7 มิ.ย. 2023 เวลา 11:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ทำไมต้องเรียน ”ชีววิทยา” | Biology with JRItsme.

⌚️ เวลาในการอ่าน 3 นาที
หลายคนคงตั้งคำถามว่าทำไมต้องเรียนวิชานี้ในตอน ม.ปลาย หรือแม้แต่ใครหลาย ๆ คนยังไม่รู้จักวิชานี้ดีพอ พอเห็นว่ามันอยู่ในหมวดวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับฟิสิกส์ และ เคมี ก็ทำเอาขยาดแล้ว ยิ่งเป็นวิชาที่มีศัพท์เทคนิคเป็นภาษาต่างดาว ยิ่งขยะแขยงไปกันใหญ่ ในวันนี้ผมจะพาทุกคนไปเปิดใจกับวิชา “ชีววิทยา” วิชาที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ก่อนอื่นขอแนะนำตัวเองก่อน ผมชื่อ วชิราวุฒิ รักสวัสดิ์ เรียกว่า “เจ” ก็ได้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือใจจริงอยากเป็นหมอนะ... แต่พอดูในซีรีส์ที่เกี่ยวกับหมอ มันทั้งกดกัน !!! เลือดสาด !!! และผมยังใจแข็งไม่พอ !!! ถ้าเกิดว่าวันหนึ่งผมทำคนไข้ตาย ผมคงให้อภัยตัวเองไม่ได้แน่นอน อีกเหตุผลคือผมไม่อยากอุทิศตนเพื่อการเป็นหมอขนาดนั้น มันทั้งหนักทั้งเหนื่อย สู้เอาเวลาไปใช้ชีวิตอยู่กับคนที่คนรักและทำตามความฝันดีกว่า
ถ้าผมไม่ได้เป็นหมอ ผมคงเป็นครูหล่ะมั้ง... ชอบสอน ชอบแบ่งปันความรู้แบบไม่กั๊ก อยากให้ทุกคนนำความรู้ไปใช้พัฒนาตัวเองอย่างที่สุด พอทุกคนได้รับพัฒนา... สังคมกับประเทศชาติคงพัฒนาตามไปด้วย การเรียนในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะเป็นพื้นฐานในขั้นประยุกต์และได้รู้ลึกซึ้งด้วย
ผมเองไม่ได้อยากให้ทุกคนเก่งระดับเทพหรือระดับแชมป์โอลิมปิกวิชาการโลกหรอก... อย่างที่บอก... แค่นำความรู้ที่ผมถ่ายทอดไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นก็เพียงพอแล้ว คงถึงคำถามที่หลายคนคงสงสัย “ทำไมถึงชอบชีวะ ?” เพราะผมไม่ชอบวิชาคำนวณหรือตัวเลขเลย !!! ถ้ามันมีแค่ตัวเลขก็โอเค... แต่ถ้ามี XYZ เมื่อไหร่... หนีอย่างไวไม่ต้องสืบ... คงเพราะว่าเป็นวิชาที่ใกล้ตัวที่สุด “ชีวะ ก็คือชีวิต เรามีชีวิตได้ เพราะชีวะ”
มันจะมีอะไรใกล้ตัวไปกว่าร่างกายและเลือดเนื้อเราไปกว่านี้อีกหล่ะ ? อย่าเพิ่งไปถึงการเป็นหมอเลยนะ... เราจะลดความอ้วนอย่างไรก็ใช้ชีวะ ออกกำลังกายยังไงให้มีซิกแพ็คก็ใช้ชีวะ การเป็นไข้ไม่สบายทำยังไงให้ก็ล้วนใช้ชีวะ ความเครียด อารมณ์ ความรู้สึกก็มาจากชีวะ (หมายถึงอาการทางร่างกายนะ ถ้าพูดถึงจิตใจ จิตวิทยาจะอธิบายอีกแบบหนึ่ง) ที่นี้เห็นหรือยังว่ามันใกล้ตัวเราแค่ไหน !!! ลองเปิดใจสักนิด... แล้วลองทำความรู้จักวิชานี้อีกสักเล็กน้อยกัน
อ้างอิงจากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เราสามารถแบ่งคำว่า “ชีววิทยา” ออกเป็น 2 คำ ได้แก่ “ชีวะ” แปลว่า ชีพ, ความเป็น, ตรงข้ามกับความตาย และ “วิทยา” แปลว่า ความรู้ เมื่อเอาคำมารวมอีกครั้งจะได้ความหมายว่า “วิชาว่าด้วยสิ่งที่มีชีวิต” ซึ่งเอาจริง ๆ ก็กว้างมาก ๆ เลยขอย่อยเป็นแขนงต่าง ๆ ให้ทุกคนได้เข้าใจกรอบของแต่ละแขนงดังนี้
- สัตว์วิทยา [Zoology] ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์
- พฤกษศาสตร์ [Botany] ศึกษาเกี่ยวกับพืช
- จุลชีววิทยา [Microbiology] ศึกษาเกี่ยวจุลินทรีย์
- นิเวศวิทยา [Ecology] ศึกษาการอยู่อาศัย การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตแต่ละบริเวณ
- พันธุศาสตร์ [Genetics] ศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
- ชีวเคมี [Biochemistry] ศึกษาสารเคมีในสิ่งมีชีวิต
นี่แค่แขนงใหญ่นะ... ยังมีย่อยกว่านี้อีก อันนี้จะเป็นตัวอย่างแขนงย่อยที่สายวิทย์สุขภาพอย่างแพทย์ พยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ควรรู้
- สรีรวิทยา [Physiology แขนงย่อยของสัตววิทยา/พฤกษศาสตร์] ศึกษาการทำงานของระบบอวัยวะและอวัยวะ
- กายวิภาค [Anatomy แขนงย่อยของสัตววิทยา/พฤกษศาสตร์] ศึกษาโครงสร้าง รูปร่างหน้าตาของระบบอวัยวะและอวัยวะ
- คัพภะวิทยาหรือวิทยาเอ็มบริโอ [Embryology แขนงย่อยของสัตววิทยา] ศึกษาสิ่งมีชีวิตในระยะตัวอ่อน
- พยาธิวิทยา [Pathology แขนงย่อยของสัตววิทยา และอ่านว่า พะ-ยา-ทิ] ศึกษากลไกการเกิดโรค
- ระบาดวิทยา [Epidemiology แขนงย่อยของจุลชีววิทยาและสัตววิทยา] ศึกษากลไกและรูปแบบการแพร่กระจายของโรค
- ชีววิทยาเซลล์ [Cell biology/cytology แขนงย่อยของจุลชีววิทยา] ศึกษาเซลล์
- แบคทีเรียวิทยา [Bacteriology แขนงย่อยของจุลชีววิทยา] ศึกษาแบคทีเรีย
- ไวรัสวิทยา [Virology แขนงย่อยของจุลชีววิทยา] ศึกษาไวรัส
และนั่นก็คือภาพรวมของ “ชีววิทยา” หวังว่าทุกคนจะพอเข้าแนวคิดของวิชานี้และได้เริ่มเปิดใจเรียนรู้ศาสตร์ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ติดตามเพจผมเพื่อรับความรู้ที่คนธรรมดาเข้าได้ง่าย ๆ และนำไปใช้ได้จริงไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ้ด้วยนะครับ... 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา