30 มิ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ความคิดเห็น

Titanic : รู้จัก “Dunning-Kruger Effect”

ต้นตอที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมไททานิคและเรือดำน้ำไททัน
เรื่องราวของโศกนาฏกรรมเรือล่มเมื่อร้อยปีก่อนที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นหนังความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาเท่าๆ กันกับตอนที่เรือไททานิคค่อยๆ จมลงไป ได้ถูกหลายคนนำกลับเปิดวนซ้ำอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมานี้ หลังการระเบิดของเรือดำน้ำไททัน เรือดำน้ำพาชมซากเรือไททานิค
แม้เหตุการณ์ผ่านมากว่าร้อยปีที่ไททานิคอับปางลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 แต่เรือไททานิคยังคงเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ทำให้หลายคนหลงใหลอยากจะลงไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต แม้รู้ดีว่าจะเต็มไปด้วยอันตรายก็ตาม
มนต์เสน่ห์ของเรือไททานิค ดึงดูดให้เศรษฐีทั้ง 5 คน ต้องจบชีวิตลงจากการระเบิดของเรือดำน้ำไททัน ระหว่างกำลังเดินทางไปชมซากเรือไททานิค บางคนอาจกล่าวว่าเป็นอาถรรพ์ของเรือ
แต่ที่จริงแล้วทั้งสองโศกนาฏกรรมนี้มีจุดร่วมอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความประมาท และความมั่นใจเกินไปของคนที่มีอำนาจควบคุมเรือ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ Dunning-Kruger Effect
📌 Dunning-Kruger Effect คืออะไร
เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ หลายครั้งมักเกิดเพราะคนที่ “รู้น้อย” แต่ “คิดว่ารู้มาก” กับคนที่ “รู้มาก” แต่ “คิดว่ารู้น้อย”
1
Dunning-Kruger Effect คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่อธิบายปรากฏการณ์ที่ คนที่ไม่มีความรู้มากนัก มักจะประเมินว่าตนมีความรู้มากเกินกว่าระดับความรู้ของตัวเองจริงๆ ในขณะที่คนที่รู้มากกว่า มักจะคิดว่าตนเองไม่ได้รู้อะไรเยอะแยะ
คุณ David Dunning นักจิตวิทยาจาก University of Michigan เป็นคนแรกที่อธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ ต่อมาในปี 1999 คุณ Dunning ได้ตีพิมพ์งานวิจัยร่วมกับคุณ Justin Kruger ซึ่งทำการทดสอบปรากฏการณ์นี้โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 4 ครั้ง เพื่อทดสอบความรู้ด้านอารมณ์ขัน, หลักไวยากรณ์ และตรรกะ จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนประเมินตนเอง
1
ผลก็คือ คนที่ได้คะแนนอยู่ในช่วง 25% ท้ายสุด เป็นกลุ่มที่คนว่าตัวเองเก่งเกินความสามารถจริงๆ มากที่สุด
จากนั้นเมื่อลองให้แต่ละคนดูการตอบข้อสอบไวยากรณ์ของอีกฝ่ายแล้วประเมินระดับใหม่อีกครั้ง ก็พบว่าคนที่ได้คะแนนน้อยไม่ได้เปลี่ยนแปลงการประเมินระดับของอีกฝ่ายและตัวเองเลย นั่นหมายถึงว่าคนกลุ่มนี้ เชื่อมั่นในความคิดและคำตอบของตนเองว่าเป็นสิ่งถูกต้องที่สุด แม้จริงๆ แล้วมันจะผิดก็ตาม
1
Dunning-Kruger Effect จึงเป็นเหมือนกับดักของคนที่ไม่มีความสามารถ และพวกนิ่งเฉย ที่ทำให้ไม่มีทางพัฒนาตัวเองได้ เพราะไม่รู้ (และไม่ยอมรับรู้) ว่าที่จริงแล้วตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้น
ในทางกลับกัน ก็อาจทำให้บางคนด้อยค่าความสามารถของตัวเอง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้ ทำให้ความสามารถนั้นอาจถูกบดบังไป และก็ทำให้ความสามารถนั้นไม่ถูกส่งต่อไปยังคนอื่นๆ
ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายแห่งมาก ไม่ว่าจะเป็นในวงการแพทย์, ขั้นตอนรักษาความปลอดภัย, การศึกษา และปัญหาต่างๆ ในสังคม
📌 “ภัยความมั่น” นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่
ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเรือไททานิคกันบ้าง จากข้อมูลพบว่า บนเรือมีผู้โดยสารรวมลูกเรือจำนวน 2,207 คน แต่คนที่รอดชีวิตกลับมีเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 เท่านั้น ทั้งๆ ที่เรือลำใหญ่นี้มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเวลานั้น และมีลูกเรือที่มากด้วยประสบการณ์ จนถูกกล่าวขานว่าเป็นเรือที่ไม่มีวันจม…
ก็เพราะความเชื่อมั่นอย่างมากว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” นั่นแหละ ถึงได้กลายเป็นต้นตอขอความประมาทจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมทางน้ำครั้งใหญ่ที่สุด
เรือไททานิค มีเรือบด (เรือชูชีพ) แค่เพียง 20 ลำ ซึ่งบรรจุคนได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น หรือคิดเป็น 52% ของจำนวนคนที่อยู่บนเรือคืนนั้นทั้งหมด ด้วยเหตุผลเพราะมันเกะกะ และอย่างไรก็คงไม่ได้ใช้ เพราะเรือนี้ไม่มีวันจม
ทางด้านของกัปตันเรือไททานิค คุณ Edward Smith กัปตันผู้มากประสบการณ์ เดินเรือมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนกำลังจะปลดเกษียณตัวเองหลังจบการเดินเรือครั้งนี้ แม้ว่าจะได้รับคำเตือนทางโทรเลขถึง 7 ครั้ง ที่เตือนให้ระวังชนภูเขาน้ำแข็ง แต่อาจจะด้วยมาจากความมั่นใจในประสบการณ์ ทำให้กัปตัน Smith เปลี่ยนวิถีเดินเรือไปทางใต้เพียงเล็กน้อย แต่ยังคงไม่ลดความเร็วเรือลง และยังใช้ความเร็วเรือถึง 22 น็อต ทำให้ท้ายที่สุด เรือก็ชนกับภูเขาน้ำแข็ง และนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จริงๆ
1
ข้ามมายังปัจจุบัน แม้จะมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนบริษัท OceanGate เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททันอยู่หลายครั้ง แต่ CEO ก็ไม่สนใจคำเตือนเหล่านั้น แต่กลับดำเนินภารกิจต่อโดยไม่ได้สนใจจะปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างที่มันควรจะเป็น จนท้ายที่สุดการท่องเที่ยวสำรวจซากไททานิค ก็ไม่ได้ไปถึงฝั่งฝัน แต่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมแทน
2
📌 แล้วเราจะเลี่ยงไม่ให้ติดกับดัก Dunning-Kruger Eeffect ได้อย่างไร
Dunning-Kruger Eeffect เป็นสิ่งที่อาจไคมาจากการได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐานในสังคม ที่ส่งผลต่อความคิดของแต่ละคน
วิธีเลี่ยงให้เราไม่ติดกับดัก “ภัยความมั่น” นี้ ก็คือต้องรับฟังข้อมูลจากคนอื่นๆ รอบตัวเองบ้าง อย่าทำตัวเป็นคนน้ำเต็มแก้วที่ใครเตือนอะไรก็ไม่ฟัง พยายามรับฟังคนอื่นให้มากขึ้นเยอะๆ แล้วนำมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพราะบางครั้ง การฝืนทำไปทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยเสียงเตือนจากคนรอบข้าง อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเลวร้ายอย่างที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา