2 มิ.ย. 2023 เวลา 11:56 • ความคิดเห็น

การเขียนนิยายเปรียบได้เหมือน…

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้ทางเพจผู้สังเกตการณ์ขอชวนเพื่อน ๆ มาคุยกันเบา ๆ กับนิยามของการเขียนนิยาย ใครนิยามไว้ยังไงบ้าง แชร์กันมาได้เลยนะคะ
✍️ การเขียนนิยายคือการเดินทาง เดินต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
ก่อนออกเดินทางต้องมีแผนที่ ศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจในทางที่เราจะไป
มีการปักหมุดเป้าหมาย มีเข็มทิศชี้นำทาง มีเสบียงอาหาร มีต้นทุน
จะมีเพื่อนร่วมทาง หรือจะเดินทางเพียงลำพังก็ย่อมทำได้
นักเดินทาง
ในระหว่างเดินทาง อาจมีพักบ้าง แต่ยังไงก็ต้องเดินทางต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
บนเส้นทางที่ไม่ง่ายนี้ อาจมีมากมายปัญหา หรือระหว่างทางอาจมีอุปสรรค
หากคุณยังยืนยันที่จะไปต่อ อุปสรรคก็แค่บันได
มันเกิดขึ้นมาเพื่อให้คุณได้ปีนขึ้นไป และเป็นรอยทางให้คนรุ่นหลังเดินตามมาได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า
"ทุกความสำเร็จ ทิ้งร่องรอย"
การเดินทางนั้นมีทั้งความท้าทาย ความสะดวกสบาย ความยากง่ายอยู่ที่ตัวเราเลือกว่าจะบุกเบิกเส้นทางใหม่ หรือจะตามรอยคนรุ่นก่อนก็ล้วนทำได้ทั้งสิ้น
✍️ การเขียนนิยายเหมือนการขุดบ่อน้ำ
ขุดไปเรื่อย ๆ ขุดไปให้ลึกจนกว่าจะเจอตาน้ำ แต่จะขุดมั่ว ๆ ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน
คุณต้องสำรวจก่อนว่าที่บริเวณนั้นมีน้ำไหม
อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการขุดมีอะไรบ้าง
วางแผนการขุด
ลงมือขุด
เอาตัวเองลงไปอยู่ในบ่อที่มีแค่ดินโคลน
ถึงแม้ตอนที่ขุดจะมองเห็นแค่ดินที่อยู่รอบ ๆ ตัว แต่คุณก็ต้องมีความเชื่อและหวังว่าจะเจอตาน้ำที่ไหลทะลักอยู่ใต้ดินนั้น ที่จะไหลออกมาให้คุณมีน้ำดื่มกิน สลายล้างความหิวกระหายได้ พร้อมแจกจ่ายน้ำให้กับคนอื่นได้ดื่มใช้ด้วย
จุดชมวิว
✍️ การเขียนนิยายเหมือนการปีนเขา
แรงขาต้องมี ใจต้องพร้อม อุปกรณ์ต้องครบ
มีความกล้าที่จะทำสิ่งที่ท้าทาย
เป้าหมายที่อยู่บนยอดเขาสูง
ระหว่างทางที่โดดเดี่ยว เหน็บหนาว เหนื่อยล้า ทำงานกับใจตัวเองตลอดเวลา
คิดจะถอนตัวหรือไปในต่อหลาย ๆ ครา กว่าจะถึงจุดชมวิวที่สวยงามที่พยายามปีนป่ายมานั้น ไม่ใช่อะไร มีเพียงใจที่ต้องการเอาชนะความกลัวต่ออุปสรรคที่ท้าทาย
ต้นมะม่วง
✍️ การเขียนนิยายเหมือนการปลูกต้นไม้
ที่ต้องเตรียมตั้งแต่ในความคิดว่าจะปลูกอะไร ใช้ดินแบบไหน ใช้ปุ๋ยอะไร ลงกระถางหรือลงดิน
ผู้ปลูกมีความอดทน รอได้ ให้เวลาเมล็ดพันธุ์ได้เติบโต ใส่ใจตั้งแต่เพาะเมล็ด แล้วรอให้เป็นต้นกล้า กว่าจะนำไปลงดิน คอยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เฝ้าระวัง กว่าต้นไม้จะเติบใหญ่ ให้ร่มเงา ผลิดอกออกผลให้ได้เก็บเกี่ยว
ไข่ พะโล้
✍️ การเขียนนิยายเหมือนการทำอาหาร
ต้องเลือกตั้งแต่ชื่อเมนูอาหาร เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะทำเมนูอะไร เช่นจะทำผัดกะเพรา กะเพราอะไร ใส่หมู หมึก กุ้ง ไก่ หรือเนื้อ
ชื่อนิยายนั้นสำคัญมาก เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ใช้ดึงดูดให้คนอ่านสนใจที่จะเปิดอ่านนิยายของคุณ
ชื่อนิยายบ่งบอกตัวตนของนิยายเรื่องนั้น ๆ ว่าเป็นแนวไหน คนอ่านสามารถคาดการณ์ได้จากชื่อเรื่อง ซึ่งก็เหมือนชื่อเมนูอาหารนั่นเอง
จะเขียนเกี่ยวกับอะไร จะทำต้ม ยำ ผัด แกง พิซซ่า หรือว่าก๋วยเตี๋ยว แนวไหน ประเภทใด
ลูกค้าคือใคร จะทำอาหารให้ใครกิน เขียนให้ใครอ่าน
เครื่องปรุง ใส่อะไรลงไปบ้าง ปม เหตุการณ์ ข้อมูล บรรยายฉาก สถานการณ์ สถานที่
วัตถุดิบ มีอะไรบ้าง
สูตรการปรุง วิธีการทำ มีขั้นตอนอะไร ยังไงบ้าง
วางแผน เตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนที่จะลงมือปรุง หรือเขียน
ทำเสร็จแล้วชิม เขียนเสร็จแล้วอ่านทบทวน ถ้าไม่ดี ปรุงใหม่ รีไรต์ จนกว่าจะพอใจ จนกว่าจะชอบใจ ถูกใจ ใส่ปก หีบห่อ บรรจุ วางขาย
ปกหรือหีบห่อต้องสวย สะดุดตา ถึงจะเรียกให้คนมาซื้อได้
ปกอาจเป็นสิ่งแรกที่ต้องเตรียมไว้ก่อน
ปล. เมนูอาหารนี้อาจไม่ได้ถูกปากถูกใจทุกคน นิยายก็เหมือนกัน
คนชอบเขาก็ชม เรายินดี มีกำลังใจ
คนไม่ชอบเขาก็ติ เราน้อมรับ ปรับปรุง แก้ไข
ออกกำลังกาย
✍️ การเขียนนิยายเหมือนการออกกำลังกาย
คุณอยากได้รูปร่างแบบไหน
คุณออกกำลังกายเพื่ออะไร
คุณชอบออกกำลังกายด้วยวิธีใด
คุณจะสร้างงานสร้างเงินจากการออกกำลังกายของคุณได้หรือไม่
คุณจะส่งต่อเรื่องราวดี ๆ นี้ต่อไปอย่างไร
ในขณะที่ออกกำลังกายมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ความคิด ทัศนคติ สิ่งที่คุณคิดในหัวตอนนั้น คุณได้ยินไหม อาจเป็นเพียงเสียงกระซิบจากสายลม หรืออาจเป็นคลื่นความคิดถึงจากใครบางคน
คุณมีอุปกรณ์พร้อมหรือเปล่า
คุณมีโค้ชหรือเล่นเอง
ร่างกายคุณพร้อมนะ
จิตใจคุณพร้อมนะ
สถานที่พร้อมนะ ถ้าอย่างนั้นก็ลุย
ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น หนังสือที่เขาเขียนติดเบสเซลเลอร์ทุกเล่ม ผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายไปทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยด้วย เขาเป็นนักเขียนที่เป็นนักวิ่งมาราธอน และยังเคยออกหนังสือที่เป็นการเขียนจากการตกผลึกทางความคิดของเขาในขณะวิ่งว่า "การเขียนนิยายก็เหมือนการวิ่งมาราธอนนั่นแหละ"
คู่รัก
✍️ การเขียนนิยายเหมือนการมีคู่รัก
คุณต้องรักกันก่อนถึงจะช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามออกมาได้
เช่นกันคนเขียนนิยายต้องรักการเขียนนิยาย ต้องรักงานเขียน และต้องรักผลงานของตัวเองด้วย เมื่อมีความรักในสิ่งใด สิ่งนั้นงอกงาม
งานเขียนที่ดี แฟนที่ดี ความรักที่ดีก็จะให้ผลผลิตที่ดีงามคือผลจากงานที่รัก
เป็นความสุข ภูมใจ ปลื้มใจ เชิดหน้าชูตา เป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ ผู้คนให้ความนิยม ชื่นชม ยินดี
สายใยรักก่อตัวตั้งแต่แรกพบกันฉันใด พล็อตนิยายกับตัวผู้เขียนก็มีความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน
พล็อตนิยายมีเข้ามาในหัวให้เลือกมากมาย นักเขียนต้องเลือกว่าจะหยิบพล็อตไหนมาแต่ง
บางพล็อตในตอนแรกนั้นดูน่าสนุก น่าตื่นเต้น เขียนไปเขียนมา สมองตัน ไปต่อไม่ได้
บางพล็อตมาเรียบ ๆ เขียนได้เป็นร้อยตอน
บางพล็อตก็ทำให้คนเขียนเจ็บช้ำระกำใจ จมดิ่งไปกับตัวละคร
บางพล็อตคนเขียนก็ถูกนักอ่านด่ายับ
บางพล็อตก็ปล่อยค้าง ทิ้งร้าง ร่อแร่ไว้แรมปี แต่ก็ต้องกลับมาปรับแก้ เพื่อจบงานให้ได้
การเลือกพล็อตมาเขียนก็เหมือนการเลือกใครสักคนเข้ามาในชีวิต พล็อตเป๊ะ ชีวิตปัง สร้างงาน สร้างรายได้
1
ไม่ว่าอย่างไรนักเขียนก็มีความสุขทุกครั้งที่คิดพล็อตได้
มีความสุขกับผลงานของตัวเอง ชอบที่จะเขียน รักในผลงานของตัวเอง เฝ้าดูแล ใส่ใจ ให้ความรัก เพื่อให้ผลงานที่เกิดจากความรักเติบโต สวยงาม
คู่รัก
ไหน ๆ ก็พูดถึงความรักแล้ว จึงขอนำ 10 วิธีดูแลความรักและความสัมพันธ์มาแชร์กันค่ะ
💖 1. สื่อสารอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมากับคู่ของคุณ
💖 2. กำหนดและรักษาขอบเขตที่เหมาะสมในความสัมพันธ์
💖 3. แสดงให้คนรักเห็นว่าคุณรักและชื่นชมเขาเป็นประจำ
💖 4. ฝึกให้อภัยและปล่อยวางความขุ่นเคือง
💖 5. ให้เวลาซึ่งกันและกันและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคุณ
💖 6. สนใจงานอดิเรกและความสนใจของคู่ของคุณ
💖 7. ฝึกฟังอย่างกระตือรือร้นและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคู่ของคุณ
💖 8. ทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อแก้ปัญหาและเอาชนะความท้าทาย
💖 9. ขอความช่วยเหลือหากคุณกำลังต่อสู้กับปัญหาความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาหรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ
💖 10. พยายามพัฒนาตัวเองและความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องด้วยการเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาไปด้วยกัน
ปล. ทุกความสัมพันธ์นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นการค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณและคู่ของคุณจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ผู้สังเกตการณ์
ขอบคุณค่ะ
ไม่ว่าจะทำสิ่งใด
เมื่อใส่ความรักลงไป
สิ่งนั้นคือความพิเศษ
ผู้สังเกตการณ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา