29 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

ผลิตผลการทำงานและสุขภาวะของพนักงานที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

การนำข้อมูลมาใช้ในการดูแลสุขภาวะและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน กำลังมีบทบาทต่อองค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจพนักงานเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงานและส่งเสริมให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลิตผลตามที่องค์กรต้องการ การทำความเข้าใจคนด้วยข้อมูล (People analytics) จึงกลายเป็นกลุ่มงานที่กำลังเข้ามามีบทบาทในองค์กรมากขึ้นจาก 13% ในปี ค.ศ. 2021 เป็น 21% ในปี ค.ศ. 2022 ในขณะที่ผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงาน HR มากขึ้นถึง 39% ในปี ค.ศ. 2023
การติดตามการทำงานของพนักงานผ่านวิทยาการข้อมูลหรือเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์พกพา ซอฟต์แวร์การทำงาน เซนเซอร์ตามจุดต่าง ๆ ในสถานที่ทำงาน แชทบอทเพื่อถาม-ตอบ เป็นต้น ทำให้องค์กรเข้าใจพนักงานได้ดีมากขึ้น นำไปสู่การออกแบบประสบการณ์การทำงานเฉพาะบุคคล เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร และมีสุขภาวะโดยรวมดีขึ้น ทั้งนี้ มีรายงานว่าองค์กรที่สามารถสร้างประสบการณ์ทำงานที่ดีให้กับพนักงานได้จะช่วยเพิ่มผลิตผลการทำงานขึ้นอย่างน้อย 20%
มีแนวโน้มว่าองค์กรทั่วโลกจะนำวิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการตัดสินใจเรื่องสำคัญในอนาคต (Data-driven decision-making: DDDM) ผลสำรวจระบุว่ามีผู้นำองค์กรถึง 98.6% เชื่อมั่นและต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 32.4% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์องค์กร ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีของผู้รับผิดชอบ ทักษะดิจิทัลของพนักงานโดยรวม และวัฒนธรรมการทำงาน ตัวอย่างเช่น Lufthansa Group มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 30% ทันทีที่พนักงานสามารถใช้แพลตฟอร์มวิเคราะห์องค์กรเพื่อการตัดสินใจได้อย่างคล่องแคล่ว
ข้อมูลของพนักงานยังช่วยให้องค์กรทราบได้ว่าควรให้การสนับสนุนพนักงานแต่ละคนอย่างไร ทั้งในมิติการทำงานและการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมิติด้านสุขภาวะ เพื่อให้พนักงานมีสุขภาวะโดยรวมที่ดีและมีความพึงพอใจในการทำงานร่วมกับองค์กร ผ่านการออกแบบนโยบาย สวัสดิการ การจัดการเรียนรู้ รวมไปถึงโปรแกรมสุขภาวะทั้งในโลกกายภาพและโลกเสมือนให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ตำแหน่งงานด้านประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล (Chief Data Officer: CDO) จะมีบทบาทมากขึ้นในการออกแบบระบบการทำงานภายในองค์กรร่วมกับกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล พร้อมทั้งควบคุมการนำวิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้กับพนักงานอย่างเหมาะสม
- การบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลจะถูกจับตามองอย่างเข้มงวดทั้งจากภายในองค์กรและองค์กรผู้ตรวจสอบภายนอก
อ้างอิงจาก
- A Total Well-Being Approach: Why it’s Essential in Turbulent Times https://www.aihr.com/blog/total-wellbeing/
- A Guide To Data Driven Decision Making: What It Is, Its Importance, & How To Implement It https://www.tableau.com/learn/articles/data-driven-decision-making
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWork #WellBeing #MQDC
โฆษณา