2 มิ.ย. 2023 เวลา 23:00 • ธุรกิจ

5 ประเภทการฟังในที่ทำงาน เพื่อ “เข้าใจและใกล้ชิด” กันมากขึ้น

แม้ว่าการเรียนรู้ที่จะสื่อสารในสิ่งที่คุณต้องการพูดจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเรียนรู้วิธีฟังในสถานการณ์ต่างๆ ก็ดูจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะการฟังจะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น และยังช่วยให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย ดังนั้น การฟังอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective listening) เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งในที่ทำงาน โรงเรียน บ้าน และสังคม
บทความจาก Customers First Academy ได้สรุป 5 ประเภทของการฟังในที่ทำงาน พร้อมทั้งสถานการณ์และคำแนะนำที่สามารถหยิบไปใช้ได้ ดังนี้
#1. Active listening
การฟังแบบ Active listening หรือการฟังอย่างตั้งใจ คือ การฟังที่ผู้ฟังตั้งใจจดจ่ออยู่กับคำพูดของผู้พูด เพื่อทำความเข้าใจความหมายและบริบทของพวกเขา ซึ่งการฟังประเภทนี้จะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับภาษากาย สีหน้า น้ำเสียงของผู้พูด และถามคำถามที่มีความหมาย ซึ่งการฟังแบบ Active listening มีประโยชน์ในด้านการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว และในงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นอย่างมาก
เทคนิคการฟังแบบ Active listening:
สบตาและใส่ใจกับการแสดงสีหน้าของผู้พูด
ตั้งใจฟังคำที่ผู้พูดใช้และพยายามอย่าขัดจังหวะ
ทวนคำ ทวนความจากสิ่งที่ผู้พูดพูดเพื่อแสดงว่าคุณเข้าใจ
ถามคำถามเพื่อช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น
#2. Critical listening
การฟังแบบ Critical listening หรือการฟังอย่างมีวิจารณญาณ คือ การฟังเพื่อวิเคราะห์เหตุผลและแยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น การฟังประเภทนี้จะเป็นประโยชน์มากเมื่อเราต้องการข้อเท็จจริงเพื่อมาประกอบการตัดสินใจบางอย่าง
เทคนิคการฟังแบบ Critical listening:
วิเคราะห์สิ่งที่ได้ยินว่าเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ อย่างไร
ถามคำถามเพื่อช่วยเคลียร์ความคิดและความรู้สึกของผู้พูด
โฟกัสที่ใจความสำคัญ (main points) มากกว่าข้อความที่คุณจะตอบโต้
ใช้การฟังแบบนี้ในสถานการณ์ที่เราต้องการ problem-solving
#3. Informational listening
การฟังแบบ Informational listening หรือการฟังเพื่อหาข้อมูล คือ การฟังที่โฟกัสไปที่เนื้อหาใจความ (content) เพื่อรวบรวมข้อมูลในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งให้มากที่สุด
เทคนิคการฟังแบบ Informational listening:
เตรียมคำถามที่เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ
ถอดประเด็นสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจถูกต้อง
ควรมีการจดโน้ตหรือการบันทึกเสียง
#4. Empathetic listening
การฟังแบบ Empathetic listening หรือการฟังด้วยความเข้าใจ คือ การฟังที่เปิดใจรับฟัง ฟังทุกอย่าง ฟังสิ่งที่เป็นคำพูด และสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา โดยไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก หากมีการถามคำถามก็จะเน้นไปที่การใช้คำถามที่เกี่ยวกับความคิดและอารมณ์ของอีกฝ่าย เพื่อทำความเข้าใจว่าตอนนี้พวกเขาคิดอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไร
เทคนิคการฟังแบบ Empathetic listening:
ตั้งใจฟังโดยไม่ขัดจังหวะ และมีสมาธิในการทำความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย
ทบทวนสิ่งที่คุณได้ยินด้วยคำพูดของคุณเองเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจถูกต้อง
หลีกเลี่ยงการให้คำแนะนำหรือบอกอีกฝ่ายว่าพวกเขาควรทำอย่างไร
แสดงให้พวกเขารู้ว่าคุณเข้าใจความรู้สึก
#5. Appreciative Listening
การฟังแบบ Appreciative Listening หรือการฟังเพื่อรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งๆ นั้น คือ การฟังที่ผู้ฟังจะสนใจความรู้สึก ความคิด และประสบการณ์ของผู้พูด และใช้คำพูดสนับสนุนในทางบวก รวมทั้งรู้สึกซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เทคนิคการฟังแบบ Appreciative Listening:
มองหาข้อดีในสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด แม้ว่าจะหายากก็ตาม
ถามคำถามผู้พูดที่แสดงว่าคุณสนใจในความคิดเห็นและความรู้สึกของพวกเขา
สร้างความมั่นใจให้ผู้พูดเมื่อพวกเขาแสดงความคิดหรืออารมณ์เชิงลบ ด้วยการทำความเข้าใจโดยไม่ตัดสิน
ให้ผู้พูดรู้ว่าคุณชื่นชมความคิดและความรู้สึกของพวกเขาโดยใช้วลี เช่น “ฉันเข้าใจว่าทำไมสิ่งนั้นถึงสำคัญสำหรับคุณ”
บทสรุป – ทั้ง 5 ประเภทการฟังนี้มีประโยชน์มากในการทำงานและในองค์กร เพราะเมื่อเราเข้าใจเรื่องการรับฟัง ก็จะสามารถนำไปใช้แก้ไขข้อขัดแย้ง สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น บริหารจัดการทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.
โฆษณา