นักการทูตกับความหลากหลาย: เอ้ยายา จอรถ นักการทูตจากชุมชนลำน้ำห้วยผาก

นักการทูตในภาพจำของหลาย ๆ ท่าน อาจเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงในวงสังคม เติบโตมาอย่างเพียบพร้อมและมีเส้นทางชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนในละครไทยหรือซีรีย์ “The Diplomat” วันนี้ ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับนักการทูตที่จะให้ภาพอีกด้านหนึ่งที่ไม่เหมือนกับภาพจำเหล่านั้น เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ และแสดงให้เห็นว่า ใครที่มีความรู้ความสามารถระดับที่ผ่านมาตรฐานของกระทรวงการต่างประเทศได้ ก็สามารถเป็นนักการทูตได้ ถ้ามีใจรักและสนใจด้านการต่างประเทศครับ
ในตอนนี้ ผมขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับคุณเอ้ยายา จอรถ นักการทูตปฏิบัติการ จากกองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) คุณเอ้ยายาใช้ชีวิตในวัยเด็กในชุมชนลำน้ำห้วยผาก ชุมชนพื้นเมืองเชื้อสายกระเหรี่ยง ในจังหวัดราชบุรี พื้นที่ติดชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณเทือกเขาตะนาวศรีครับ
ตอนเด็ก ๆ โตขึ้นผมอยากเป็นนายพราน
คุณเอ้ยายาเล่าให้พวกเราฟังว่า วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนห้วยผากพึ่งพาและผูกพันกับธรรมชาติอย่างมาก ในวัยเด็ก ด.ช. เอ้ยายา มีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็น ‘นายพราน’ ที่สามารถล่าสัตว์ได้มากที่สุดในเทือกเขาตะนาวศรี หรือเป็นคนตัดอ้อยได้เก่งที่สุดในจังหวัด โดยตอนนั้น เขาไม่เคยรู้จักอาชีพนักการทูตมาก่อนเลย ซึ่งความฝันในการเป็นนักการทูตของคุณเอ้ยายา พึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่เขาย้ายเข้ามาทำงาน
ในเมืองหลวง
คุณเอ้ยายา (ซ้ายสุด) และน้อง ๆ ในชุมชนลำน้ำห้วยผาก จ.ราชบุรี
เส้นทางสู่การเป็นนักการทูตของคุณเอ้ยายาเริ่มต้นเมื่อตอนเขาอายุ ๑๗-๑๘ ปี เมื่อเขาเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเมืองหลวงหลายคน อาชีพแรกๆ ที่เด็กหนุ่มคนนี้เริ่มทำก็คือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้พบเจอกับชาวต่างชาติ คุณเอ้ยายาจึงเริ่มสนใจในความหลากหลายของผู้คนจากต่างวัฒนธรรม และเริ่มฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตนเองในเวลาว่าง
ในช่วงนั้น คุณเอ้ยายาทำงานและเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบ (กศน.) ไปด้วย จนได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ซึ่งความหลงใหลในวัฒนธรรมที่หลากหลายนี้เองทำให้เขาเลือกศึกษาในคณะบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และวันหนึ่ง เมื่อเขาได้รับชมการประชุมระหว่างประเทศทางโทรทัศน์ คุณเอ้ยายาก็เริ่มสนใจบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ และมีความฝันจะเป็นนักการทูต
คุณเอ้ยายา ขณะรับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
นักการทูตไทยเชื้อสายกระเหรี่ยง
ปัจจุบันคุณเอ้ยายา เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการ กองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) มาได้ประมาณ ๑ ปีแล้ว สิ่งที่ผมอดสงสัยไม่ได้คือ การเติบโตมาจากชุมชนพื้นเมืองเชื้อสายกระเหรี่ยงเป็นโอกาสหรืออุปสรรคในการปฏิบัติงานในฐานะนักการทูตของคุณเอ้ยายาอย่างไรบ้าง?
คุณเอ้ยายากล่าวว่า การที่ตนเติบโตมาในรูปแบบวัฒนธรรมชนพื้นเมืองและประสบการณ์การทำงานในฐานะ Blue Collar นั้นให้อะไรกับเขาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าใจและเข้าถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชุมชนพื้นเมือง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเป็นนักการทูตในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังก้าวสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายในหลายหลากรูปแบบ
รู้หรือไม่? ปัจจุบันมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงกว่า ๙ ล้านคนทั่วโลก โดยชาวกระเหรี่ยงกว่า๑ ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศไทย
หน้าที่ของคุณเอ้ยายาใน TICA คือดูแลกลุ่มงานสาขาด้านพัฒนาสังคมระหว่างประเทศ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบหลักคืองานด้านสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆ โดยต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในฐานะ ‘ทีมประเทศไทย’ อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทำไมเราถึงต้องช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านด้วย?
หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ‘ทำไมเราถึงต้องช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านด้วย?’ คำตอบคือ การช่วยเหลือผู้อื่นก็คือการช่วยเหลือตัวเราเองครับ เพราะการช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยนั้น สามารถช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์บริเวณชายแดน
ฝั่งไทยได้เช่นกัน และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเมื่อผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันข้ามพรมแดนได้ด้วย
การที่ไทยยื่นมือเข้าไปช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการอบรมทางการแพทย์ หรือส่งมอบเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นการช่วยให้ระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขร่วมกันในภูมิภาคนั่้นเอง
(ติดตามภารกิจที่น่าสนใจและโอกาสดี ๆ จากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ที่ Facebook Page และเว็บไซต์กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ)
โครงการสาธารณสุขชายแดน (ที่มา: TICA)
นอกจากการทำงานในฐานะนักการทูตแล้ว คุณเอ้ยายายังใช้เวลาว่างไปกับการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิด ไม่ว่าจะเป็นการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ การพาเยาวชนในชุมชนเข้ามาทัศนศึกษาในกรุงเทพมหานคร และการระดมทุนสร้างสนามกีฬาให้กับชุมชน ผ่านมูลนิธิ ACC Thailand
โดยมูลนิธิ ACC Thailand นั้นมีสาขาอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ มองโกเลีย คีร์กีซสถาน และฟิลิปินซ์ เป็นต้น รวมถึงกลุ่ม Pay Back ที่คุณเอ้ยายาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเขาย้ำว่าการทำกิจกรรมจิตอาสาเหล่านี้ เป็นการตอบแทนคุณประเทศเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษาให้กับเยาวชนในชุมชน
ตอนนี้ สภาพแวดล้อมในชุมชนห้วยผากเปลี่ยนไปมากแล้ว จากเดิมที่เมื่อถามเด็ก ๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรแล้วพวกเขาตอบกลับมาว่า ‘ไม่รู้’ คำตอบของเด็ก ๆ ในยุคนี้มีความหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น หมอ ครู นักกีฬา E-Sport ยูทูปเปอร์ รวมไปถึง ‘นักการทูต’ ด้วย
คุณเอ้ยายา และน้อง ๆ ในชุมชนลำน้ำห้วยผาก จ.ราชบุรี
Love me, รักฉันให้มาก ๆ
สุดท้ายนี้ เราจะไขข้อสงสัยที่ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านแอบมีไว้ในใจ คือ “เอ้ยายา แปลว่าอะไร ?” ซึ่งชื่อ ‘เอ้ยายา’ นี้ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขารักและภาคภูมิใจที่สุดสิ่งหนึ่ง เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และตัวตนของเขาในฐานะชนพื้นเมืองเชื้อสายกระเหรี่ยงแล้ว ชื่อนี้ยังมีความหมายที่ดีด้วย ‘เอ้ยายา’ ในภาษากะเหรี่ยง แปลว่า ‘Love me’ หรือ ‘รักฉันให้มาก ๆ’ ทำให้เขามีความสุขทุกครั้งเวลาที่ผู้คนขานชื่อของเขา
จบแล้วนะครับสำหรับตอนแรกของบทความชุด #นักการทูตกับความหลากหลาย ทุกท่านสามารถกดติดตาม Blockdit ของกระทรวงการต่างประเทศ ไว้ได้เลยนะครับ โดยเรายังมีนักการทูตและบุคคลากรกระทรวงการต่างประเทศอีกหลายท่านที่จะมาพร้อมเล่าประสบการณ์ และแบ่งปันเรื่องราวความหลากหลายในหลายรูปแบบให้ทุกท่านได้เพลิดเพลินกันครับ
คุณเอ้ยายา ขณะเข้าพบนางสุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย
โฆษณา