9 มิ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Dr.Romantic 3 : แหวกม่านสำรวจวงการแพทย์…เมื่อหมอก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง

ซีรีส์เรื่องนี้พาให้เราเห็นมุมการทำงานอย่างทุ่มเทของบุคลากรการแพทย์ เห็นการเติบโตทางความคิดและฝีมือในฐานะแพทย์ของแต่ละคนผ่านเคสการแพทย์ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งยังสอดแทรกปัญหาและเกมการเมืองในวงการแพทย์ไว้อีกด้วย
ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นภาพการทำงานในโรงพยาบาล โดยเล่าผ่านมิติของความสัมพันธ์ของกลุ่มหมอและคนไข้
จึงทำให้วันนี้ Bnomics อยากจะพาทุกคนไปสำรวจชีวิตของหมอและบุคลากรการแพทย์ในไทยดูบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยสนุกเหมือนในซีรีส์เกาหลีเท่าไรนัก แล้วเราจะพบว่าใน 1 วันของพวกเขา อาจจะยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง…
📌 เมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด แต่คนป่วยมีไม่จำกัด
บุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าเราไม่สามารถผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และในยุคนี้เองก็เป็นยุคที่ทั่วโลกกำลังพยายามพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal health coverage :UHC) หลายประเทศได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ภายในปี 2030
การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยการวางแผนและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เหมาะสมกับงาน แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลาย ๆ ครั้ง เรื่องนี้กลับได้รับความสนใจเป็นลำดับท้ายๆ
สำหรับประเทศไทย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทหรือที่ ๆ ห่างไกล เป็นปัญหาสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ จึงได้มีมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เหล่านี้
อาทิ การรับสมัครนักเรียนจากพื้นที่ชนบท การให้เงินสนับสนุนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในชนบท หรือการบังคับนักศึกษาแพทย์ให้ทำสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2508 โดยถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 2 (2510 - 2514) เพื่อหวังกระจายการพัฒนาไปสู่ชนบทและขยายการบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนในชนบทห่างไกล
ต่อมาในปี 2520 ได้มีการจัดตั้งระบบสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้มีศูนย์สุขภาพและโรงพยาบาลระดับอำเภอ ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรวมไปถึงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์นอกกรุงเทพฯ จึงทำให้จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ในช่วงเวลา 3 ทศวรรษ
จนกระทั่งในปี 2544 ประเทศไทยก็บรรลุเป้าหมายการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “บัตรทอง”
📌 ยิ่งไกลความเจริญ…ก็ยิ่งไกลหมอ
อย่างไรก็ดี จำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นดูเหมือนจะไม่ได้กระจายไปในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมเท่าไรนัก มีงานวิจัยที่ใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติของ Worldbank ที่เรียกว่า “Concentration index” ซึ่งใช้สะท้อนความเที่ยงธรรมในการกระจายตัวของทรัพยากรทางสุขภาพโดยเปรียบเทียบกับความแตกต่างทางเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจ
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลรายงานทรัพยากรข้อมูลสาธารณสุขซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.04 คน ต่อประชากร 1,000 คน
โดยเมื่อมองย่อยลงไปอีกจะพบว่าโดยเฉลี่ยมีแพทย์ 0.27 คน พยาบาล 1.56 คน ทันตแพทย์ 0.08 คน และเภสัชกร 0.12 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ข้อมูลในงานวิจัยนี้ไม่รวมบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ และเอกชน)
นอกจากนี้ ยังคงมีการกระจายตัวอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ในมิติอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลระดับภูมิภาค ส่วนใหญ่มักจะไปตั้งอยู่ในเขตที่เป็นเมือง
และในที่ที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross provincial product) สูงกว่า ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้ก็จะเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษา จึงมีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่มากกว่าในโรงพยาบาลระดับอำเภออีกด้วย
แม้ว่าในงานวิจัยนี้จะไม่ได้นำข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ไม่อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (แต่ไปสังกัดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย, กรมแพทย์ทหาร, โรงพยาบาลจิตเวช) และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคิดเป็น 36% ของโรงพยาบาลทั้งหมดในไทย
แต่ก็ยังเห็นภาพการกระจุกของแพทย์ในจังหวัดที่ร่ำรวยอยู่ดี ซึ่งหากรวมโรงพยาบาลนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปด้วย เราอาจเห็นภาพการกระจุกตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
นั่นแปลว่า ในจังหวัดที่ยากจน หรือในโรงพยาบาลที่ทุรกันดาร ความเจ็บป่วยของคนนั้นมีอยู่มาก สวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนโรงพยาบาลที่มีอยู่น้อย และนั่นหมายถึงภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็จะหนักตามไปด้วย
📌 #หมอลาออก เพราะหมอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน
Hashtag #หมอลาออก กลายเป็น Hashtag ร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา หมอหลายคนก็ได้มาแชร์ประสบการณ์ที่น่าเศร้าเกี่ยวกับการทำงานในวงการแพทย์อย่างดุเดือด เพราะด้วยความที่เราผลิตหมอได้ปีละ 2,000 - 3,000 คน โดยเฉลี่ย
ในขณะที่มีหมอลาออกปีละ 600 กว่าคน หมอในหลายโรงพยาบาลต้องทำงานเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้หมอบางส่วนเลือกที่จะออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนแทน
เรื่องนี้เป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนานแล้ว นับย้อนไปตั้งแต่ในช่วงหลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัวในปี 2533 โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มผุดขึ้นมามากขึ้น และได้นำพาแพทย์ออกจากระบบของรัฐไปถึง 1 ใน 3 ในปี 2540 เนื่องจากภาคเอกชนให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่ารัฐมาก
ในปัจจุบัน ยังคงพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล บุคลากรทางการแพทย์ที่เหลืออยู่ในระบบของรัฐจึงต้องทำงานอย่างหนัก หลายคนต้องเข้าเวรติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้มีการลาออกอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนขึ้นไปอีก แล้วก็วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
ทั้งหมดนี้ จึงนำไปสู่ประเด็นปัญหาคุณภาพการดูแลรักษาคนไข้ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน…
ซึ่งจริงอยู่ที่เราควรสรรเสริญในความเสียสละของหมอที่ทำงานหนัก แต่มันคงไม่เป็นผลดีทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์และต่อตัวคนไข้เองแน่หากระบบยังคงบีบให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักภายใต้คำว่า “เสียสละ”
โดยไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้างของระบบเช่นนี้
เพราะไม่ว่าหมอจะทุ่มเทเสียสละแค่ไหนก็สามารถรักษาชีวิตคนไข้ได้ทีละคน
แต่หากแก้ที่โครงสร้างระบบสาธารณสุข ก็คงจะสามารถช่วยเหลือชีวิตคนไข้ได้อีกเป็นจำนวนมาก และอย่างน้อยก็ช่วยรักษาสุขภาพกายและใจของหมอ มิเช่นนั้นในวันข้างหน้าอาจจะมีคนออกจากระบบไปเรื่อย ๆ จนทำให้โครงสร้างการประกันสุขภาพถ้วนหน้าพังทลายลง
บุคลากรทางการแพทย์เองก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีครอบครัว มีชีวิตส่วนตัวไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่พวกเขาทำหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น แต่ลึก ๆ แล้ว
พวกเขาก็ยังคงต้องการการพักผ่อน ได้ไปมีชีวิตส่วนตัวเหมือนคนอื่น ซึ่งหากภาครัฐได้รับฟังเสียงสะท้อนของบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้และลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็คงจะสามารถตัดวงจรปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบ คนไข้ได้รับการรักษาไม่ทั่วถึง และการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้
บางทีมันคงถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่ดูแลคนไข้...ควรจะได้รับการดูแลใส่ใจบ้าง
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ : Disney+

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา