26 พ.ค. 2023 เวลา 04:02 • การเมือง

๕ เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้เดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันใช่ไหมคะ? ทุกท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันอย่างไร? วันนี้ ดิฉันจะพาไปพบกับเรื่องน่ารู้ในการกระบวนการการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ปี ๒๕๖๖ กันค่ะ
๑. “Smart Vote” Application
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในประเทศและในต่างแดนให้สืบค้นและเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยข้อมูลในแอปพลิเคชันประกอบด้วย การตรวจสอบสิทธิ การลงทะเบียนเลือกตั้ง การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมด ข้อมูลพรรคการเมืองและนโยบาย และสาระน่ารู้การเลือกตั้ง ๒๕๖๖ เป็นต้น
แอปพลิเคชัน Smart Vote (ที่มา: เว็บไซต์ workpointtoday)
๒. Overseas Voting Monitoring System
เนื่องด้วยสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานของไทยทั่วโลก อยู่ในเขตเวลา (time zone) ที่แตกต่างกัน และมีบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ต่างกัน ทำให้การประสานงานและการติดตามสถานะการดำเนินงานไม่ใช่เรื่องง่าย
เพื่อป้องกันปัญหาและความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทางศูนย์บริหารข้อมูลการกงสุลและสารสนเทศ (Consular Data and Information Centre: CDIC) จึงได้พัฒนาระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (Overseas Voting Monitoring System: OVMS) ซึ่งเป็นระบบ web application ติดตามการดำเนินงานจัดการเลือกตั้งของสำนักงานของไทยในต่างประเทศทุกแห่งแบบ real time
รวมถึงติดตามสถานการณ์ขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าบัตรลงคะแนนจะขนส่งถึงไทยได้ทันเวลา
อธิบดีกรมการกงสุลเปิดห้องสถานการณ์ ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
OVMS เป็นระบบ web application ติดตามการดำเนินงานจัดการเลือกตั้งของสำนักงานของไทยในต่างประเทศทุกแห่งแบบ real time
ระบบ OVMS แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ (๑) ขั้นตอนการเตรียมการ สำนักงานของไทยทุกแห่งทั่วโลกจะบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ลงไป เช่น งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง อุปกรณ์ที่ต้องการใช้ และวิธีการบริหารจัดการการเลือกตั้ง
(๒) การบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งระบบจะมีลักษณะเป็น checklist แสดงขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อลดความผิดพลาดและทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมั่นใจได้ว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแล้วอย่างครบถ้วน และ (๓) สรุปการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ เป็น dashboard แสดงจำนวนคนไทยต่างประเทศ จำนวนผู้ลงคะแนนออกเสียง และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วถูกส่งกลับไทย
ภาพตัวอย่างระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (OVMS) (ที่มา: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ)
โดยเรียกได้ว่าระบบ OVMS เป็นระบบการติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้คนไทยในต่างแดนสามารถมั่นใจว่าคะแนนของท่านไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอนค่ะ
๓. รูปแบบการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
กกต. ได้กำหนดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ ๓ วิธี ได้แก่ (๑) การเลือกตั้งแบบคูหา ณ ที่ทำการสำนักงานของไทยในต่างประเทศ ๖๕ แห่ง
ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรแบบคูหา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ (ที่มา: Facebook Royal Thai Embassy, Warsaw, Poland)
ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรแบบคูหา สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง (ที่มา: Facebook Royal Thai Consulate-General, Hong Kong)
(๒) การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ สำหรับสำนักงานของไทยในต่างประเทศ ๕๘ แห่ง
ภาพการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (ที่มา: Facebook Royal Thai Embassy, Washington D.C.)
ภาพการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์ ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม (ที่มา: Facebook Royal Thai Embassy Rome)
และ (๓) หน่วยบริการการเลือกตั้งเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ๒๕ แห่ง
ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรแบบ Mobile Unit ของ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ที่โรงแรม The Marmara Pera นครอิสตันบูล (ที่มา: Facebook Royal Thai Embassy, Ankara)
การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมี ๓ วิธี ได้แก่ (๑) การเลือกตั้งแบบคูหา (๒) การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ และ (๓) หน่วยบริการการเลือกตั้งเคลื่อนที่ (Mobile Unit)
๔. การส่งถุงเมล์ทางการทูต
เมื่อการลงคะแนนสิ้นสุดลง สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานของไทยทั่วโลกที่รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะบรรจุบัตรเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในต่างแดนลงในถุงเมล์ทางการทูต (Diplomatic Pouch) ที่ชาวกระทรวงการต่างประเทศเรียกกันติดปากว่า “ถุงเมล์ฯ” เพื่อขนส่งกลับไทยให้ทันกำหนดเวลาต่อไป
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการจัดส่งถุงเมล์ทั้งหมด ๔ รูปแบบ ได้แก่ (๑) การจัดส่งตามเที่ยวบิน (๒) เจ้าหน้าที่เดินทางมาส่งด้วยตัวเอง (๓) ฝากเมืองหลักขนส่ง และ(๔) การส่งทางไปรษณีย์ ได้แก่ รัฐปีนัง เมืองโกตาบารู เวียงจันทน์ และแขวงสะหวันนะเขต โดยเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะนัดรับถุงเมล์กับเจ้าหน้าที่กงสุลที่เขต
ถุงเมล์ทางการทูต (Diplomatic Pouch) ขนส่งบัตรเลือกตั้งให้เดินทางถึงประเทศไทยทันกำหนดเวลา
ตัวอย่างภาพถุงเมล์ฯ ที่ใช้สำหรับการขนส่ง (ที่มา: Facebook Royal Thai Embassy, Helsinki)
ซึ่งการจัดส่งในรูปแบบที่ต่างกันนี้ เนื่องจากระยะทางและบริบทของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน สำนักงานต่าง ๆ จึงสามารถเลือกรูปแบบการขนส่งถุงเมล์ฯ ที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าถุงเมล์ฯ จะเดินทางถึงประเทศไทยทันกำหนดเวลาอย่างแน่นอน
ภาพตัวอย่างการขนส่งถุงเมล์ทางการทูต (ที่มา: Facebook กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ)
๕. สรุปจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
ตั้งแต่ ๒๕ มี.ค. – ๙ เม.ย. ๒๕๖๖ คนไทยในต่างประเทศลงทะเบียนใช้สิทธิการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น ๑๑๕,๑๓๙ คน โดยประเทศที่คนไทยลงทะเบียนเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย ๑๙,๘๓๐ คน สหรัฐอเมริกา ๑๕,๑๙๐ คน สหราชอาณาจักร ๗,๔๙๕ คน ญี่ปุ่น ๗,๔๑๔ คน และเยอรมนี ๕,๙๕๔ คน ตามลำดับ
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา