29 พ.ค. 2023 เวลา 08:39 • หนังสือ

สามก๊กบนเส้นขนาน │ ตำแหน่งประธานรัฐสภาสำคัญอย่างไร?

ช่วงนี้มีแต่คนคุยเรื่องการแย่งชิงตำแหน่งประธานรัฐสภา ผมก็ขอร่วมวงด้วย แต่... เปล่า ผมไม่คุยเรื่องชวนรถทัวร์หรอกนะ แค่จะเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ฟังเป็นความรู้ (เอิ่ม! แล้วขายของตามระเบียบ)
ตำแหน่งประธานรัฐสภาสำคัญอย่างไร? คำตอบคือสำคัญมาก เพราะโดยอำนาจหน้าที่ ตำแหน่งนี้สามารถพลิกเกมได้!
มาลองดูเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พรรคร่วมรัฐบาลทั้งห้าก็ต้องสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตกลงกันให้เป็นนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมซึ่งได้ ส.ส. มากที่สุด
1
ทว่าเมื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ ติดปัญหาไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคร่วมรัฐบาลจึงให้สิทธิ์หัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. มากอันดับสองคือ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ขี้นเป็นนายกฯ
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจเสนอชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดเกล้าฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกับรักษาการประธานรัฐสภาในขณะนั้นคือ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้เป็นรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม จึงมีหน้าที่ต้องทำตามมติพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ตามมติ MoU ของคนที่กำลังครองเมือง
1
ทันใดนั้น ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ก็กลายเป็นบุคคล ‘ทรงอำนาจ’ ที่สุดในวงการเมืองไทย เป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจเสนอชื่อใครก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เพื่อป้องกันความผิดพลาดและผิดโผ พรรคร่วมรัฐบาลพากันวิ่งเต้นล็อบบี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ให้ทำตามมติพรรคร่วม เสนอ ‘รางวัล’ ตอบแทนคือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ เช่น มหาดไทย
1
อยากได้อะไร พรรคร่วมรัฐบาลยอมทั้งนั้น
ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นใครกันแน่? ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลไม่วางใจเขา?
ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอ นครนายก ไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้ากองวิชาการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และต่อมาเป็นผู้ว่าการการประปานครหลวง แล้วเข้าสู่วงการเมือง
เขาเริ่มต้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดพรรคพลังใหม่เขาพลาดให้นายธรรมนูญ เทียนเงิน แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ในปีถัดมา ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบฯ-ปทุมวัน ในนามพรรคพลังใหม่ แข่งกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ไปเพียง 500 คะแนน จึงถือว่าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง
2
ต่อมาได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และเป็นเลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตยของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมาย้ายพรรคและรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคกิจประชาคมของนายบุญชู โรจนเสถียร หลังจากนั้นย้ายไปสังกัดพรรคเอกภาพ รับหน้าที่โฆษกพรรค
1
ในปี พ.ศ. 2533 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ สองปีต่อมา รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา
ดูเผิน ๆ พรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะต้องกลัวว่า ดร. อาทิตย์จะ ‘แหกคอก’ และ ‘แหกโผ’ แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลังประชาชนกดดันให้นักการเมืองทำตามใจชอบไม่ได้ง่าย ๆ
1
ดร. อาทิตย์เองรู้ว่า การแต่งตั้งคนจาก ‘พรรคมาร’ ที่เขาสังกัดอยู่อาจจะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนและนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหม่ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลสนใจเพียงรักษาอำนาจต่อไปเท่านั้น
ช่วงเวลานั้นมีคนพยายามติดต่อเขาตลอดเวลา ทั้งทางโทรศัพท์และการเข้าพบ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อย่าเสนอชื่อคนในพรรคร่วมรัฐบาล”
วันหนึ่งขณะดื่มกาแฟในคอฟฟีช็อปแห่งหนึ่ง หมอคนหนึ่งเดินมาหาเขา กล่าวว่า “ถ้าคุณเสนอชื่อนักการเมือง รสช. ผมจะเลิกอยู่เมืองไทย”
เขาพลันได้คิดว่า คำพูดนั้นสะท้อนความรู้สึกของคนทั่วประเทศ การเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ขึ้นเป็นนายกฯ แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ฝืนความชอบธรรม
พลันเขาพบว่าตนเองกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรม และเรื่องที่ชอบธรรมแต่ไม่ถูกกติกาทางการเมือง
1
เขายังติดหน้าที่เป็นลูกพรรคที่ต้องเคารพมติพรรคที่เขาสังกัด และกติกาว่าหัวหน้าพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ ดร. อาทิตย์กลับไม่ตกปากรับคำเป็นรัฐมนตรี ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลระแวงว่าเขาจะไว้ใจได้หรือไม่ และส่งคนประกบติดเขาทุกฝีก้าว เพื่อให้แน่ใจว่าเขาเสนอชื่อคนที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการ
เขาเป็นคนเดียวในประเทศไทยในนาทีนี้ที่จะผ่าทางตัน คลี่คลายสถานการณ์กดดัน ไม่ให้เกิดข้อแม้ในการก่อสงครามกลางเมืองครั้งใหม่
ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ขอคำปรึกษาผู้ใหญ่หลายคน เขาติดต่ออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ขอเข้าเฝ้าฯ ในหลวงนอกรอบ ได้รับแจ้งว่าไม่โปรดฯให้เข้าเฝ้า
1
จากนั้นเขาไปขอคำปรึกษาจากองคมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ผู้เสนอชื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ แต่เนื่องจากพรรคความหวังใหม่เป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับสอง ย่อมไม่ชอบธรรมและเสียมารยาทมากกว่าที่ให้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง - ชวน หลีกภัย
ดร. อาทิตย์เข้าพบ ชวน หลีกภัย เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ถามว่า “ท่านกล้ารับเป็นนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยไหม?”
ชวน หลีกภัย ปฏิเสธ บอกว่า สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เข้ารูปเข้ารอยอีกประการ รัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นทำงานไม่ได้ อาจจะล้มตั้งแต่วันแรก ๆ
แล้วนามหนึ่งก็ปรากฏในห้วงคิด
นามของบุรุษผู้เข้าสู่วงการเมืองอย่างประหลาด บุรุษผู้สามารถสานงานต่อไปทันที บุรุษผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคการเมืองใด
อานันท์ ปันยารชุน
ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ บุรุษผู้นี้เหมาะสมที่สุด
เขาโทรศัพท์ถึงนายอานันท์ ทาบทามให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบสอง อดีตนายกรัฐมนตรีปฏิเสธทันที
เขาไม่สิ้นความพยายาม ติดต่อนายอานันท์อีกครั้ง ชี้แจงเหตุผลว่า ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศให้พร้อมต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วยุบสภา ปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยดำเนินไป
นายอานันท์ ปันยารชุน บอกให้เขาไปหาคนอื่น เขาตอบว่า “มันไม่มีคนอื่นเลยนะ”
จนถึงเย็นวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เมื่อ ดร. อาทิตย์เดินทางไปเข้าเฝ้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 กระดาษหัวครุฑในมือยังว่างเปล่า ไม่มีชื่อนายกฯบนกระดาษ
ตามกฎ คนประกบตัวเขาเข้าวังด้วยไม่ได้ จึงเป็นครั้งแรกในรอบหลายวันที่เขาเป็นอิสระจากผู้คุม
แล้วเขาก็ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ
เขาบอก ดร. ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า “ผมไม่สามารถเสนอชื่อคุณสมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกฯได้ เพราะบ้านเมืองจะนองเลือดแน่”
ดร. ไพศิษฐ์ถามว่า “แล้วคุณจะเสนอชื่อใคร?”
“คุณอานันท์ ปันยารชุน”
เลขาธิการสภาฯสะดุ้ง “แน่ใจหรือ?”
“ไม่เป็นไร ผมรับผิดชอบเอง”
มาถึงจุดนี้ ต้องแน่ใจ
ณ ใต้บันไดพระตำหนักจิตรลดาฯ ดร.อาทิตย์โทรศัพท์ถึงนายอานันท์เป็นครั้งสุดท้าย
“ผมกำลังจะเข้าเฝ้าฯ เดี๋ยวนี้แล้ว อาจารย์เตรียมรับนะ”
นายอานันท์ตกลง
หลังจากนั้น ประธานสภาฯก็ติดต่อเจ้าหน้าที่วังขอเครื่องพิมพ์ดีด ให้พนักงานพิมพ์ตามคำบอก อักษรแรกของชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ
แล้วเข้าเฝ้าฯ ทูลว่า “ประเทศบอบช้ำมากแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทางเลือกนอกจากจะเสนอให้ตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อยุบสภา”
กราบทูลแล้วก็ยื่นให้เซ็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับฟังโดยไม่ตรัสอะไรเลย ทว่าหลังลงพระปรมาภิไธย ตรัสสั้น ๆ ว่า “กล้าหาญมาก สมเป็นรัฐบุรุษ”
แล้ว ดร. ไพศิษฐ์ เลขาธิการสภาฯ ก็นำพระบรมราชโองการเดินทางไปที่บ้านนายอานันท์ ปันยารชุน ผู้แทบไม่มีเวลาเตรียมตัว มีเพียงพระบรมฉายาลักษณ์เล็ก ๆ ที่หาได้ในเวลาอันสั้น
ข่าวการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแบบพลิกโผเป็นฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงกลางประเทศ ทว่าเสียงร้องเฮของคนไทยทั้งแผ่นดินดังกว่าเสียงฟ้าผ่า
ในมุมหนึ่ง ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ทรยศต่อพรรค แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาได้รับการแซ่ซ้องจากคนทั้งชาติว่าเป็น ‘วีรบุรุษประชาธิปไตย’
ไม่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ที่ ‘คนทรยศต่อพรรค’ ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนเช่นนี้
(หมายเหตุ ปัจจุบัน ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต)
ย่อความจาก 'ทรยศเพื่อชาติ' หนังสือ สามก๊กบนเส้นขนาน / วินทร์ เลียววาริณ / หนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่สอนผ่านสามก๊ก ข้อมูลหนังสือ https://www.winbookclub.com/store/detail/155/สามก๊กบนเส้นขนาน%20%28ปกอ่อน%29
โฆษณา