1 ก.ค. 2023 เวลา 03:00 • การศึกษา

บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปฏิรูป

การจัดการศึกษาของท้องถิ่น
คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ นายณรงค์ อ่อนสะอาด ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะทำงานในคณะอนุกรรมาธิการติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมเสนอผลการพิจารณาศึกษา ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๕ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) สรุปได้ว่า
รายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าว เป็นการศึกษาบทบาทขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีต่อการจัดการศึกษาท้องถิ่น ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา
ข้อเสนอแนะและ ความต้องการในการจัดการศึกษาของ อปท. โดยคณะกรรมาธิการได้ศึกษาอุปสรรคในการจัดการศึกษา ของท้องถิ่นและมีข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ ดังนี้
๑. ด้านบุคลากร พบว่า อปท. ประสบปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังของข้าราชการสายการสอน สายบริหารสถานศึกษา และสายบริหารการศึกษา คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรมีแนวทางการกำหนดตำแหน่ง ตามกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษาที่สอดคล้องกับภารกิจของสถานศึกษาแต่ละระดับ
- ควรมีแนวทางในการสรรหาข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างหลากหลายวิธี ควรทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับสำนักงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนิเทศ กำกับ ติดตาม พัฒนาสถานศึกษา สังกัด อปท. ให้มีคุณภาพและ มาตรฐานไม่ต่ำกว่าสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
- ควรเสนอให้มีการกระจายอำนาจให้กับ อปท. เป็นผู้ดำเนินการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ข้าราชการของ อปท. ทุกตำแหน่งและทุกระดับควรเร่งกำหนดกรอบ และจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรสายสนับสนุนให้เพียงพอและเหมาะสมกับภาระงานสถานศึกษา
- ควรทบทวน นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลเพื่อรองรับการถ่ายโอนสถานศึกษา ควรกำหนดแนวทางการพัฒนา ครูให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาของท้องถิ่นไปสู่การศึกษาในศตวรรษใหม่
๒. ด้านวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ พบปัญหาว่า ขาดอิสระในการบริหารงบประมาณ เพื่อจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยี เพื่อการเรียนการสอน
คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะว่า ควรสนับสนุนงบลงทุน งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาในสังกัด อปท. ควรปรับปรุงระเบียบเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดหาสื่อ เทคโนโลยี ที่ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้และสามารถสนับสนุนงบประมาณ จัดซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทันสมัยเพื่อบริการผู้เรียนและประชาชนให้เป็นท้องถิ่น Digital
ควรกำหนดให้ สถานศึกษาสังกัด อปท. ใช้รูปแบบอาคารและมาตรฐานด้านอาคาร สิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ทางการศึกษา เช่นเดียวกับสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้
๓. ด้านการบริหารจัดการ พบว่า นโยบายส่วนกลางไม่มีความชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง การจัดซื้อจัดหาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้า สถานศึกษาลักษณะพิเศษในระเบียบยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะว่า ควรออกระเบียบการบริหารสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้อิสระในการบริหารจัดการสถานศึกษาเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสถานศึกษา ควรส่งเสริม สร้างความเข้าใจ เรื่องระเบียบ
ต่าง ๆ ให้กับบุคลากรของ อปท. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา จัดทำคู่มือการบริหาร คู่มือมาตรฐานครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้างงบประมาณ บุคลากร สถานศึกษาของ อปท.
ควรมีแนวทางหรือระเบียบว่าด้วยการจัดจ้างบุคลากรเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ (ครูต่างชาติ) หรือการจัดซื้อ/จัดจ้าง สื่อการเรียนรู้ แพลตฟอร์มการเรียนรู้จากต่างประเทศ ควรมีการประสานความร่วมมือกันในการตั้งงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณและการเบิกจ่ายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ควรสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สถานศึกษาในสังกัด อปท. โดยการถอดบทเรียนจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานศึกษาที่ดีประสบความสำเร็จ ขยายผลระหว่าง อปท. สร้างความภูมิใจในการเป็นบุคลากรสังกัด อปท.
๔. ด้านงบประมาณ การได้รับการโอนเงินงบประมาณเงินอุดหนุนล่าช้า ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินงานตามโครงการได้ตามแผนการดำเนินงานที่กำหนด
คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะว่า ควรสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนให้สถานศึกษาในสังกัด อปท. ให้เพียงพอและเหมาะสม มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรออกแนวทางให้ อปท. สามารถอุดหนุนงบประมาณให้สถานศึกษาของ อปท. ได้เพียงพอเหมาะสมกับภารกิจ ตามความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน
และควรออกระเบียบให้สถานศึกษาในสังกัด อปท. มีอำนาจบริหารงบประมาณครอบคลุมตามภารกิจของสถานศึกษา ควรกำหนดแนวทางหรือระเบียบให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา มีอำนาจในการบริหารงบประมาณครอบคลุมตามภารกิจของสถานศึกษา
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือกำหนดแนวปฏิบัติในการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจนและเป็นแนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานเดียวกัน ควรมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม อปท. อย่างต่อเนื่องในการจ่ายเงินอุดหนุนสถานศึกษาเพื่อให้มีการใช้งบประมาณสอดคล้องกับภารกิจอย่างคุ้มค่า
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะในด้านนโยบายว่า ควรสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง สื่อนวัตกรรมทางการศึกษา ให้กับโรงเรียนสังกัด อปท. ให้มีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียมหรือไม่น้อยกว่าสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแนวทางบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการระดมทรัพยากรและขับเคลื่อนภารกิจสู่โรงเรียน Digital และ
ท้องถิ่น Digital และควรปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาของ อปท.
รวมทั้งมีข้อเสนอแนะสำหรับ อปท. โดยเฉพาะ เช่น อปท. ควรบรรจุยุทธศาสตร์ด้านการจัดการศึกษาไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาของ อปท. ควรสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายบูรณาการการจัดทำหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น ควรสนับสนุนช่วยเหลือบิดามารดาหรือผู้ปกครองในการพัฒนาบุตรหลานให้ความสนใจ และเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ควรร่วมมือกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ในการพัฒนาหลักสูตรการผลิตและพัฒนาครู
ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต จัดหา พัฒนาสื่อเทคโนโลยี นวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และควรสนับสนุนและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่โดยจัดทำแผนงานหรือโครงการเพื่อเสนอของบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและจัดการเรียนรู้ให้แก่สถานศึกษาอย่างเพียงพอ
ภายหลังที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมแล้ว สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า ควรดำเนินการการถ่ายโอนสถานศึกษา การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่ อปท. ที่พร้อมดำเนินการ และควรนำจุดแข็งในการอยู่ในพื้นที่ของ อปท. ในการจัดการศึกษาในช่วงปฐมวัย ในช่วงอายุ ๐-๒.๕ ปี หรือการจัดให้มี NURSERY เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในพื้นที่ และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กได้ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายของการจัดการศึกษาของ อปท.
รวมทั้งควรจัดให้มีโรงเรียนที่เป็นศูนย์ความเป็นเลิศให้มากขึ้น มีหลักสูตรเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนกีฬา และพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เป็นไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละท้องถิ่น จัดการศึกษาเพิ่มทักษะการคิด การเคลื่อนไหวของร่างกายให้แก่เด็กเล็ก ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารสถานศึกษาต้องให้ความใส่ใจกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนในสังกัด อปท. ให้มีคุณภาพ และเสนอแนะให้เพิ่มเติมให้ชัดเจนว่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละระดับดำเนินการหรือสั่งการอย่างไร
ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น (พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช) และคณะทำงาน (นายมานิช ถาอ้าย) ตอบชี้แจงว่า การจัดหลักสูตรการศึกษาของ อปท. ต้องนำหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้เป็นเบื้องต้น เพราะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วงปฐมวัยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒
อีกทั้งการที่ อปท. จะจัดให้มี NURSERY ในท้องถิ่นก็ดำเนินการได้ยาก เพราะการดำเนินการดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้ รวมถึง อปท. ยังขาดงบประมาณและบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ส่วนการจัดให้มีโรงเรียนที่เป็นศูนย์ความเป็นเลิศให้มากขึ้น หรือจัดให้มีหลักสูตรเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนกีฬา
พบว่า
ในปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัด อปท. หลายแห่งที่มีชื่อเสียงและได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง เช่น โรงเรียนกีฬาจังหวัดนครปฐม มีหลักสูตรเฉพาะทางด้านกีฬา หรือโรงเรียนอาชีวะจังหวัดระยอง มีหลักสูตรเฉพาะเพื่อตอบสนองการทำงานในพื้นที่ EEC เป็นต้น นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่และสัมมนากับผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและใส่ใจกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนในสังกัด อปท. เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ และมีมติให้ส่งรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่มาภาพ : www.freepik.com
ที่มาข้อมูล : สำนักการประชุม “ข้อมูลการประชุมวุฒิสภา”
https://www.senate.go.th สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖
โฆษณา