26 พ.ค. 2023 เวลา 07:19 • ธุรกิจ

🔶จุฬาฯ-WEF ชี้แนวโน้มตลาดงานหด อาชีพ AI-Big Data รุ่ง แนะเสริม 10 ทักษะสำคัญ

🔸คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) จัดทำรายงานอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Report) พบว่า ภายในปี 2570 อาจมีงานลดลงสุทธิ 14 ล้านตำแหน่ง หรือ 2% ของการจ้างงานในปัจจุบัน ขณะที่ความต้องการอาชีพด้าน AI และ Big Data พุ่งสูง แนะภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และผู้มีอาชีพสุ่มเสี่ยงเร่งปรับตัวเสริมทักษะอาชีพ เสนอพัฒนา 10 ทักษะ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอาชีพในปัจจุบันและอนาคต
🔸ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า CBS เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ทำการสำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Survey)
🔸โดยรวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งรวมการจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก คาดว่า งานประมาณ 23% จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในปี 2570 โดยมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตำแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตำแหน่ง จากงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน
🔸การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาในระดับมหภาค พบว่าตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของงานภายใน 5 ปีนี้ (2566-2570) คือ การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (Green transition) มาตรฐาน ESG ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Localization of supply chains) อย่างไรก็ดี ธุรกิจต่างๆ อาจต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการเข้าถึงเทคโนโลยี
🔸ทั้งนี้ การพัฒนา 10 ทักษะที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 66-70 ประกอบด้วย
1. ปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลมหัต
2. การคิดเชิงวิเคราะห์
3. การคิดเชิงสร้างสรรค์
4. ความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม
5. การจัดการความสามารถ
6. ความยืดหยุ่นและความคล่องตัว
7. ความต้องการการเรียนรู้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
8. ความรู้ทางเทคโนโลยี
9. การดูแลสิ่งแวดล้อม
10. แนวทางการให้บริการและการบริการลูกค้า
🔸ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า อาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคต เป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysts) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต (Big Data Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Machine Learning Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Professionals) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ภายในปี 2570
🔸นอกจากนี้ คาดว่างานทางด้านพาณิชย์ดิจิทัล (Digital Commerce) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์ (Digital Marketing and Strategy Specialists)
🔸อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีและดิจิทัลอาจลดงานในบางบทบาทลง เช่น ธุรการ หรือเลขานุการ (Clerical or Secretarial Jobs) พนักงานธนาคาร (Bank Tellers) แคชเชียร์ (Cashiers) และพนักงานป้อนข้อมูล (Data Entry Clerks)
🔸นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงปี 2566-2570 อาชีพที่เติบโต และอาชีพที่ถูกทดแทนเร็วที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย
– อาชีพที่เติบโต ได้แก่
1. ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
3. นักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ
4. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล
5. วิศวกรฟินเทค
– อาชีพที่ถูกทดแทน ได้แก่
1. พนักงานธนาคาร และตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง
2. พนักงานให้บริการไปรษณีย์
3. พนักงานเก็บเงินและพนักงานขายตั๋ว
4. พนักงานบันทึกข้อมูล
5. เลขานุการฝ่ายบริหาร
🔸และสิ่งที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มขึ้นของงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน การศึกษา และการเกษตร ในช่วงปี 2566-2570 ดังนี้
– ความยั่งยืน คาดว่าจะเติบโต 33% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 1 ล้านตำแหน่ง
– การศึกษา คาดว่าจะเติบโต 10% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง
– การเกษตร คาดว่าจะเติบโต 15-30% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 4 ล้านตำแหน่ง
🔸พร้อมกันนี้ มองว่าจะต้องเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลกและประเทศไทย คือ องค์กรต่างๆ ควรกำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะใหม่ โดยให้ความสำคัญและลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลมหัต (Big Data)
1
🔸รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ควรคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถในการทำงานข้ามบทบาท การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และการเพิ่มผลผลิตของพนักงาน
🔸ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวด้วยว่า สถาบันการศึกษา ควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
🔸ที่สำคัญ คือ บทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องไม่จำกัดแค่สถาบันที่ให้ความรู้และประสบการณ์การเรียน แต่ต้องเป็นการบ่มเพาะความฉลาด และเสริมสร้างพรสวรรค์ (Wisdom and Talent incubator) โดยเพิ่มพูนทักษะรอบด้าน เพื่อพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตตนเองและสร้างคุณค่าให้กับโลกในภาพรวมด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
ข้อมูลจาก : รายงานอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Report) จัดทำโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF)
โฆษณา