31 พ.ค. 2023 เวลา 10:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

De-risk: ศัพท์ใหม่ในเกมเศรษฐกิจโลก - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

โดนัลด์ ทรัมป์ ทำสงครามการค้ากับจีน โดยประกาศว่าถึงเวลาของการ Decoupling ซึ่งหมายถึงการแยกห่วงโซ่เศรษฐกิจของสองประเทศออกจากกัน หลายคนบอกว่าไบเดนกดดันจีนหนักยิ่งกว่าทรัมป์เสียอีก ผลักโลกให้เข้าสู่ยุค Decoupling ระหว่างสองยักษ์อย่างแท้จริง
1
แต่ในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมา ทีมผู้นำสหรัฐฯ ตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดน รมว คลังเจเน็ต เยลเลน ไปจนถึงที่ปรึกษาด้านความมั่นคงเจค ซัลลิแวน ต่างกล่าววรรคทองให้นักข่าวเอาไปพาดหัวว่า "สหรัฐฯ ไม่คิดจะ "decouple" จากจีนอย่างเด็ดขาด หากต้องการเพียง "de-risk" จากจีนเท่านั้น"
2
แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า สหรัฐฯ ไม่คิดจะแยกห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งหมดขาดจากจีน ต้องการเพียงลดความเสี่ยงเฉพาะในห่วงโซ่ที่มีการพึ่งพาจีนสูงเกินไป
1
มีคนเปรียบเทียบว่า เหมือนกับถ้าเราลงทุนมากมายหลายอย่างอยู่ในจีน คำว่า “Decoupling” คือการตัดสินใจย้ายการลงทุนของเราทั้งหมดออกจากจีนไปหาที่ใหม่ แต่คำว่า “De-risk” หมายถึง เลือกย้ายเฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงออกจากจีน แต่ส่วนอื่นยังคงผูกพันเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกันได้อยู่
3
อะไรคือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ถ้ามองจากมุมของสหรัฐฯ ก็คืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นหัวใจของเศรษฐกิจและเทคโนโลยียุคใหม่แล้ว ยังเป็นหัวใจของอาวุธยุคใหม่ทั้งหลายที่อาจควบคุมได้ด้วยระบบอัตโนมัติ (automation) ด้วย
สหรัฐฯ มีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์โลก (ส่วนจะสำเร็จไม่สำเร็จนั้นเป็นอีกเรื่อง) แต่หากเป็นสินค้าอย่างของเล่น เสื้อผ้า ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ของอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องความมั่นคง สหรัฐฯ ก็ยังยินดีจะสั่งซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนต่อไป
คำว่า “De-risk” ถูกใช้ครั้งแรกโดยผู้นำยุโรป ทั้งอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และมาครง ผู้นำฝรั่งเศส ต่างก็ใช้คำนี้ โดยเฉพาะมาครงถึงกับอธิบายว่าฝ่ายจีนเองก็คิด De-risk เช่นเดียวกัน เพราะจีนเองก็เห็นเหมือนกันว่าจีนพึ่งฝรั่งมากเกินไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ส่วนฝรั่งเองก็คิดทำนองเดียวกันและจำเป็นต้อง De-risk จากจีน ในการประชุมกลุ่ม G7 ที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมกันเลือกใช้คำว่า De-risk ในแถลงการณ์ร่วม
เพราะเหตุใดตะวันตกและพันธมิตรจึงเลือกใช้คำนี้แทนคำว่า Decoupling เหตุผลแรกเพราะคำว่า De-risk น่าจะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนแรงของสงครามการค้าลง โดยสื่อว่าสงครามการค้าจะทำเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด ลดภาพการแสดงความเป็นศัตรูต่อจีนในทุกเรื่องลง พร้อมยืนยันว่าในหลายอุตสาหกรรม ตะวันตกยังคงต้องการค้าขายเชื่อมโยงกับจีนต่อไป
2
เหตุผลข้อสอง เพื่อป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกและจีนดิ่งเหวลงไปมากกว่านี้จนอาจนำไปสู่สงคราม สมัยก่อน มีคนเคยอธิบายว่าการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามร้อน แต่หากวันนี้สองยักษ์จะเลิกคบกันอย่างเด็ดขาด เราอาจกลับไปสู่ยุคที่หลับๆ ตื่นๆ รู้ตัวอีกทีอาจลามไปสู่สงครามโลกก็ได้ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันจึงมีประโยชน์ในแง่ป้องกันสงครามด้วย
ส่วนเหตุผลสุดท้ายก็คือการ Decoupling ออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้นทั้งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง ทั้งไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก เพราะจะทำให้สวัสดิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกลดลง แต่ในขณะเดียวกัน แม้ตะวันตกและจีนจะไม่สามารถแยกห่วงโซ่การค้าออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด แต่ตะวันตกก็ยังจำเป็นต้อง De-risk เพื่อลดความเสี่ยงจากจีนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากมุมจีน คำว่า de-risk กับ decoupling ไม่ต่างกันนัก เพราะถ้าการ decoupling ระหว่างกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในทางปฏิบัติ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่จีนบอกว่าฝรั่งกำลังพาลหาเรื่องจีนก็คือการ de-risk อยู่แล้วนั่นแหละ ดังนั้น การที่ฝรั่งเปลี่ยนมาใช้คำว่า De-risk จึงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนทิศทางอะไรจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่าไรนัก
ยุคสมัยของการ De-risk จากจีนนั้น จะมองว่าเป็นความท้าทายมหาศาลที่เขย่าเศรษฐกิจโลกก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่จะยกระดับห่วงโซ่เทคโนโลยีและดึงดูดการลงทุน เพราะตะวันตกและพันธมิตรต่างต้องการลดความเสี่ยงโดยย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ออกจากจีน
ในขณะเดียวกัน ฝั่งจีนเองก็ต้องพยายามหาพาร์ทเนอร์ใหม่ทางเศรษฐกิจมาแทนฝรั่งและสหรัฐฯ เช่นกัน นั่นก็คือจีนเองก็ต้องเร่งการเชื่อมโยงและค้าขายกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น หากเล่นเกมถูก โลกของการ De-risk จึงจะเป็นโลกที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างต้องการไทยและอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จากเดิมฝรั่งพึ่งจีนมากเกินไป และจีนเองก็พึ่งฝรั่งมากไป
โฆษณา