26 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

กำเนิดยาเปลี่ยนโลกที่ชื่อ เพนิซิลลิน (ตอนที่ 2/2) : เพนิซิลลินทดลองในคน

หมายเหตุ : บทความนี้ ย่อและเรียบเรียงมาจาก บทที่ 30 ของหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ
หน้าร้อนของ ปี ค.ศ.1940 ในสมรภูมิรบที่มีชื่อว่า Battle of Britain เป็นช่วงเวลาที่เยอรมันทดสอบความอดทนของกองทัพอากาศอังกฤษ (Royal Air Force หรือ RAF) อย่างหนัก
กองทัพอากาศของนาซีเยอรมันบินมาทิ้งระเบิดในเมืองลอนดอนอย่างหนักหน่วง ห้องทำงานวิจัยต่างๆ ในโรงพยาบาลถูกเปลี่ยนให้เป็นห้องฉุกเฉินเพื่อเตรียมพร้อมรับคนป่วยที่มีมาได้ตลอดเวลา
ประชาชนชาวอังกฤษเริ่มขุดหลุมหลบภัยรอบๆ โรงพยาบาล ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายอังกฤษจะโดนกองทัพนาซีบุกมายึดครองหรือไม่
นักวิทยาศาสตร์อังกฤษทุกคนรู้ดีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ดูเหมือนอังกฤษจะต้านทัพนาซีไม่ไหว นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะต้องทำลายงานวิจัยของตัวเองทิ้งทั้งหมดเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพนาซี แม้ว่างานวิจัยเหล่านั้นจะเป็นผลงานชั่วชีวิตของเขาก็ตาม
2
แต่ทีมวิจัยเพนิซิลลินทั้งสามคนของอ๊อกซฟอร์ดรู้ดีว่า การทำลายเพนิซิลลินนั้นถือได้ว่าเป็นการทำลายโอกาสของมนุษยชาติที่จะต่อสู้กับโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย
นับเป็นเวลาหลายพันหรือหลายหมื่นปีมาแล้วที่มนุษย์พยายามหาทางเอาชนะโรคติดเชื้อ ความพยายามนี้มีมานานก่อนที่จะมีประเทศอังกฤษหรือประเทศเยอรมันเสียอีก
ดังนั้นเพนิซิลลินจึงมีคุณค่าสูงกว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศมากนัก พวกเขาจึงตัดสินใจร่วมกันว่าถ้านาซีบุกเข้ามาได้จริง หรือพวกเขาคนใดคนหนึ่งถูกฆ่า คนที่เหลือจะต้องพยายามหนีไปให้รอด และหาทางสานต่องานวิจัยนี้จนสำเร็จ
ฮีตลีย์จึงเสนอให้แต่ละคนนำสปอร์ของเชื้อราเพนิซิลลินมาถูไว้กับเสื้อโค้ตขนสัตว์หนาๆ ที่มีสีน้ำตาลเพื่อไม่ให้สังเกตเห็นได้ง่าย กรณีที่ไม่สามารถขนเพนิซิลลินหลบหนีไปได้ อย่างน้อยก็ยังมีสปอร์ของเพนิซิลลินติดอยู่บนเสื้อโค้ตพอที่จะนำไปเริ่มต้นทำงานวิจัยใหม่ในต่างประเทศได้
แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อโค้ตนั้นเพราะฮิตเลอร์เปลี่ยนใจไม่บุกอังกฤษ และเป็นช่วงเวลานี้เองที่ปริมาณเพนิซิลลินที่ผลิตได้มีมากเพียงพอจะนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงๆ
หลังจากที่ใช้เวลาเพาะและสกัดยาจากเชื้อราอยู่กว่าเจ็ดเดือน พวกเขาก็มียาเพียงพอที่จะทดลองใช้ในคน
ในแง่จริยธรรมเมื่อจะนำยาที่ยังไม่รู้ประสิทธิภาพมาทดลองใช้ในคน ผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับทดลองจึงควรเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาแล้วจริงๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วผู้ป่วยที่เข้าข่ายนี้หาได้ง่ายมาก เรียกว่าเดินเข้าไปในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลไหนก็จะพบผู้ป่วยนอนรอความตายจากภาวะติดเชื้อได้เสมอ
ผู้ป่วยคนแรกของโลกที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพนิซิลลินเป็นนายตำรวจเมืองอ๊อกซฟอร์ดวัย 43 ปี ชื่อ อัลเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ (Albert Alexander)
อาการป่วยของเขาเริ่มต้นในเดือนกันยายนจากการโดนหนามดอกกุหลาบเกี่ยวที่มุมปาก จากนั้นไม่กี่วันริมฝีปากของเขาก็บวมแดงและเจ็บ แผลอักเสบค่อยๆ ลามกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากปากไปที่ตาแล้วก็บวมไปทั่วใบหน้า ทำให้ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เนื่องจากหมอไม่มีการรักษาที่ได้ผล แผลจึงลามเซาะใต้ผิวหนังไล่ขึ้นไปจนถึงตาและหนังศีรษะ เกิดเป็นหนองขังอยู่ใต้ผิวหนัง ใบหน้าของเขาจึงปูดโปนไปทั่ว
ตรงไหนที่ปวดมาก หมอก็จะเจาะหนองเพื่อระบายแรงดันให้ปวดน้อยลง แต่ดูเหมือนเจาะเท่าไหร่ก็เจาะไม่หมด แบคทีเรียก็ยังกินลึกลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายหนองที่ขังบริเวณหลังตาซ้ายมีมากเสียจนหมอต้องตัดสินใจผ่าตัดควักตาซ้ายออกเพื่อระบายหนอง ส่วนตาขวาก็เริ่มจะบวมขึ้นเช่นกัน
หนองไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนใบหน้า แต่เซาะใต้ผิวหนังลุกลามผ่านคอลงมาเรื่อยๆ จนถึงแขน ไม่ว่าหมอจะเจาะตรงไหนก็ได้หนองออกมาหมด การติดเชื้อในเลือดยังลามไปถึงปอดเกิดเป็นหนองสะสมในปอด ทำให้เวลาไอมีเสมหะปนหนองออกมาด้วย
1
หลังจากนอนป่วยในโรงพยาบาลมาได้ 3 เดือนกว่าๆ อาการของอเล็กซานเดอร์ก็ทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่หมอคิดว่าอีกไม่นานผู้ป่วยคนนี้คงจะเสียชีวิตแน่ๆ
หมอจึงตัดสินใจทดลองการรักษาใหม่ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1941
อเล็กซานเดอร์ได้รับยาเพนิลซิลเข็มแรกเข้าไป ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าต้องให้ยาปริมาณแค่ไหนจึงจะพอ หมอจึงใช้การเทียบปริมาณมาจากปริมาณยาที่ได้ผลดีในหนูทดลองแล้วคูณตามขนาดของร่างกายเข้าไป
สรุปออกมาว่าให้ไป 200 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณมากที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการทดลองเกี่ยวกับเพนิซิลลินมา (แต่ถือว่าน้อยมากๆ สำหรับปัจจุบัน) จากนั้นตามด้วย 100 มิลลิกรัม ทุกๆ 3 ชั่วโมง
ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงเท่านั้น อาการของอเล็กซานเดอร์ก็ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์
หนองบริเวณหนังศีรษะที่แต่เดิมไหลเยิ้มออกมาตลอดเวลาก็เริ่มแห้งลง ตาขวาที่ปูดและปวดจากหนองก็เริ่มยุบลง แขนขวาที่บวมก็ยุบลงเช่นกัน
เมื่อผ่าน 24 ชั่วโมงแรกไปอาการของอเล็กซานเดอร์ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เบื่ออาหารจนแทบไม่กินอะไรเลย เขาก็เริ่มบ่นหิวและอยากกินอาหารขึ้นมา
1
แต่เนื่องจากยามีจำนวนจำกัดหมดแล้วหมดเลย และไม่มีใครรู้ว่าต้องให้ยานี้ไปนานแค่ไหน นักวิจัยจึงขอเก็บปัสสาวะของอเล็กซานเดอร์ทั้งหมดบรรจุใส่ขวด แล้วทุกเช้าจะมีเจ้าหน้าที่ขี่จักรยานนำขวดบรรจุปัสสาวะไปส่งให้กับฮีตลีย์เพื่อสกัดนำเพนิซิลลินที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะกลับมาใช้ใหม่
2
ห้าวันผ่านไปนับจากเริ่มให้ยา อาการบวมบนใบหน้าและหนังศีรษะของอเล็กซานเดอร์หายไปจนเกือบหมดสิ้น ตาขวาก็กลับมาดูเหมือนปกติ เหมือนว่าอีกแค่ 1-2 วันทุกอย่างก็จะเข้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ช่วงเวลานั้นเองก็มีผู้ป่วยอีกคนที่จำเป็นต้องใช้ยาขึ้นมาอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยคนนี้เป็นเด็กหนุ่มวัย 15 ปีที่เพิ่งจะได้รับการผ่าตัดกระดูกสะโพกแล้วเกิดอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา
ทีมหมอและนักวิจัยจึงตัดสินใจนำยาที่มีปริมาณพอที่จะฉีดได้อีกประมาณ 5 ครั้งของอเล็กซานเดอร์ ไปรักษาเด็กหนุ่มคนนั้น แม้ว่ายาจะมีพอฉีดแค่ 5 ครั้งเท่านั้นแต่อาจจะเพราะผู้ป่วยเป็นเด็กหนุ่มและภาวะติดเชื้อไม่รุนแรงมากนัก ภูมิคุ้มกันของเขาจึงทำงานกำจัดเชื้อต่อได้เอง
ด้วยผลการรักษาที่ดีจนน่าอัศจรรย์ในผู้ป่วยทั้งสองคนนี้ นักวิจัยทั้งสามคนก็เริ่มคุยถึงแผนการทดลองครั้งถัดไปว่า จะลองนำยาเพนิซิลลินไปทดลองรักษาโรคติดเชื้ออะไรต่อดี
และเป็นช่วงนี้เองที่เพนิซิลลินถูกใช้จนหมดเกลี้ยงไปจากโลก แม้แต่ในปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งสองก็ไม่มีเพนิซิลลินเหลืออยู่เลย
หลังจากอาการดีอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 วัน เมื่อยาเพนิซิลลินหมด อาการของอเล็กซานเดอร์ก็ทรุดลงอีกครั้ง และไม่ใช่การทรุดลงอย่างช้าๆ แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วจนน่าตกใจ ภายในวันเดียวอาการไข้ตัวร้อนก็กลับมา ปริมาณหนองเพิ่มขึ้นเร็วจนใบหน้า คอ และแขนบวมขึ้นอีกครั้ง การติดเชื้อและหนองกระจายขยายไปทั่วร่างกาย
แล้วผู้ป่วยคนแรกของโลกที่ได้รับยาเพนิซิลลินก็เสียชีวิตลงในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1941
การใช้ยาปฏิชีวนะครั้งแรกของโลกจึงให้บทเรียนที่สำคัญและยังเป็นจริงจนถึงทุกวันนี้คือ เมื่อเริ่มต้นยาไปแล้วต้องใช้จนการติดเชื้อหายสนิท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยรายแรกของการทดลองใช้เพนิซิลลินจะล้มเหลว แต่ก็เห็นได้ชัดว่ายาเพนิซิลลินมีประสิทธิภาพในการสู้ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียได้ดีมาก
งานขั้นต่อไปที่พวกเขาต้องทำคือ หาทางผลิตยาให้ได้มากและเร็วกว่านี้ เพื่อใช้สำหรับรักษาคนจำนวนหลักพันหรือหลักหมื่น
แต่ติดว่าช่วงเวลานั้นโลกกำลังวุ่นวายอยู่กับสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษและประชาชาชนต่างก็ยุ่งแต่กับการเอาตัวรอดจากสงคราม บริษัทยาของอังกฤษก็งานล้นมืออยู่แล้ว
ประเทศก็กำลังขาดแคลนถึงขนาดชาวอังกฤษทั้งประเทศต้องปันส่วนอาหาร ทรัพยากรที่มีต้องทุ่มไปให้กับสิ่งที่จะช่วยให้อังกฤษชนะสงครามเท่านั้น
ฟลอรีย์และเชนเห็นปัญหาใหญ่ที่ขวางหน้าอย่างชัดเจน ยาเพนิซิลลินของเขายังไม่มีผลงานโดดเด่นใดๆ ให้เห็น คงจะยากที่รัฐบาลจะให้เงินมาทำงานวิจัยที่ดูเหมือนสิ้นเปลืองนี้
ทางเดียวที่งานวิจัยเกี่ยวกับเพนิซิลลินจะไปต่อได้คือ พวกเขาต้องเดินทางไปอเมริกาเท่านั้น.....
ถ้าชอบเรื่องราวแบบนี้ หนังสือสงครามที่ไม่มีวันชนะ น่าจะเป็นอีกเล่มที่คุณน่าจะสนใจ หมอเอ้วจะพาทุกคนเดินทางย้อนเวลาไปดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคด้วยกันในหนังสือเล่มนี้!
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3OJSF7X
โฆษณา