6 มิ.ย. 2023 เวลา 16:48 • ดนตรี เพลง
กว่างโจว

สมาร์ทกีตาร์ นวัตกรรมจากกว่างโจว

ใครที่ชมการเล่นกีตาร์ของว่าที่นายกพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ prime minister-designate ในรายการเมื่อต้นเดือนมิถุนายน อาจสะดุดตากับกีตาร์ขาวตัวแปลก ไม่มีรูกลมตรงกลางเหมือนกีตาร์โปร่งทั่วไป แต่มีรูแบนๆด้านบน แล้วยังมีจอภาพเล็กๆด้านข้างด้วย กีตาร์ที่พิธาเล่นวันนั้น เป็นกีตาร์โปร่งไฟฟ้า BLUE LAVA Touch ของเขาเอง ผลิตภัณฑ์จากบริษัท Lava Music แห่งเมืองกว่างโจว ที่เปิดตัวมาได้ไม่นาน แต่กำลังร้อนแรงราวธารลาวาภูเขาไฟ ไม่แพ้ตัวคนเล่น
พิธานั้นเล่นมือขวา แต่ภาพนี้ลองสลับข้างเอาเอง
กีตาร์จากลาวา ไม่ใช่เป็นแค่กีตาร์โปร่งที่ใส่วงจรไฟฟ้าเข้าไปเหมือนกีตาร์ acoustic-electric ทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็น กีตาร์ที่มีสมอง ไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนอีกด้วย สมัยนี้นอกจากทีวี ตู้เย็น หม้อหุงข้าว จะมีจอทัชสกรีนต่อเน็ตได้กันหมดแล้ว ในที่สุดกีตาร์ก็หนีไม่พ้น กลายเป็น “สมาร์ทกีตาร์” ไปด้วย
นวัตกรรมกีตาร์ที่พิเศษกว่านั้น คือตัวกีตาร์จะไม่ได้ทำด้วยไม้เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุแห่งอนาคต ความแข็งแรงสูงแต่น้ำหนักเบา ที่พัฒนาขึ้นสำหรับเครื่องบินและยานอวกาศ
กีตาร์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่จริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงก็เพิ่งเกิดขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ก่อนอื่นมาดูความเป็นมาแบบย่นย่อ ของวิทยาการกีตาร์ในอดีตจนถึงปัจจุบันกันก่อน
วิวัฒนาการของกีตาร์มีมายาวนาน เครื่องดนตรีพกพาได้ประเภทสาย ที่ใช้มือดีด เลือกโน้ตโดยการกดสายเข้ากับส่วนคอ ที่จัดประเภทรวมๆกันว่า ลูท (lute) มีหลักฐาน อยู่ในประวัติศาสตร์ของทั้งอียิปต์โบราณ อินเดีย จีน และอาหรับ
จิตรกรรมฝาผนังแสดงเครื่องดนตรีประเภทลูท อายุราว 3300 ปี ที่ทีบส์ อียิปต์
เครื่องดนตรีที่มีชื่อเรียกคล้ายกีตาร์ เริ่มปรากฏในยุโรปแล้วตั้งแต่ยุคกลาง เช่น กิทเทิร์น (อังกฤษ) ควินเทิร์น (เยอรมัน) และ กีเตอร์นา (สเปน) คาดกันว่ามีที่มาจากภาษากรีก คิธารา (κιθάρα) ซึ่งเป็นรากศัพท์เดียวกับคำว่า “คีตา” ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า การร้องเพลง แต่คล้ายกันเพียงชื่อ เครื่องดนตรีสมัยนั้นยังเป็นแบบหลังโค้ง (round back) รูปร่างและการจัดสายยังไม่เหมือนกีตาร์ในปัจจุบัน
เสียงจากกิทเทิร์นโบราณ
กีตาร์แบบหลังแบน (flat back) มีต้นกำเนิดมาจาก Vihuela เครื่องดีด 12 สายของสเปนสมัยศตวรรษที่ 16 และได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วยุโรป แม้แต่เฮนรีที่ 8 กษัตริย์อังกฤษจอมโหดก็มีกีตาร์ไว้เล่นหลายตัว กีตาร์ในยุคเรอเนซองส์ จนถึงบาโรก ยังนิยมแบบสายคู่เรียงติดกัน ดีดพร้อมกันสองสาย
กีตาร์แบบสายคู่ ยุคบาโรก (ศตวรรษที่ 17)
จากภาพเขียน (De gitaarspeelster) ของเฟอร์เมียร์ จิตรกรชาวดัทช์
การแปลงโฉมมาเป็นกีตาร์หกสาย (สมัยก่อนสายกีตาร์ทำจากไส้แกะ) แบบมีรูเสียงตรงกลาง คล้ายกีตาร์โปร่งในปัจจุบัน ว่ากันว่าเป็นผลงานของ กายตาโน วินัคชา (1767–1849) ชาวเนเปิลส์ แต่ยังมีข้อโต้แย้งในหลักฐานกันอยู่ กีตาร์ยุคนี้ ออกแบบมาเพื่อเล่นดนตรีคลาสสิก ต่อมาไปแพร่หลายในสเปน ใช้เล่นเพลงตามร้านเหล้าแทน
ต้นกำเนิดกีตาร์โปร่ง โดยวินัคชา รุ่นปี 1829
การปรับปรุงให้เป็นกีตาร์คลาสสิคที่มีเสียงกังวาน นุ่มนวล ใช้งานได้จริง ต้องยกเครดิทให้กับ อันโตนิโอ เดอ ทอร์เรส ฮูราโด (1817– 1892) ช่างกีตาร์ชาวสเปน ได้ออกแบบให้ลำตัวใหญ่ขึ้น ใช้ไม้หน้าบางลง และมีโครงค้ำเสริมภายใน (bracing) เพื่อให้ส่งพลังการสั่นสะเทือนออกมาได้มากขึ้น แต่ยังใช้สายเป็นไส้แกะ หรือเส้นไหมอยู่
ส่วนสายไนลอนนั้น มาทีหลังจากสายเหล็กอีกคือ ในยุค 1930 เมื่อบริษัทดูปองท์ผลิตไนลอนได้แล้ว
โรงงานกีตาร์มาร์ติน จุดกำเนิดกีตาร์โปร่ง รูปแบบยอดนิยม
ในช่วงเดียวกันนี้เอง ที่คริสเตียน เฟรเดอริค มาร์ติน (1796–1873) ผู้อพยพจากเยอรมัน ได้เปิดโรงงานทำกีตาร์ Martin ขึ้นในรัฐเพนซิลเวเนีย เขาได้เริ่มการใช้สายเหล็ก ที่ให้เสียงกระหึ่มกว่าเดิม แต่ด้วยแรงตึงที่สูงขึ้นในสายเหล็ก จะไปดึงสะพานยึดสายและไม้หน้าให้ผิดรูป เกิดเสียงรบกวนขณะเล่นได้
จึงต้องเพิ่มโครงค้ำแผ่นไม้หน้าเป็นรูปกากบาท (X bracing) เพื่อให้แข็งแกร่งขึ้นกว่ากีตาร์แบบคลาสสิค สามารถปล่อยเสียงย่านความถี่สูงออกมาได้อย่างคมชัด
โครงเสริมไม้หน้าแบบ X bracing ผลงานของมาร์ติน
นอกจากนี้บริษัทกีตาร์ของมาร์ติน ยังได้ผลิตกีตาร์โฟล์คขนาดใหญ่ขึ้น จนเป็นที่นิยมอย่างสูง ในปี 1916 คือรุ่นเดรดนอท (Dreadnought) ซึ่งตั้งชื่อตามเรือรบอังกฤษ ห้องเสียงขนาดใหญ่และไม้หน้าที่แข็งแกร่งแต่บางเบา สามารถให้เสียงครอบคลุมช่วงความถี่ที่กว้างขึ้น จึงเป็นที่นิยมของนักดนตรี
มาร์ตินยังอนุญาตให้คู่แข่งของเขานำไอเดียนี้ไปใช้โดยไม่ปิดกั้น กีตาร์อะคูสติกโฟล์คในปัจจุบันยังยึดมาตรฐานการออกแบบของเดรดนอท และ X bracing เป็นส่วนใหญ่
เคิร์ท โคเบน ก็เริ่มเล่นกีตาร์จากเดรดนอท (ราคาประมูลตัวนี้ 1 ล้านดอลลาร์)
คุณภาพของกีตาร์ส่งผลต่อการวิธีการเล่นด้วย นักกีตาร์สามารถเล่นเพลงเร็ว และใส่พลังในการตีคอร์ดได้มากขึ้น แนวการเล่นแบบโฟล์คและคันทรีก็เริ่มขึ้นช่วงนี้ก่อนจะมาดังในยุค 1960
การแผ่พลังเสียงของกีตาร์โปร่ง (acoustic guitar) ไม่ว่าจะเป็นแบบคลาสสิค (สายไนลอน) หรือแบบโฟล์ค (สายเหล็ก) นั้น มาจากการสั่นสะเทือนของสายโดยตรงเพียงส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่จะมาจากการสั่นสะเทือนของส่วนลำตัว โดยเฉพาะแผ่นไม้หน้า (sound board) และมวลอากาศภายใน ซึ่งถูกกระตุ้นให้สั่นพ้องโดยสายกีตาร์ และส่งพลังออกมาทางช่องเสียง (sound hole) อีกต่อหนึ่ง
กีตาร์ไฟฟ้า Fender ของจิมมี เฮนดริกซ์ ลำตัวตัน ติดพิกอัพแม่เหล็กสามแถว
ในยุค 1950 เป็นการมาถึงของกีตาร์ไฟฟ้า ที่ดังที่สุด คงจะเป็น Fender Stratocaster กีตาร์ไฟฟ้าตัวโปรดของจิมมี เฮนดริกซ์ การกำเนิดเสียงของกีตาร์ไฟฟ้าต่างไปจากกีตาร์โปร่งโดยสิ้นเชิง
เสียงที่ได้จากกีตาร์ไฟฟ้าจะมาจากการสั่นสะเทือนของสายโดยตรงทั้งหมด โดยใช้เซนเซอร์แม่เหล็ก (magnetic pickup) สามแถว ตรวจจับการสั่นของสายกีตาร์เหล็กโดยตรง แล้วค่อยส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านสายไปยังเครื่องขยายเสียง โดยไม่ต้องอาศัยการสั่นพ้องของแผ่นลำตัวหรือมวลอากาศใดๆเลย
สิทธิบัตรกีตาร์ไฟฟ้าของ แคลเรนซ์ ลีโอ เฟนเดอร์ ปี 1956
ลำตัวของกีตาร์แบบนี้ จึงเป็นไม้ตัน และไม่มีช่องเสียง เพราะไม่ต้องสั่นให้เกิดเสียงเหมือนแบบอะคูสติก แต่จะต้องแข็งเกร็งเพื่อให้จุดยึดสายนิ่ง ลดเสียงรบกวน ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานการออกแบบของกีตาร์ไฟฟ้าต่อมาอีกหลายสิบปี
ถึงจุดนี้ วัสดุที่ใช้ทำตัวกีตาร์ก็ยังเป็นไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้แผ่นสปรูซ ในกีตาร์โปร่ง หรือไม้ตันแบบกีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งมีข้อจำกัดด้านความแข็งแรงทนทาน บุคคลแรกที่คิดประดิษฐ์กีตาร์ที่ใช้วัสดุอื่นนอกจากไม้ เป็นวิศวกรการบิน นักสร้างเฮลิคอปเตอร์ ที่ชอบเล่นกีตาร์ด้วย
สิทธิบัตรกีตาร์ไฟเบอร์กลาส ของชาลส์ คาแมน
ชาลส์ คาแมน (1919–2011) วิศวกรการบินและนักกีตาร์ ผู้เคยทำงานสร้างเฮลิคอปเตอร์กับอิกอร์ ซิกอร์สกี เขาได้สร้างเฮลิคอปเตอร์ที่มีเปลือกเป็นไฟเบอร์กลาสอยู่แล้ว จึงได้ลองใช้กับกีตาร์ด้วย คาแมนได้รับสิทธิบัตรโครงสร้างกีตาร์ไฟเบอร์กลาสหลังโค้ง ในปี 1969 และผลิตออกขายในชื่อ Ovation เป็นแบบมีช่องเสียงรูปวงกลมตรงกลางเหมือนแบบไม้ แต่ทนทานกว่าเดิม
กีตาร์ Ovation Adamas ที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็น sound board
ต่อมาในปี 1976 บริษัท Ovation ของคาแมน ก็ได้เขย่าวงการกีตาร์อีกรอบ ด้วยการผลิตรุ่น Adamas ที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เฉพาะแผ่นกระจายเสียงด้านหน้า (sound board) ทั้งที่ขณะนั้นวัสดุยังมีราคาสูงกว่าตอนนี้มาก
แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ที่บางลงให้เสียงความถี่สูงที่คุณภาพชัดลึกกว่าเดิม แต่การไม่มี bracing เหมือนกีตาร์ไม้ ทำให้ต้องย้ายตำแหน่งของช่องเสียง (sound hole) ไปไว้ด้านข้างแทน ซึ่งกลับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไป
ถึงแม้ว่าจะมีคุณสมบัติทางเสียงและความทนทานที่เหนือกว่า แต่ด้วยระดับราคาของรุ่นที่ผลิตด้วยมือ ยังไปไกลว่ากีตาร์โปร่งแบบไม้ทั่วไปมาก กีตาร์โปร่งคาร์บอนไฟเบอร์ จึงยังมีผู้ใช้งานจำกัด
โครงสร้างกีตาร์โปร่ง (acoustic guitar) ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดหลายสิบปี
ภาพรวมของตลาดกีตาร์นับแต่นั้น จนถึงยุคปี 2000 จึงอยู่ในสภาพ “ไดโนเสาร์นิทรา” ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง กีตาร์กระแสหลัก ยังคงเป็นดีไซน์เดิมของมาร์ติน และเฟนเดอร์ จากเมื่อหลายสิบปีก่อน ส่วนแบ่งตลาดอยู่ในมือผู้ผลิตไม่กี่ราย เช่น เฟนเดอร์, กิบสัน, มาร์ติน และยามาฮา ขณะที่ผู้เริ่มเล่นกีตาร์ใหม่มีน้อยลง (เล่นเกมดีกว่า) ยอดขายอยู่ในช่วงขาลง และขาดนวัตกรรมจะมากระตุ้นตลาด ในปี 2018 กิบสันต้องประกาศล้มละลายและขายกิจการให้ผู้อื่น
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวใหม่ ที่อาจจะมาช่วยชุบชีวิตให้วงการกีตาร์ เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากผู้เล่นหน้าใหม่จากแผ่นดินจีน วัย 32 ปี
นักกีตาร์จากกว่างโจว
ลู่จื่อเทียน (陆子天 1991-) หรือลุยส์ ลัค เป็นชาวกว่างโจว เริ่มเล่นกีตาร์เมื่ออายุ 9 ขวบ ตัังวงดนตรีกับเพื่อนๆ และมีผลงานเพลงของตัวเองตั้งแต่อายุ 17 ลุยส์ยังสนใจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
 
เขาได้ไปเรียนดนตรี และการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ที่ Musicians Institute ในลอสแอนเจลิส เคยร่วมงานกับ เอเมียร์ นูน นักแต่งเพลงหญิงชื่อดังชาวไอริช ระหว่างนั้นก็ได้รู้จักกับตัวแทนขายกีตาร์รายใหญ่ จึงได้เปิดบริษัท ส่งกีตาร์พรีเมียมไปขายในจีนในราคาถูกไปด้วย ซึ่งทำกำไรอย่างดี
ลู่จื่อเทียน นักประดิษฐ์กีตาร์ ผู้ก่อตั้งลาวามิวสิค
ลู่สังเกตเห็นแนวโน้มความซบเซาของตลาดกีตาร์เช่นกัน แต่เขามีมุมมองต่างออกไป คนในรุ่นเขามีความนิยมแนวเพลงไม่เหมือนเดิมแล้ว แทบไม่มีใครฟังเพลงโฟล์ค หรือร็อคแบบคนรุ่นก่อน แต่กีตาร์ในตลาดยังออกแบบมาสำหรับแนวเพลงเมื่อกึ่งศตวรรษที่แล้ว ผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งครองตลาดรวมกันกว่า 80% อิ่มตัว ไม่ต้องการสร้างนวัตกรรมออกมาดิสรัพท์ตัวเอง และทำลายยอดขายเดิมที่มีน้อยอยู่แล้ว
ลุยส์ ลัค มีความชื่นชอบการออกแบบผลิตภัณฑ์แอปเปิล ของโจนาทาน ไอฟ์อยู่แล้ว เขาอยากเห็นกีตาร์ มีดีไซน์แนวมินิมอลแบบแอปเปิล และมีไอเดียที่จะนำไอที เข้ามารวมกับกีตาร์ ซึ่งเขาเห็นว่าเทคโนโลจีพร้อมแล้วสำหรับกีตาร์อัจฉริยะ หรือสมาร์ทกีตาร์ สำหรับคนร่วมสมัยเดียวกับเขา
ลาวามิวสิก ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแอปเปิล แม้แต่โลโก
ลู่เลือกเดินทางกลับไปจีน ซึ่งมีระบบนิเวศทางธุรกิจชั้นเลิศ สำหรับเทคสตาร์ทอัพ ไม่แพ้ซิลิคอนแวลลีย์ มีแหล่งผู้ผลิต มีคนทำงานศักยภาพสูง มีเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย และที่สำคัญ ใช้เงินทุนน้อยกว่าในอเมริกา
เขาร่วมกับสมาชิกวงดนตรีสมัยเรียน ก่อตั้งบริษัท กว่างโจว ลาวามิวสิค ไอที (拿火音乐) ขึ้นเมื่อปี 2013 มีพนักงานเพียง 50 คน ช่วงแรกเขายังทำธุรกิจขายเครื่องดนตรีจากต่างประเทศ และโรงเรียนสอนดนตรีไปด้วย พร้อมกับพัฒนาสมาร์ทกีตาร์ ที่เป็นกีตาร์โปร่งไฟฟ้าดีไซน์ใหม่ ที่สามารถสร้างเอฟเฟกต์เสียงที่หลากหลายได้เหมือนกีตาร์ไฟฟ้า แต่ยังสามารถเล่นเป็นกีตาร์โปร่งได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องปลั๊กอิน
ต้นแบบกีตาร์ตัวแรกของเขา ซึ่งยังทำด้วยไม้ลามิเนทและตัดด้วยเครื่อง CNC ถือว่าพังไม่เป็นท่า คุณภาพเสียงไม่เป็นไปตามต้องการ จากการแชร์โปรเจคของเขาผ่านเว็บเวยป๋อ ก็ได้มีนักศึกษาวิศวกรรมวัสดุติดต่อเข้ามา ต้องการร่วมงานกับเขาและแนะนำให้ใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์แทน ซึ่งเขาก็ได้นำมาใช้ กลายเป็นต้นแบบกีตาร์คาร์บอนไฟเบอร์หล่อชิ้นเดียวตัวแรกของโลก ซึ่งต่างจาก Ovation Adamas ในยุค 1970 ที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เพียงบางส่วน
ลู่จื่อเทียน เมื่ออายุ 26 เปิดตัว LAVA Me รุ่นแรก (ยังไม่มีทัชสกรีน) ในงานที่เซี่ยงไฮ้ ปี 2017
คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในงานอากาศยาน และชิ้นส่วนยานพาหนะเพื่อลดน้ำหนักกันอย่างแพร่หลายแล้ว ต่างจากในยุคของชาลส์ คาแมน และในจีนก็มี โรงงานผู้ผลิตที่พร้อมนำวัสดุนี้มาทดลองผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เช่นกีตาร์ จึงเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม
เมื่อลู่นำกีตาร์ต้นแบบมาแสดงในงานเครื่องดนตรีนานาชาติที่เซี่ยงไฮ้ ปี 2017 ผู้ร่วมงานต่างประทับใจทันทีในรูปร่างและคุณภาพเสียงจากกีตาร์วัสดุใหม่นี้ ผู้บริหารแหล่งเงินร่วมลงทุน (Venture capital) รายหนึ่งกล่าวว่า เมื่อเขาเห็นตัวอย่างกีตาร์ของลาวา เขาไม่ได้แค่ตัดสินใจลงทุนเท่านั้น แต่อยากซื้อมาฝากลูกสักตัวทันที
การออกแบบเน้นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความแตกต่าง หาก Apple จะทำกีตาร์ดูบ้างก็คงมีหน้าตาประมาณนี้
ศักยภาพของสินค้าและวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง ได้ดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาอย่างท่วมท้น จนถึงขนาดที่ลู่แทบไม่ต้องออกไปเสนอโครงการที่ไหน คนที่ติดต่อเข้ามาเพื่อเสนอเงินให้ลงทุนเมื่อแรกเห็นสินค้า มีแม้กระทั่ง ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทางดนตรีหรือการลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่ไหนมาก่อน
จุดเด่นแรกของกีตาร์ LAVA คือลำตัว ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ คอมโพสิท ด้วยวิธีหล่อฉีดทั้งตัว ตั้งแต่แผ่นหน้า (sound board) กล่องลำตัว (bucket body) ส่วนหัว (headstock) ส่วนคอ (neck) และแผ่นเฟร็ท (fretboard) เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมด โดยมีขนาดเส้นใยไม่เกิน 3 มิลลิเมตรในวัสดุฐานเป็น ABS หรือพลาสติกเรซินชนิดอื่น
ด้านในของตัวกีตาร์คาร์บอนไฟเบอร์ และสิทธิบัตรจีน ปี 2021
แผ่นซาวด์บอร์ดด้านหน้าจะมีความหนาเพียง 1.4 มม. และมีสันรูปรังผึ้งกระจายทั่วพื้นที่เพื่อเสริมความแกร่ง ที่ลาวาเรียกชื่อว่า AirSonic แทนที่จะเป็น bracing ชิ้นใหญ่ๆ เหมือนแบบไม้ ทำให้แผ่นซาวด์บอร์ดเบาลง ตอบสนองต่อเสียงความถี่สูงได้ดีขึ้น (ปกติซาวด์บอร์ดจะเรียกว่า “ไม้หน้า” แต่อันนี้ไม่ใช่ทำจากไม้)
นอกจากนี้ยังไม่มีช่องเสียง (sound hole) ตรงกลาง เหมือนกีตาร์โปร่งทั่วไป แต่ย้ายไปเป็นรูยาวด้านบนแทน ช่องเสียงแบบ off center นี้ทำให้ซาวด์บอร์ดติดต่อกันเป็นผืนเดียว เพิ่มพลังการสั่น และเพิ่มฮาร์โมนิกของเสียงได้ครอบคลุมทุกช่วงคลื่นมากขึ้น แต่ที่มีผลจริงๆ คือสร้างดีไซน์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และเป็นที่จดจำของลูกค้า (ไว้คุยได้ว่าทำไมมันไม่มีรูตรงกลาง)
มีรูยาวแบบนี้ หิ้วก็ง่าย
ช่องเสียงของกีตาร์เยื้องศูนย์ทรงแบนนี้ ยังคล้ายกับช่องเสียบ USB-C ขนาดยักษ์ เป็นการสื่อถึงความทันสมัยด้วยนั่นเอง การออกแบบแนวมินิมอล (ตามแอปเปิล) ของ LAVA เข้ากันได้อย่างดีกับกลุ่มเป้าหมายวัยหนุ่มสาวที่คุ้นเคยกับแกดเจทต่างๆ อยู่แล้ว แต่หาไม่ได้ในกีตาร์โฟล์คแบบเดิมๆ
ความเป็นสินค้า affordable luxury นี้เป็นช่องว่างของตลาดกีตาร์ ซึ่ง LAVA Me แทรกตัวเข้าไปยึดตำแหน่งทางการตลาดเอาไว้ได้ ผลงานการออกแบบของ LAVA จึงกวาดรางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย เช่น iF Product Design 2021
ผู้ผลิตเหมือนจะเน้นสีนี้ด้วย
คุณสมบัติของกีตาร์คาร์บอนไฟเบอร์ ยังเหนือกว่ากีตาร์โปร่งทั่วไปที่ทำด้วยไม้ ตรงที่ความทนทานต่อช่วงอุณหภูมิและความชื้น ไม่ว่าจะเปียกชื้นหรือเย็นจัดอย่างไรก็ทนต่อสภาพอากาศได้ดีกว่ามาก
นอกจากนี้กีตาร์ LAVA Me นั้นใช้เวลาผลิตเพียง 2-3 วัน ขณะที่กีตาร์โปร่งทำจากไม้ปกติจะใช้เวลาผลิตตัวละ 45-60 วัน
แบบหล่อฉีดตัวกีตาร์คาร์บอนไฟเบอร์ LAVA ME ใช้แรงกด 6 ตัน
ลู่ จื่อเทียน ยังได้รับสิทธิบัตรสหรัฐ จากสิ่งประดิษฐ์กีตาร์คาร์บอนไฟเบอร์ หล่อชิ้นเดียวนี้ ในปี 2021 และได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรทั้งในจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ แล้ว กว่า 30 รายการ
ภาพจาก สิทธิบัตรสหรัฐ ของกว่างโจว ลาวา มิวสิค “Guitar And Manufacturing Method Thereof”
แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นความพิเศษเฉพาะตัวที่เห็นได้ทันที แต่ความเป็น LAVA ไม่ได้อยู่ที่รูปทรงเท่านั้น แต่อยู่ที่ความเป็นแกดเจท “smart guitar” มีสมองกลในตัวที่สามารถสร้างเอฟเฟคเสียง และทำอย่างอื่นได้อีกมาก
ภายในตัวกีตาร์จะมีเซนเซอร์เสียงสองแบบ คือนอกจากไมโครโฟน ติดตั้งบริเวณช่องเสียง เหมือนกับกีตาร์โปร่งไฟฟ้าทั่วไปแล้ว ยังมีพิกอัพแบบพิเอโซอิเลกทริก ติดไว้ด้านหลังสะพานยึดสาย เพื่อตรวจจับการสั่นสะเทือนโดยตรง ซึ่งจะไม่มีฟีดแบครบกวนเหมือนไมโครโฟน
ผู้เล่นสามารถเลือกผสมสัญญาณจากไมโครโฟน และจากพิเอโซพิกอัพได้เองตามต้องการ ส่วนลำตัวด้านหลังจะใช้เป็นลำโพงสร้างเสียงที่สังเคราะห์แล้วได้เลยโดยไม่ต้องต่อแอมพ์ภายนอก (แต่จะต่อก็ได้)
กีตาร์โปร่งไฟฟ้า LAVA Me 2
ใน LAVA Me รุ่นแรกและรุ่นสอง ซึ่งยังไม่มีหน้าจอ หรือแอพ จะเป็นเหมือนกีตาร์โปร่งไฟฟ้า (acoustic-electric) ที่เล่นเป็นกีตาร์โปร่ง ให้เสียงออกทางช่องเสียง (sound hole) ก็ได้ หรือจะสร้างเอฟเฟกต์เสียงให้ออกทางลำโพง (ซึ่งก็คือแผ่นหลัง) หรือผสมเสียงจากสองช่องทางก็ได้ โดยใช้ปุ่มควบคุม
ในรุ่นล่าสุด LAVA Me 3 จะมีหน้าจอทัชสกรีน มาให้ด้วย ซึ่งจะมีแอพ สำหรับ จูนเสียง สังเคราะห์เสียง สร้างเอฟเฟกต์ต่างๆ บันทึกเสียง แสดงคอร์ด ตลอดจนฝึกเล่นกีตาร์มาให้ครบ เสมือนกับซื้อกีตาร์ แล้วได้โรงเรียนสอนกีตาร์มาด้วย ที่สำคัญยังเชื่อมต่อไวไฟ แชร์บทเพลงในสื่อโซเชียลได้ทันที ยกเว้นแต่ยังโทรไม่ได้เท่านั้น บางคนบอกว่าสมาร์ทกีตาร์ คือสมาร์ทโฟนที่โทรไม่ได้แต่เล่นกีตาร์ได้นั่นเอง
สมาร์ทกีตาร์ กับระบบปฏิบัติการที่ LAVA พัฒนาขึ้นเอง
สมาร์ทกีตาร์ LAVA Me 3 ยังมีราคาค่อนข้างสูงกว่ากีตาร์โปร่งธรรมดามาก (สามหมื่นบาทขึ้นไป) แต่ก็ยังถูกกว่ากีตาร์โปร่งสำหรับมืออาชีพ สำหรับรุ่นที่พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำมาเล่นนั้นน่าจะเป็นสมาร์ทกีตาร์ รุ่นประหยัดลงมาคือ Blue LAVA ซึ่งทำด้วยเยื่อไม้รีไซเคิล หรือ HPL (High Pressure Laminate) ไม่ได้ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์เหมือนรุ่นท็อป
สมาร์ทกีตาร์ ที่ทำจากไม้รีไซเคิล (High Pressure Laminate) ขอบจะคมไม่โค้งมน
LAVA Music สร้างจุดเด่นของตนเองขึ้น ด้วยการหลอมรวมศิลปะการดนตรีเข้ากับวิทยาการวัสดุและไอที เป็นบริษัทเครื่องดนตรีแห่งแรกที่มีทั้งแผนกวิศวกรรมวัสดุ วิศวกรรมโครงสร้าง และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ จากบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน สามารถผลิตสินค้ายอดนิยมระดับโลกได้ในเวลาไม่กี่ปี ด้วยการเลือกโฟกัสเป้าหมายที่ตนเองถนัด และนำเสนอสินค้าที่ไม่เหมือนใคร
แผนการตลาดของ LAVA มุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่ชอบความทันสมัยโดยตรง ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และนักดนตรี ซึ่งเป็นที่นิยมของคนวัยหนุ่มสาว (ไม่รู้รวมนักการเมืองด้วยหรือเปล่า) รวมทั้งคนที่ไม่เคยเล่นกีตาร์หรือแม้แต่สนใจเครื่องดนตรีชนิดใดมาก่อน การเปิดตัว LAVA ME ในอเมริกาก็โดนใจวัยรุ่นเต็มๆ คลิปไวรัลการแกะกล่องกีตาร์เมื่อสามปีก่อน มีผู้ชมไปแล้วกว่า 5 ล้านครั้ง กลายเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของกีตาร์ไป
กีตาร์ลาวาบนแท่นชาร์จ ใช้ตกแต่งบ้านไปในตัว
โชคก็มีส่วนช่วยบริษัทด้วย กีตาร์ออกมาใหม่ในช่วงโควิดระบาดพอดี การล็อคดาวน์จากโควิดส่งผลให้ยอดขายกีตาร์ของทุกบริษัทโตขึ้น 10-20% กีตาร์ของลาวาขายผ่านออนไลน์อยู่แล้ว ยังไม่มีตัวแทนขายปลีก จึงได้รับผลประโยชน์มากกว่าใคร
หลังจากสมาร์ทกีตาร์ ได้ผลตอบรับที่ดี LAVA ก็ออก “สมาร์ทอูคูเลเล” Lava U ตามมา เพราะว่าคล้ายๆกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ LAVA ก็ยังซุ่มพัฒนาโปรเจค เครื่องดนตรี “สมาร์ท” อื่นๆอีก ซึ่ง ลู่ จื่อเทียน ยังไม่ได้เปิดเผย เพียงแต่บอกว่าให้รอดูต่อไป
Lava U อูคูเลเลไฟฟ้า คาร์บอนไฟเบอร์
LAVA เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของแบรนด์ระดับโลกจากจีนในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง dji, shein, tiktok, anker, creality ฯลฯ ซึ่งล้วนเริ่มต้นจากสตาร์ทอัพเล็กๆ แต่มีไอเดียที่แหวกแนว ใช้นวัตกรรมนำธุรกิจ แสดงให้เห็นแนวโน้มปัจจุบันของธุรกิจจีน ที่กำลังเปลี่ยนไปแล้วจากการเป็นโรงงานของโลก “ผลิตในประเทศจีน” (made in china) มาเป็น “สร้างสรรค์ในจีน” (created in china)
อย่างไรก็ตาม hi-tech จะต้องควบคู่กับ hi-touch แบรนด์ที่ยั่งยืน ยังจะต้องก้าวข้าม ภาพลักษณ์ในโลกตะวันตกที่ยังมองแบรนด์จีน อย่างไม่ไว้วางใจในเรื่องสิทธิมนุษย์ชน การใช้แรงงาน สิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะต้อง “รอดูกันต่อไป”
คลิปรีวิวกีตาร์ ซึ่งทำให้ลาวาเป็นที่รู้จัก
แหล่งอ้างอิง
การเพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ก็ได้แบบอย่างมาจากแอปเปิล
#ประวัติศาสตร์ของสิ่งประดิษฐ์
#สมาร์ทกีตาร์
#lava music
โฆษณา