2 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • ยานยนต์

แนวโน้มราคาลิเธียมมลดตัว

นาย Elon Musk ผู้บริหารบริษัท Tesla ได้เคยกล่าวไว้ว่า การทำเหมืองลิเธียมก็เหมือนกับมี “ใบอนุญาตพิมพ์เงิน (ธนบัตร)” เพราะโลหะแอลคาไลน์ชนิดนี้เป็นแร่สำคัญในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ (ลิเธียมไฮดรอกไซด์) หนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) และนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021ราคาของลิเธียมได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ราคาของลิเธียมเริ่มปรับตัวลง โดยราคาในตลาดปัจจุบัน (Spot Market) จากที่เคยอยู่ที่ 75 ยูโรต่อ 1 กิโลกรัม ลดลงเหลือ 23 ยูโรต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดว่า หากราคาลิเธียมลดลงต่อเนื่อง ก็น่าจะทำให้ราคาแบตเตอรี่ปรับลดลงตาม และจะทำให้ราคารถ EV ถูกลงด้วย แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ราคาของรถ EV อาจไม่ได้ถูกลง แม้ราคาลิเธียมปรับลดลง เนื่องจาก
1. ต้นทุนรถ EV ไม่ได้เกิดจากราคาลิเธียมเพียงอย่างเดียว : เมื่อพิจารณาโครงสร้างของแบตเตอรี่รถ EV แล้ว มิได้ประกอบไปด้วยลิเธียมเพียงอย่างเดียว อาทิ รถ Audi e-tron ที่ขับเคลื่อนด้วย Electric Vehicle Battery (EVB) (หรือในวงการรถยนต์เรียกว่า Traction Battery) ขนาด 95 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh)
โดยแบตเตอรี่ชนิดนี้ นอกจากจะมีส่วนผสมของลิเธียมไฮดรอกไซด์ 63 กิโลกรัมแล้ว ยังมี นิกเกิล 60 กิโลกรัม โคบอลต์ 20 กิโลกรัม และ แมงกานีส 18 กิโลกรัม อีกด้วย ซึ่งนี่ยังไม่รวมสารเคมีอื่น ๆ แน่นอนปริมาณที่กล่าวมานี้เป็นปริมาณต่อ 1 คัน โดยรถ EV หนึ่งคันยังต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มแบตเตอรี่ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากอะลูมิเนียมหรือเหล็ก
2. ราคาลิเธียมไม่ได้ถูกจริง ๆ : ราคาลิเธียมไฮดรอกไซด์ใน Spot Market เป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อกลับไปพิจารณาสถิติราคาในอดีตเทียบกับปัจจุบันพบว่า ราคาไม่ได้ถูก โดยในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ราคาลิเธียมในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบน่าตกใจ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเหมืองในออสเตรเลีย (ผู้ผลิตลิเทียมที่สำคัญ) และเหมืองในชิลีถูกปิดหรือปิดตัวลงอย่างกะทันหัน
ประกอบเหมืองลิเธียมหลายแห่งใช้โอกาสช่วงโควิดทำการซ่อมแซมเหมืองเพราะคาดว่าความต้องการสินค้าน่าจะลดลง แต่จริง ๆ แล้วความต้องการลิเธียมกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาวัตถุดิบอื่น ๆ มีราคาสูงขึ้นเพราะเกิดความขาดแคลนส่งผลให้ราคาสินค้าอย่างชิปเพิ่มขึ้นอย่างหนัก
3. ราคาแบตเตอรี่รถ EV มีแนวโน้มที่จะลดลงอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับราคาของลิเธียม : จริง ๆ แล้วทิศทางของราคาแบตเตอรี่ชนิด Traction มีทิศทางลดลงอยู่แล้ว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราคาแบตเตอรี่ต่อ KWh ลดลงเรื่อย ๆ การผสมผสานระหว่างประสิทธิภาพของแบตฯ กับความก้าวหน้าทางเทคนิคที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เชี่ยวชาญการคาดการณ์เป็นไปได้ที่ ในปี 2025 ราคาแบตเตอรี่น่าจะอยู่ที่ 70 ยูโรต่อ KWh
โดยราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 120 ยูโรต่อ KWh นาย Markus Hackmann, Managing Director ของบริษัทให้คำปรึกษา P3 Group กล่าวว่า “ปัจจุบันคาดว่า ราคาแบตเตอรี่น่าจะลดลงเหลือ 100 ยูโรต่อ KWh โดยในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า” ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ของ P3 ได้รวบรวมข้อมูลด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ซึ่งพบว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในตลาดโลกจะปรับราคาลดลง ยกตัวอย่างรถรุ่น 3 ที่ใช้แบตฯ 77 KWh ก็จะทำให้ราคาแบตฯ อยู่ที่ 2,310 ยูโร
โดยประมาณ นาย Hackmann ยังได้กล่าวอีกว่า “หากเป็นไปตามนี้จริงราคารถ EV ก็จะเข้ามาใกล้กับรถยนต์สันดาปมากขึ้นเรื่อยๆ” อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะผลักให้ผู้ผลิตรถ EV มั่นใจมากขึ้นในการผลักดันการผลิตก็คือ เป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ของ EU ภายในปี 2035 สำหรับการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถขนส่งขนาดเล็กคันใหม่ในสหภาพฯ ซึ่งทำให้รถเหล่านี้ต้องปรับตัวเป็นรถ EV แบบใช้แบตฯ โดยปริยาย ซึ่งทำให้เกิดอุปสงค์และอุปทานที่เพียงพอด้วยตัวมันเองอยู่แล้วทำให้ราคาน่าจะปรับตัวตามเป็นปกติขึ้นเรื่อย ๆ
4. ผู้ผลิตแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ทำสัญญาระยะยาว : นอกจากราคาของลิเธียมไฮดรอกไซด์ใน Spot Market แล้ว ราคาแบตเตอรี่มักจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเพราะเป็นสัญญาในระยะยาว ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีการทำสัญญาร่วมมือหรือนำเงินไปลงทุนกับการผลิตแบตเตอรี่นั้นสามารถที่จะวางแผนการทำงานระยะยาวได้ง่ายกว่าผู้ผลิตที่ทำสัญญาระยะสั้นกับผู้ผลิตแบตฯ อีกทั้งการจัดการให้คลังสินค้าแบบกว้างขวางและเพิ่มการสต๊อกสินค้าก็ช่วยป้องกันความผันผวนในตลาดโลกได้เช่นกัน
5. ผู้ผลิตกำลังหาสิ่งที่มาทดแทนแบตเตอรี่ลิเธียม : ในเวลานี้มีการพัฒนาการค้นคว้าและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรถ EV อย่างมาก อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน BYD ที่ย่อมาจาก Build Your Dreams นั้นทั้งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ และผลิตแบตฯ ทำให้บริษัทสามารถปรับตัวตอบสนองการนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจาก BYD แล้ว บริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดในโลกก็พึ่งทดลองใช้โซเดียมมาแทนการใช้งานลิเธียม
ซึ่งจะทำให้ราคาแบตฯ ลดลงอีก อย่างไรก็ตามเซลล์แบตเตอรี่จากโซเดียมนั้นยังไม่สามารถทำให้เก็บพลังงานได้มากจึงนำมาประกอบในรถยนต์ขนาดเล็กที่เน้นการใช้งานระยะสั้นก่อน โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จะมีการใช้งานแบตฯ โซเดียมในรถ EV ที่ตัวเลขหนึ่งหลัก แม้ว่าแบตฯ โซเดียมจะไม่ใช่ตัวแทนแบตฯ ลิเธียม แต่ก็มาช่วยทำให้ตลาดลิเธียมลดความตึงเครียดลงในระดับหนึ่งทีเดียว
ดังนั้นคำพูดของ Elon Musk จึงน่าจะยังถูกต้องอยู่ในเวลานี้ เพราะโลหะแอลคาไลยังคงรักษาความเป็นทรัพยากรพื้นฐานหลักในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคมนาคมบนท้องถนนทั่วโลกไว้ และปัญหาความขัดแย้งด้านพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าระหว่าง ประสิทธิภาพพลังงานที่เหมาะสมในด้านหนึ่ง กับ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ไขได้ในเวลา
อันใกล้
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
Handelsblatt 29 พฤษภาคม 2566
โฆษณา