28 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ดนตรี เพลง

Music Format วิวัฒนาการของการฟังเพลงและเครื่องมือสื่อสารอารมณ์ผ่านเสียง

เมื่อครั้งนานมาแล้วมนุษย์เราได้ทำการขับร้อง สร้างจังหวะ สร้างเสียงดนตรีด้วยอุปกรณ์ต่างๆ แต่ทว่าการบันทึกหรือจดจำบทเพลงเหล่านั้น ต้องใช้วิธีจดจำกันจากรุ่นสู่รุ่น สืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาหลายพันปี จนวันหนึ่งได้มีผู้คิดค้นอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือในการจดจำเพลงเหล่านั้น
หากแต่มันไม่สามารถบันทึกเสียงและอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ทำได้เพียงบรรเลงขึ้นใหม่ตามการบันทึกของผู้คนรุ่นก่อนเท่านั้น จนวันหนึ่งได้มีผู้สร้างนวัตกรรมที่สามารถบันทึกเสียงออกมาได้จริงๆ จนผู้คนทั่วไปสามารถรับฟังบทเพลงตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องฟังการบรรเลงแบบสดๆอีกต่อไป วันนี้เราจะขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ Music Format วิวัฒนาการของการฟังเพลงและเครื่องมือสื่อสารอารมณ์ผ่านเสียง
ภาพสัดส่วนตลาดของแต่ละ Format ตามช่วงปี | ขอขอบคุณภาพจาก https://www.statista.com/chart/17244/us-music-revenue-by-format/
เครื่องบันทึกเสียงชิ้นแรกบนโลกได้ถูกคิดค้นโดย Édouard-Leon Scott de Martinville นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสที่ได้สร้าง Phonautograph และจดสิทธิบัตรในปี 1857 โดยวิธีการทำงานของเครื่องนี้คือการ คือการหมุนกระดาษรมดำหรือแก้วที่ถูกกรีดด้วยเข็ม พร้อมกับพูดผ่านอุปกรณ์ขยายเสียงแบบ Analog จะทำให้เกิดเป็นเส้นหยักบนกระดาษรมดำหรือแก้ว
เราจะเห็นคลื่นเสียงของสิ่งที่เกิดขึ้นกับกระบวนการก่อนหน้าออกมาเป็นรอยหยักแต่เมื่อนำมาเล่นซ้ำจะไม่สามารถรับฟังได้แบบชัดเจนเนื่องจากความแม่นยำในการสลักนั้นยังไม่มากพอ และการบันทึกเสียงครั้งแรกสุดเกิดขึ้นกับเพลง Au Clair de la Lune ที่ถูกนับว่าเป็นการบันทึกเสียงครั้งแรกของมนุษยชาติ
ต่อมาอีก 20 ปี ที่นักประดิษฐ์อัจฉริยะอย่าง Thomas Edison ได้สร้างเครื่อง Phonograph ที่หลักการทำงานของมันเหมือนกับ Phonautograph อย่างมากแต่เปลี่ยนวัตถุที่ถูกเป็นทุกจากกระดาษรมดำหรือแก้ว เป็นกระดาษฟรอยและเพื่อมความละเอียดของหัวเข็มและอัตราการขยับของเข็มสลักในแนวนอน ทำให้เจ้าเครื่องนี้สามารถเล่นซ้ำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆเพิ่มเติม และนวัตกรรมนี้ก็ถูกเผยแพร่และนำออกสู้ท้องตลาดในที่สุด
จนในปีต่อๆมาเกิดนวัตกรรมใหม่ๆมากมายส่งเสริมตลาดเครื่อง Phonograph นี้เช่นการมีผู้ผลิตเปลี่ยนจากกระดาษฟรอยเป็นขี้ผึ้งจนเกิดตลาดใหม่ที่ชื่อว่า Graphophone และอีกครั้งที่มีการเปลี่ยนตลาดผู้บริโภคไปตลอดการจาก Emile Berliner ผู้เปลี่ยนวิธีการบันทึกเสียงจากทรงกระบอก เป็นแผ่นดิสแบบเรียบ
หลังจากการคิดค้นเครื่องบันทึกเสียงชิ้นแรกได้ผ่านพ้นไปหลายทศวรรษ ได้มีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์และวิธีการอัดเสียงมากมายถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้น และได้มีการสร้างมาตรฐานใหม่อีกครั้งจากการมาถึงของยุคแผ่นเสียงเพลง จากการลองผิดลองถูกหลายครั้งทำให้ปี 1948 บริษัท Columbia Records ได้ผลิตแผ่น 12 นิ้ว พร้อมตั้งความเร็วไว้ที่ 33 รอบต่อนาที
โดยในแผ่นแรกมีชื่อว่า "ML4001" และเป็น "Mendelssohn Violin Concerto in E Minor" โดยนักไวโอลินที่มีชื่อว่า Milstein ร่วมกับคณะดนตรี New York Philharmonic Symphony Orchestra และวาทยกรชื่อดังอย่าง Bruno Walter
ภาพแผ่นไวนิล ML4001 | ขอขอบคุณภาพจาก https://www.rootsvinylguide.com/ebay_items/milstein-walter-mendelssohn-concerto-in-e-minor-columbia-lp-ml-4001-vg
ไม่นานหลังจากนั้นทาง RCA Records ได้ผลิตแผ่น 7 นิ้วสำหรับ 45 รอบต่อนาที สำหรับเพลงที่เป็นซิงเกิ้ล หรือเนื้อหาที่มีความสั้นลง ประกอบกับวัสดุของแผ่นเสียงในยุคแรกที่ใช้ shellac ในการผลิตมันได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายระหว่างขนส่งอยู่บ่อยครั้ง บริษัท Columbia and RCA Records ได้แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนมาใช้ไวนิลสำหรับการผลิตแทน
แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่เกินกว่าจะพกพาไปตามสถานที่ต่างๆได้อย่างสะดวกสบาย และการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆที่ใช้ง่ายกว่า ทำให้ Vinyl ได้ส่วนแบ่งตลาดที่น้อยลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
Compact Cassettes หรือ Tape ได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยบริษัทสัญชาติ Dutch อย่าง Philips ในปี 1963 โดยในช่วงแรกนั้นฟีเจอร์หลักๆ คือการที่เทปนี้สามารถเล่นได้นานถึง 45 นาทีต่อหนึ่งด้านซึ่งสามารถบันทึกเสียงได้นานกว่าแผ่นไวนิล รวมถึงด้วยขนาดที่เล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม
ภาพเครื่อง cassette recorder, 1963 ยี่ห้อ Philips | ขอขอบคุณภาพจาก Royal Philips, https://www.philips.com/a-w/about/news/media-library/20190101-First-Philips-cassette-recorder-1963.html
โดยการมาถึงของเทปนั้น เป็นเวลาที่ประจวบเหมาะกับยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้คนหันมาใช้ชีวิตกับความเรียบง่ายอีกครั้งพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกอีกหลายๆอย่าง รวมถึงรถยนต์ที่ถูกผลิตออกมามากมาย ซึ่งบริษัทผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ติดตั้งเครื่องเล่นเทปเข้าไปให้เหมาะกับไลฟสไตล์ทำให้เกิดการซื้อมากขึ้นไปอีก และของที่ต้องมีคู่กันกับเทปคาสเซ็ทคือเครื่องเล่น Walkman ที่ตอกย้ำความสะดวกสบายอีกระดับทำให้ผู้คนสามารถฟังเพลงส่วนตัวได้ซึ่งถือเป็น New Norm สำหรับผู้คนในยุคนั้นอย่างแท้จริง
ภาพเครื่องเล่น Walkman | ขอขอบคุณภาพจาก https://rediscoverthe80s.tumblr.com/post/183704322733/sony-walkman-ad-from-smash-hits-magazine-1984
เมื่อเวลาผ่านไป การใช้งานของผู้คนเริ่มสร้างแรงกระเพื่อมลูกใหม่จากการมาถึงของทำให้เกิดวัฒนธรรม Mixtape จากการที่เทปทั่วไปตามท้องตลาดนั้นเป็นการใส่เพลงมาจากทางค่ายเพลงโดยส่วนใหญ่ และได้มีผู้คนบางกลุ่มที่ชอบเพลงหลายๆเพลง แต่ไม่ได้มาจากเทปตลับเดียวกัน จึงเกิดการอัดเพลงที่ชอบใส่ลงไปในเทปเปล่า เอาไว้สำหรับให้คนที่เราชอบ หรือแบ่งปันกับเพื่อนก็ได้เช่นกัน
ในทางกลับกัน การ Mixtape นั้นก็ได้สร้างผลเสียให้กับระบบนิเวศของดนตรีไม่น้อย เนื่องจากเพลงได้ถูกบันทึกมากขึ้น ผู้คนฟังมากขึ้น แต่รายได้กลับตกไม่ถึงมือผู้ผลิต จนต่อมาได้มีการควบคุมการก๊อปปี้เทปโดยใช้ระบบ Serial Copy Management System หรือ (SCMS) ที่ช่วยให้การก๊อปปี้นั้นเกิดยากขึ้น แต่ผลตอบรับนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่เนื่องจากต้องเพิ่มขั้นตอนระหว่างการผลิตแต่การป้องกันไม่ได้คุ้มค่าเท่าที่ควร
คู่แข่งอย่างเป็นทางการของเทปคาสเซ็ทที่ถูกผลิตในปีใกล้ๆอย่าง 8-Track Tape หรือ เทป 8 แทร็ก ในปี 1964 ที่จัดทำขึ้นโดย 3 บริษัทได้แก่ RCA Records, Lear Jet Company และ Ampex Magnetic Tape Company โดยที่ Bill Lear เจ้าของบริษัท Lear Jet Company และลูกน้องของเขาอย่าง Richard Kraus โดยเดิมทีบริษัทนี้เป็นบริษัทผลิตเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวสุดหรู แต่มีความสนใจในเรื่องของเสียงอย่างมาก และพวกเขาทั้งคู่เป็นบุคคลสำคัญในการประดิษฐ์เทป 8 แทร็กขึ้นมา
โดยเริ่มจากสมมุติฐานของการสร้างลูปที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ที่ต่างจากเทปคาสเซ็ทและแผ่นไวนิลที่เมื่อเล่นจบหนึ่งด้าน จำเป็นที่จะต้องพลิกด้านและใส่กลับเข้าไปในเครื่องเล่นอีกครั้งเพื่อเริ่มฟังบทเพลงใหม่
ภาพ Bill Lear | ขอขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Bill_Lear#/media/File:Bill_Lear.jpg
การแข่งขันของสองเทคโนโลยีได้เริ่มอย่างดุเดือด และเทป 8 แทร็กเองก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทรถยักษ์ใหญ่อย่าง Ford Motor ที่ติดเครื่องเล่นแผ่นเสียงในรถตั้งแต่ไลน์ผลิตสำหรับเป็น Option ให้ลูกค้าในปี 1966 และเครื่องเล่นสำหรับที่บ้านก็ได้ถูกวางจำหน่ายในปีถัดมา แต่ในเชิงการตลาดนั้น โดยเฉพาะเรื่องของขนาดและราคาที่ทำให้เทปคาสเซ็ทเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้ามากกว่าตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงตอนนี้
โลกาภิวัตน์ได้ทำให้พวกเราค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเทคโนโลยีเช่นกันที่ค่อยๆ ถูกพัฒนาตามสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่และยิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนขึ้นไปอีกระดับ การมาถึงของ Compact Disc หรือ แผ่นซีดี ในปี 1982 นั้นทำให้โลกเข้าใกล้ยุคดิจิทัลไปอีกหนึ่งก้าว
การจับมือกันของ 2 บริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำอุปกรณ์ Electronics ของโลกอย่าง Philips และ Sony ในปี 1982 ได้สร้างแผ่นซีดีที่ถูกพัฒนามาจากแผ่นเลเซอร์ (Laser Disc / LD) โดยมันมีความละเอียดของเสียที่ 16-bit/44.1kHz และได้ยกระดับการฟังเพลงทั่วไปอีกหนึ่งขั้นมาจนถึงทุกวัน
ภาพแผ่นซีดี | ขอขอบคุณภาพจาก https://blog.landr.com/music-formats-history/
นอกจากเรื่องความละเอียดในการบันทึกเสียงแล้ว เจ้าสิ่งนี้ยังมาพร้อมรูปหน้าร่างที่กะทัดรัด พกพาได้อย่างสะดวก สามารถบันทึกเพลงและไฟล์รูปแบบอื่นๆได้ และที่สำคัญที่สุด ราคาที่จับต้องได้ ทำให้สิ่งนี้เป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการของวงการดนตรี เมื่อSony ได้ทำการผลิต Walk Man แล้ว ก็ย่อมต้องมี Discman สำหรับนำพาให้ที่ผู้หลงรักในเสียงเพลงได้เพลิดเพลินในที่สาธารณะแบบส่วนตัวเหมือนเดิมแต่ดีกว่า
ภาพเครื่องเล่น Discman | ขอขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Discman
ในช่วงต้นของยุค 80s นั้นได้มีวิศวกรและนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันผู้มีชื่อว่า Karlheinz Brandenburg ได้คิดค้นการบีบอัดไฟล์เสียงและการถอดรหัสอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับการทำให้พื้นที่ที่มีขนาดความจุเท่าเดิม แต่สามารถบันทึกข้อมูลได้มากขึ้นโดยมีผลกระทบต่อไฟล์ต้นฉบับน้อยที่สุด โดยเพลงแรกที่ถูกนำมาใช้คือเพลง "Tom's Diner" ของ Suzanne Vega ในปี 1987
อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้ MP3 เป็นที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วคือ Napster เว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1999 ที่ผู้คนสามารถดาวน์โหลดเพลงไฟล์ MP3 ได้อย่างฟรีๆ จนวงการดนตรีต้องสั่นคลอนเนื่องจากเพลงทั้งหมดที่ถูกดาวน์โหลดนั้นเป็นของแหกลิขสิทธิ์ทั้งหมด สิ่งนี้อาจจะเป็นผลดีแก่ผู้บริโภค แต่ไม่ว่าอย่างไรผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือศิลปินและค่ายเพลงนั่นเอง
โดยระยะเวลา 3 ปีที่เว็บไซต์นี้ได้เปิดให้บริการนั้นได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ๆสำหรับนักพัฒนาได้เข้ามาลองตลาดพร้อมอุดช่องโหว่ของลิขสิทธิ์และผู้บริโภคอย่างเช่น iTunes ที่ให้ผู้คนสามารถซื้อเพลงได้ภายในไม่กี่คลิก และเป็นการค่อยๆกอบกู้ระบบนิเวศของวงการเพลงหลังจากได้พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่นี้
เครื่องเล่น MP3 นั้นมีมากมายหลายยี่ห้อ แต่ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คงจะเป็นเครื่องเล่น iPod ของบริษัท Apple ที่ผลิตออกมาหลายรุ่น พร้อมกับฟีเจอร์ต่างๆที่ โดดเด่น พร้อมกับรูปร่างที่ล้ำหน้าดีไซน์ของเทคโนโลยีในยุคนั้นๆ เครื่องเล่นนี้อาจจะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่ทำให้ยี่ห้อ Apple เข้าถึงมือผู้คนและเป็นที่จดจำมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ iPod Classic | ขอขอบคุณภาพจาก https://www.mensxp.com/technology/hacks/78270-5-iconic-mp3-players-from-the-2000s-that-we-wish-they-still-made-today-for-music-lovers.html
จากการดาวน์โหลดที่เคยรู้สึกว่าว่าง่าย แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าผู้คนไม่จำเป็นต้องทำ? เมื่อผู้คนไม่จำเป็นต้องซื้อ ไม่จำเป็นต้องจัดเก็บ จึงไม่เปลืองพื้นที่บนอุปกรณ์ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต และการเก็บเงินและบริการแบบเหมาจ่ายแบบชั่วคราวที่ราคาถูกกว่าเป็นไหน เหมือนกับบริการเช่าหนังในยุคก่อนๆ ทำให้พฤติกรรมการเลือกใช้ค่อยๆเปลี่ยนไป
ภาพโลโก้ของบริการ Streaming ต่างๆ | ขอขอบคุณภาพจาก https://medium.com/giglue/top-music-streaming-platform-on-which-you-should-upload-your-song-21bb1f065662
โดยบริการสตรีมมิ่งนั้นเริ่มต้นจากเว็บไซต์หรือโปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ในช่วงปีประมาณ 2006 ประจวบเหมาะกับการมาถึงของสมาร์ทโฟนเครื่องแรกอย่าง iPhone ในปี 2007 ที่ในปลายทางนั้นบริการ Streaming ถือเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่โทรศัพท์เกือบทุกเครื่องจำเป็นต้องมี
ในบริการนี้ได้รวบรวมทุกอย่างไว้ให้พวกเราทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม เพลง หรือแม้แต่การแสดงสด ก็สามารถรับฟังได้ทุกที่ทุกเวลา และถึงแม้ว่าเราจะต้องไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ พวกเราก็สามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ฟังในยามต้องการ
หากมองภาพให้กว้าง จะทำให้เห็นว่าแต่ละ Format นั้นมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป บ้างก็ใช้ยาก ไม่สะดวก แต่จับต้องได้ บ้างก็ใช้ง่าย สะดวกสบาย แต่ไร้กลิ่นอายของกาลเวลา วันนี้มีตัวเลือกมากมายให้พวกเราได้ทดลองฟังเพลงที่ชอบ ในแบบที่ชอบของแต่ละคน แต่ไม่สามารถตัดสินได้ว่า Format ไหนดีที่สุด และนี่คือ Music Format วิวัฒนาการของการฟังเพลงและเครื่องมือสื่อสารอารมณ์ผ่านเสียง
โฆษณา