31 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

ผ่ากลุ่มทุนใหญ่ เจ้าสัวน้ำเมา

ผ่ากลุ่มทุนใหญ่ "เจ้าสัวน้ำเมา" ในไทย ใครจะสะเทือนบ้าง?! หากพรรคก้าวไกลซึ่งกำลังจัดตั้งรัฐบาลเตรียมดันนโยบาย พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นหนึ่งในนโยบาย “ทลายทุนผูกขาด”
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมองว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเหล้าและเบียร์ในไทย มีผู้ประกอบการไม่กี่ราย เทียบกับญี่ปุ่นที่ตลาดใกล้เคียงกันราว 2 แสนล้านบาท มีผู้ผลิต 50,000 แบรนด์ และส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี
📍 รู้จัก ‘ยักษ์สุรา-เบียร์-ไวน์’
ภารกิจทลายทุนผูกขาดครั้งสำคัญของเมืองไทย เริ่มต้นด้วยธุรกิจ “น้ำเมา” ซึ่งกลุ่มที่จะสะเทือน ได้แก่ สุราแช่ เช่น เบียร์ ไวน์ ฯ แล้วทุนใหญ่เป็นใครบ้าง
1. เก่าแก่สุดยกให้ “บุญรอดบริวเวอรี่” หรือค่ายสิงห์ ผู้ผลิตเบียร์ “รายแรก” โดยตระกูล “ภิรมย์ภักดี” เคลื่อนกิจการยาวนานกว่า 90 ปี จากรุ่นแรกสู่ทายาทรุ่น 3-4 ทั้ง "สันติ-ภูริต ภิรมย์ภักดี" รวมถึงวงศาคณาญาติในตระกูลร่วมบริหาร สร้างรายได้ระดับ “2 แสนล้านบาท”
2. ใหญ่สุด “ไทยเบฟเวอเรจ” หรือค่ายช้าง ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส แปรขาดทุนสู่กำไร สร้างความยิ่งใหญ่เป็นราชันย์น้ำเมา ปัจจุบันสร้างรายได้กว่า 2.7 แสนล้านบาทต่อปี มั่งคั่งด้วย “กำไร” กว่า 3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี(ปีงบประมาณ2565 : ต.ค.64-ก.ย.65)
“เจ้าสัวเจริญ” เกิดจากเหล้า แต่ “เบียร์” เป็นอีกสินค้าที่สร้างจุดเปลี่ยน จากเดิมรับบทเป็นพันธมิตรกับ “คาร์ลสเบิร์ก” เบียร์เบอร์ 4 ของโลก ภายหลังแยกทางกัน จนปั้นสูตรเบียร์ สร้างแบรนด์ “ช้าง” ทำตลาด
3. ปี 2538 เบียร์เบอร์ 2 ของโลก เข้ามาขอแบ่งเค้ก “ไฮเนเก้น” จากเนเธอร์แลนด์ ขอเป็นผู้ผลิตน้ำเมารายที่ 3 เข้ามาแข่งขันในตลาดเบียร์เมืองไทย ภายใต้บริษัท ไทยเอเชีย แปซิกฟิก จำกัด ปัจจุบันคือ “กลุ่มทีเอพี” และยืนหนึ่งในตลาดเบียร์พรีเมี่ยมด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด
4. “ตระกูลอยู่วิทยา” แม้จะเป็นเบอร์ 1 เครื่องดื่มชูกำลังของโลก มีแบรนด์ “กระทิงแดง” ทำตลาดในไทย และ “RedBull” เป็น Global Brand แต่ลูกหลานของตระกูลอย่าง “เฉลิม อยู่วิทยา” ยังแตกไลน์ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2525 ตั้ง "บริษัท สยาม ไวเนอรี่ จำกัด” จนเป็นผู้ผลิตไวน์อันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียด้วยและนำเข้าสินค้าไวน์จากต่างแดนมาทำตลาดในประเทศ และพัฒนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากองุ่นแบรนด์ “สปาย ไวน์คูลเลอร์” (SPY wine cooler) สร้างทางเลือกให้นักดื่มด้วย ทำยอดขายไม่ต่ำกว่า 180 ล้านขวดต่อปี
1
5. “กราน-มอนเต้” (GranMonte) ไร่องุ่นและแหล่งผลิตไวน์ (Winery) ของ “วิสุทธิ์-สกุณา โลหิตนาวี” จากพัฒนาพื้นที่ 100 ไร่ อโศกวัลเล่ย์ ปลูกองุ่นจนรังสรรค์ไวน์ไทยแท้มา 20 ปี เสิร์ฟนักดื่มด้วยกำลังการผลิต 1 แสนขวดต่อปี อนาคตมองการเพิ่มกำลังผลิต เพื่อทำไวน์ไทยแข่งไวน์ในเวทีโลก
1
6. บรั่นดีไทย ที่แพงแต่ขายดีจนขาดตลาด คือ “รีเจนซี่” เป็นอีกทุนที่อยู่ในตลาดสุรามายาวนานจากผู้ริเริ่มธุรกิจ “ณรงค์ โชคชัยณรงค์” ในฐานะแบรนด์ท้องถิ่นหรือ Local ที่โต รวยเงียบ มีรายได้ทั้งกลุ่มหลัก “หมื่นล้านบาท” ส่วน “กำไร” รวมหลัก “พันล้านบาท” เฉพาะ “โรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิ” ผู้ผลิตรีเจนซี่ ทำเงินกว่า 9,000 ล้านบาท กำไรมากกว่า 900 ล้านบาท
7. เจ้าพ่อเสถียร เสถียรธรรมะ แห่งคาราบาว กรุ๊ป ผู้ขอต่อกรตลาดเหล้า และปี 2566 กำลังจะลงสนามตลาดเบียร์ ต่อยอดจากโรงเบียร์ตะวันแดง หรือรูปแบบบริวผับ
1
เสถียรทุ่มเงินราว 3,000 ล้านบาท ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเหล้าที่จังหวัดชัยนาท เปิดตัว “เหล้าขาว” แบรนด์ “ข้าวหอม” ปัจจุบันมีสินค้าหลากหลาย ทั้งวิสกี้ บรั่นดี สาเก โซจู ฯ ซึ่งสร้างยอดขายเติบโตอย่างดี
1
จากเครื่องดื่มชูกำลัง “หมื่นล้าน” มาสู่น้ำเมา และจะมีเบียร์ “เสถียร” คาดว่าอาณาจักรธุรกิจของบริษัทจะสร้างรายได้ “แสนล้านบาท” ต่อไป
1
อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมที่: https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1070722
กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ
โฆษณา