือเวลาประมาณหนึ่งทุ่มพวกเขาก็เริ่มสังเกตเห็นอาการที่ต่างกันระหว่างหนูกลุ่มที่ได้รับยาและไม่ได้รับยา หนูที่ได้รับยาเพนิซิลลินยังดูปกติ สดชื่น กินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย แต่หนูกลุ่มที่ไม่ได้รับยาดูมีอาการเซื่องซึม ไม่พยายามแม้แต่จะกินอาหาร
เมื่อถึงเวลาประมาณสี่ทุ่ม หนูกลุ่มที่ได้ยายังดูปกติ นั่งเลียขนตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างสบายใจ แต่หนูกลุ่มที่ไม่ได้รับยา ดูอ่อนเพลีย นอนพังพาบเหมือนใกล้ตาย ถึงตอนนี้ฟลอรีย์ก็ตัดสินใจกลับบ้านไปนอนและให้ฮีตลีย์อยู่เวรเฝ้าดูอาการของหนูต่อไป
ก่อนจะถึงเที่ยงคืนเล็กน้อย หนูตัวหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาก็ลุกขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อยืนขึ้นได้แล้วก็เซไปเซมาอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะล้มลงชักกระตุก 2 ที แล้วก็หยุดหายใจไป
2
เวลาประมาณตีหนึ่งครึ่ง หนูในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาอีกสองตัวก็ตายไป
เวลาตี 3.28 น. หนูในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาตัวสุดท้ายก็หายใจเข้า ยกหัว อ้าปากค้างแล้วก็ล้มแน่นิ่งลงไป
1
หลังจากที่ฮีตลีย์บันทึกรายละเอียดที่เห็นและลงเวลาเรียบร้อย เขาก็ปิดสมุดบันทึกลงแล้วนั่งเงียบๆ เขารู้ดีว่าสิ่งที่ปรากฎต่อหน้าเขานี้ เป็นเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไปอย่างมหาศาล เมื่อเก็บของทุกอย่างเรียบร้อยฮีตลีย์ก็ปิดห้องทดลองแล้วขี่จักรยานฝ่าความมืดไปด้วยความรู้สึกที่อธิบายได้ยาก
*******
ในเช้ามืดของวันที่ฮีตลีย์ขี่จักรยานฝ่าความมืดกลับไปบ้านนั้น ณ ที่ห่างไกลออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร ที่เมืองดันเคิรก์ (Dunkirk) ประเทศฝรั่งเศส ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังโดนรุกไล่จากกองทัพนาซีอย่างหนัก ทหารของกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม รวม 400,000 กว่าคน กำลังโดนรถถังแพนเซอร์ของเยอรมันรุมล้อม
แต่สุดท้ายทหารสัมพันธมิตรเหล่านี้ก็ได้รับการช่วยเหลือให้หนีรอดจากการถูกสังหารมาได้ และอีกไม่กี่ปีพวกเขาต้องจะเดินทางกลับมาบุกแผ่นดินยุโรปอีกครั้งในวันดีเดย์
และการกลับมาครั้งหน้าพวกเขาจะมาพร้อมกับอาวุธสงครามชนิดใหม่ อาวุธสงครามชนิดนี้ไม่ได้มีพลังทำลายล้างที่สูงส่ง แต่เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันการตายให้กับทหารอังกฤษได้อย่างดีมาก
1
ใช่ครับ พวกเขาจะกลับมาอีกครั้งพร้อมกับสิ่งที่ชื่อ เพนิซิลลิน
2
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ทีมวิจัยจากอ๊อกซฟอร์ดต้องหาวิธีผลิตยาให้ได้ปริมาณมาก เพื่อนำมาทดลองรักษาในคนเสียก่อน แค่จะผลิตยาสำหรับหนูแค่ 8 ตัว ยังใช้เวลานานหลายสัปดาห์
1
ถ้าจะผลิตยาพอสำหรับคนซึ่งมีร่างกายใหญ่กว่าหนูหลายร้อยเท่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ แล้วยิ่งจะผลิตเพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้ทั้งกองทัพยิ่งเป็นไปไม่ได้ พวกเขาต้องทำอย่างไร ?
แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เพนนิซิลลินต้องถูกนำไปทดสอบว่าใช้ได้ผลในมนุษย์หรือไม่ และนั่นคือสิ่งที่เราจะคุยกันต่อ ในตอนหน้าครับ
ถ้าชอบเรื่องราวแบบนี้ หนังสือสงครามที่ไม่มีวันชนะ น่าจะเป็นอีกเล่มที่คุณน่าจะสนใจ หมอเอ้วจะพาทุกคนเดินทางย้อนเวลาไปดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคด้วยกันในหนังสือเล่มนี้!
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3OJSF7X
โฆษณา